วันที่ 13 ก.ย. 2566 หลัง ตำรวจสืบสวนภาค 7, ตำรวจสอบสวนกลาง, หน่วยปฏิบัติการพิเศษอินทรี 7 พร้อมเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. และ เจ้าหน้าที่สรรพากร เปิดปฏิบัติการตรวจค้นเป้าหมายบริษัทและกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่เชื่อมโยงกับคดีนายประวีณ จันทร์คล้าย หรือกำนันนก กำนันตำบลตาก้อง ทั้งหมด 15 จุดใน จ.นครปฐม แบ่งเป็น อ.กำแพงแสน 2 จุด อ.เมือง 13 จุด รวมทั้งหมด 15 จุด พบว่า ตำรวจสามารถยึดอาวุธปืนได้นับสิบกระบอก และเป้าหมายการตรวจค้นแห่งหนึ่งเป็นบริษัทของอดีตนักการเมืองรายหนึ่ง ซึ่งคาดว่ามีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจของกำนันนก ที่ได้รับทำโครงการของจังหวัดนครปฐม จึงต้องตรวจสอบหาความเชื่อมโยงถึงกันอีกครั้ง

นอกจากนี้ ยังยึดคอมพิวเตอร์ 11 เครื่อง โทรศัพท์มือถือ 7 เครื่อง รถโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ สีขาว 1 คัน กล้อง CCTV 3 ตัว และสำเนาเอกสารต่างๆ

โดยรถฟอร์จูนเนอร์สีขาว เป็นคันที่สงสัยว่าเป็นคันที่ใช้ไปก่อเหตุหรือไม่ จากการตรวจสอบพบว่า มีการถอดเปลี่ยนไฟและกระจังหน้ารถ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เก็บลายนิ้วมือที่พบบนรถไว้เป็นหลักฐาน

สำหรับการตรวจสอบบริษัทของกำนันนก 2 แห่ง คือ ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด และบริษัท ป.พัฒนารุ่งเรืองก่อสร้าง จำกัด ซึ่งการตรวจสอบบริษัททั้งสองของกำนันนกไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น

ด้านดีเอสไอ โดยร้อยตำรวจเอกสุรวุฒิ รังไสย์ ผู้อำนวยการกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือ กคร. เปิดเผยข้อมูลว่า กำนันนกมีธุรกิจในเครือข่ายหลายธุรกิจที่เข้าเสนอและรับงานจากหน่วยงานของรัฐหลายกระทรวงในพื้นที่หลายจังหวัด โดยประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ผลิต และจำหน่ายยางแอสฟัลท์ติกคอนกรีต ก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย มีมูลค่าหลายพันล้านบาท ซึ่งจากตรวจสอบ พบว่า เครือข่ายกำนันนก มีเครือข่ายธุรกิจที่เข้าไปรับงานจัดซื้อจัดจ้าง จากหน่วยงานภาครัฐตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน 2566 (ต.ค.- พ.ย.65) แบ่งเป็นโครงการของหน่วยงานต่างๆ ได้แก่

กรมการปกครอง ทั้งหมด 71 โครงการวงเงินงบประมาณ 78,978,540.00 บาท ราคารวมทุกสัญญา 65,126,672.00 บาท ค่าความแตกต่าง 13,851,868.00 บาท มูลค่าเฉลี่ยต่อโครงการ 1,112,373.80 บาท

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ทั้งหมด 1,206 โครงการวงเงินงบประมาณ 3,657,356,798.72 บาท ราคารวมทุกสัญญา 3,270,899,520.47บาท ค่าความแตกต่าง 386,457,278.25 บาท มูลค่าเฉลี่ยต่อโครงการ 3,032,634.16 บาท

กรมทางหลวง ทั้งหมด 110 โครงการ วงเงินงบประมาณ 2,323,251,116.00 บาท ราคารวมทุกสัญญา 2,125,789,533.00 บาท ค่าความแตกต่าง 197,461,583.00 บาท มูลค่าเฉลี่ยต่อโครงการ 21,120,464.69 บาท

กรมทางหลวงชนบท ทั้งหมด 153 โครงการ วงเงินงบประมาณ 1,484,535,624.00 บาท ราคารวมทุกสัญญา 1,472,375,324.00 บาท ค่าความแตกต่าง 12,160,300.00 บาท มูลค่าเฉลี่ยต่อโครงการ 9,702,847.22 บาท

