ที่ประชุม ครม. มีมติแต่งตั้ง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

วันที่ 6 กันยายน 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ ซึ่งมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้ง นายแพทยพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2566 เป็นต้นไป

สำหรับนพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช หรือ "หมอมิ้ง" เกิดวันที่ 5 พฤศจิกายน 2497 ชีวิตส่วนตัว สมรสกับ แพทย์หญิงมัธยา เลิศสุริย์เดช มีบุตร 2 คน คือ นายมติ เลิศสุริย์เดช และ น.ส.มาพร เลิศสุริย์เดช

ประวัติการศึกษา
นพ.พรหมินทร์ จบการศึกษามัธยมศึกษา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จบวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จบแพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จบ Fellowship In Public Administration From Ottawa University And Carleton University, Canada (September 1989 - August 1990) รวมทั้งได้อนุมัติบัตรเวชศาสตร์ป้องกันคลีนิคจากแพทย์สภา และ National Health Administration, Japan (May - June 1992)

ประวัติการทำงาน
นพ.พรหมินทร์ เคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.เอส. คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด, ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานบริหารภาคพื้นดินและงานสนับสนุน บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน), ผู้จัดการทั่วไป บมจ. อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น (ไอบีซี), รักษาการกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไอบีซี ลาว จำกัด, ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไอบีซี กัมพูชา จำกัด, ผู้จัดการอาวุโสพัฒนาธุรกิจ บมจ. อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น
นอจกานั้นยังดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายแผนงานสาธารณสุข กองแผนงานสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข, นายแพทย์ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพล จังหวัดขอนแก่น, นายแพทย์ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น
ภายหลังจบการศึกษาและทำงานราชการ นพ.พรหมินทร์ ได้เข้ามาช่วยงานด้านกลยุทธ์ และได้เข้าร่วมทำงานกับกลุ่มบริษัทชินวัตร ตำแหน่งสุดท้ายคือซีอีโอ ของบริษัทชินแซทเทิลไลท์ คอมมิวนิเคชั่นส์ และถือเป็นคนอยู่เบื้องหลังแคมเปญการรณรงค์ทางการเมืองให้กับ นายทักษิณ ชินวัตร จนได้รับว่าพึงพอใจจากคนชั้นกลางเป็นจำนวนมาก

 

เส้นทางทางการเมือง
ปี 2544 - 2545 ดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ปี 2545 - 2546 ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
ปี 2546 - 2548 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
ปี 2548 - 2549 ดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี


นพ.พรหมินทร์ ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549