กองทัพอากาศ ทั้งหมด 2 โครงการ วงเงินงบประมาณ 16,580,000.00 บาท ราคารวมทุกสัญญา 15,053,000.00 บาท ค่าความแตกต่าง 1,527,000.00 บาท มูลค่าเฉลี่ยต่อโครงการ 8,290,000.00 บาท

สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ทั้งหมด 1 โครงการ วงเงินงบประมาณ 10,000,000.00 บาท ราคารวมทุกสัญญา 9,950,000.00 บาท ค่าความแตกต่าง 50,000.00 บาท มูลค่าเฉลี่ยต่อโครงการ 10,000,000.00 บาท

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งหมด 1 โครงการ วงเงินงบประมาณ 8,700,000.00 บาท วงเงินงบประมาณ 5,621,200.00 บาท ค่าความแตกต่าง 3,078,800.00 บาท มูลค่าเฉลี่ยต่อโครงการ 8,700,000.00 บาท

โดยหากแยกให้เห็นเป็นรายกระทรวง จะมีรายละเอียดดังนี้
กระทรวงมหาดไทย จำนวน 1,277 โครงการ บาท วงเงินงบประมาณ 3,736,335,338.72 บาท ราคารวมทุกสัญญา 3,336,026,192.47 บาท ค่าความแตกต่าง 400,309,146.25 บาท มูลค่าเฉลี่ยต่อโครงการ 2,925,869.49 บาท

กระทรวงคมนาคม จำนวน 263 โครงการ วงเงินงบประมาณ 3,807,786,740.00 บาท ราคารวมทุกสัญญา 3,598,164,857.00 บาท ค่าความแตกต่าง 209,621,883.00 บาท มูลค่าเฉลี่ยต่อโครงการ 14,478,276.58 บาท

อื่น ๆ จำนวน 4 โครงการ วงเงินงบประมาณ 35,280,000.00 บาท ราคารวมทุกสัญญา 30,624,200.00 บาท ค่าความแตกต่าง 4,655,800.00 บาท มูลค่าเฉลี่ยต่อโครงการ 8,820,000.00 บาท

รวมทั้งหมด 1,544 โครงการ วงเงินงบประมาณ 7,579,402,078.72 บาท ราคารวมทุกสัญญา 6,964,815,249.47 บาท ค่าความแตกต่าง 614,586,829.25 บาท มูลค่าเฉลี่ยต่อโครงการ 4,908,939.17 บาท

ร้อยตำรวจเอกสุรวุฒิ ระบุด้วยว่า ว่า วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เป็นวิธีการที่มีรูปแบบประกวดราคาที่ปลอดภัยที่สุด แต่ยอมรับว่า ก็ยังมีช่องว่าง เนื่องจากพบว่า มีข้อมูลของ กลุ่มบริษัทยื่นซองรั่วไหลออกไปสู่บุคคลภายนอก เบื้องต้นสันนิษฐานว่า อาจจะเป็นบุคคลภายในที่นำข้อมูลออกไปเผยแพร่ให้กับบริษัทรับเหมา

นอกจากนี้ได้ตั้งข้อสังเกต ถึงการเข้าถึงโครงการรับเหมาก่อสร้างของภาครัฐจำนวนมาก ด้วยว่า อาจจะมีนักการเมืองท้องถิ่นหรือผู้มีอิทธิพลอื่นที่อยู่เบื้องหลังคอยให้การสนับสนุน เสนองานให้โดยเฉพาะเจาะจง ซึ่งจะพยายามสืบสวนขยายผลให้ครอบคลุมไปให้ลึกที่สุดเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง

ขณะที่ นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. บอกว่า ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ได้ตรวจค้นทั้ง 4 จุดคือ บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด , บริษัท ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด สองบริษัทที่กำนันนกเป็นกรรมการบริษัท, บริษัท ธงชัยเจริญก่อสร้าง 2566 จำกัด และ บริษัท สิงห์ชัย เค.พี.เอส. จำกัด เป็นสองบริษัทคู่เทียบ ยื่นประมูลงานแข่งกับกำนันนก ทั้ง 4 แห่งมีความเชื่อมโยงกันมาก แต่ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนของการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อที่จะนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ

เบื้องต้นพบพิรุธ บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด มีพิรุธส่อเข้าข่ายสมคบกันในการประมูลราคา ซึ่งเชื่อว่าผู้กระทำผิดไม่ได้มีแค่คนเดียว ในส่วนของการประมูลจะมีราคาต่ำกว่าราคากลาง 500 บาท ตอนนี้ยังไม่เห็น แต่มีบางรายการต่ำกว่าราคากลาง เดี๋ยวต้องรอดู

ซึ่งทางศูนย์ต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ได้ร่วมกับอธิบดีกรมสรรพากร กรมบัญชีกลาง เจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญ สามารถประมวลวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ถึงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีการซอยราคา แยกออกเป็น 5 แสนบ้าง 700,000 บาทบ้าง หรือเรื่องของการประมูลที่ต่ำกว่าราคากลาง

ตนตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นว่า ความเป็นจริงทำได้ขนาดนั้นหรือไม่ และทางเจ้าหน้าที่ได้ลงไปตรวจสองด้วยหรือไม่ว่าราคากำหนดเท่านี้ แต่ทำไมได้ราคาต่ำกว่า แล้วคุณภาพที่เกิดขึ้นจะได้ตามคุณสมบัติที่ประกาศก่อนหน้านี้หรือไม่

ยืนยันหลังจากนี้จะนำหลักฐานที่ได้จากการตรวจค้นทั้งหมดไปตรวจสอบและประมวลผล ซึ่งเชื่อได้ว่าถ้าเอาหลักฐานทั้งหมดมาประมวลผลแล้วนั้นจะเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น จะได้ทราบว่ามีใครเข้าไปเกี่ยวข้องบ้าง ซึ่งเชื่อได้ว่า กำนันนก ไม่ได้ลงมือเพียงลำพัง ต้องมีคนคอยสนับสนุน  ซึ่งขอย้ำว่า “วันนี้เกมมันจบลงแล้ว คนใหญ่คนโตที่นับถือเกมแล้ว ให้คนที่เกี่ยวข้องเข้ามารับสารภาพเสียดีกว่า ถ้าตรวจสอบความผิดไปถึงใครก็เตรียมรับผิด”

ส่วนที่ทีมข่าวสังเกตเห็นว่า มีเครือญาติของกำนันนกซึ่งเป็นผู้บริหารบริษัท เดินออกมาขึ้นรถตู้ขณะที่เจ้าหน้าที่ทำการตรวจค้น จะถือว่าไม่ให้ความร่วมมือหรือไม่ นายภูมิวิศาล บอกว่า เบื้องต้นยังไม่ได้รับรายงานเรื่องนี้ แต่หากพบว่ากระทำผิด ก็ไม่สามารถหนีไปไหนรอด

ทั้งนี้ทีมข่าวยังได้สังเกตเห็นว่า รถบรรทุกทุกคันที่วิ่งเข้าออกจากบริษัท จะติดสติ๊กเกอร์บริเวณกระจกรถด้านหน้า เป็นสติ๊กเกอร์คำว่า “กำนันนก” ตัวอักษรสีดำ ซึ่งในส่วนนี้ทางเจ้าหน้าที่จะมีการตรวจสอบอีกครั้ง

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบยังพบว่า บริษัทของกำนันนก ประมูลงานก่อสร้างขององค์กรรัฐ คิดเป็นพื้นที่ 11 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 1,544 โครงการ แบ่งเป็นจังหวัดกาญจนบุรี 13 โครงการ สุพรรณบุรี 7 โครงการ ราชบุรี 6 โครงการ เพชรบุรี 3 โครงการ ประจวบคีรีขันธ์ 2 โครงการ กำแพงเพชร 1 โครงการ นครปฐม 1,498 โครงการ นนทบุรี 1 โครงการ กทม. 3 โครงการ ฉะเชิงเทรา 6 โครงการ สมุทรสาคร 4 โครงการ

ผ่าขุมทรัพย์กำนันนก 7 พันล้านอึ้งมหาดไทยให้งบอื้อ ทะแม่งคู่แข่งแพ้ตลอด