เกาะประเด็นการเมือง ที่ถูกจับตามองอย่างมากในช่วงนี้ หลังที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แพ้โหวตนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา

ตัวแทนพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ได้นัดหารือกันหลังการโหวตชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตพรรคก้าวไกล ไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา โดยมีรายงานว่า คุยกันเมื่อ เวลา 18.00 น. ที่รร.โรสวูด กรุงเทพฯ ​มีตัวแทนพรรคก้าวไกล ประกอบด้วย นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค และน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค ขณะที่พรรค พท. ประกอบด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ใช้เวลาหารือประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที



บรรยากาศที่ประชุมวันนี้เป็นไปได้ด้วยดี โดยได้หารือถึงภาพกว้างประเมินสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในการโหวตเลือกนายกฯครั้งที่ 2 วันที่ 19 ก.ค.นี้ โดยมองว่าในที่ประชุมรัฐสภาฯจะมีการทักท้วงเกี่ยวกับการเสนอญัตติเดิมซ้ำในสมัยประชุมได้หรือไม่ รวมถึงประเมินว่าฝ่ายรัฐบาลเดิมอาจเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯเข้ามาแข่งด้วย ซึ่งวงหารือยังไม่ได้ลงรายละเอียดเพียงแต่อยากประเมินสถานการณ์ให้แต่ละฝ่ายไปหาทางรับมือประเด็นนี้ไว้ล่วงหน้า ส่วนเรื่องที่พรรคก้าวไกลยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 นั้น พรรค พท. ไม่เห็นด้วยเนื่องจากเป็นไปได้ยาก เพราะญัตติดังกล่าวต้องอาศัยเสียงส.ว.ถึง 84 เสียง มองว่าเวลานี้ควรมุ่งหน้าเรื่องจัดตั้งรัฐบาลกันก่อน อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ทาง 8 พรรคร่วมรัฐบาลจะนัดหารือกันอีกครั้ง ในวันที่ 18 ก.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา และจะมีการแถลงข่าวให้ทราบอย่างเป็นทางการ



นอกจากนี้ ที่ประชุมยังไม่สรุปว่ายังเสนอชื่อนายพิธา ให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตให้เป็นนายกฯอีกครั้งหรือไม่ และยังไม่มีการหารือรายชื่อนายกฯรอบ 2 ว่าจะเป็นในรูปแบบใด เพราะต้องรอความเห็นจากที่ประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาลก่อน ส่วนการโหวตนายกฯครั้งที่สอง พรรคก้าวไกลจะรวบรวมเสียงส.ว.หรือไม่นั้น ที่ประชุมก็มีการพูดคุยกัน แต่ก็ต้องมาหารือกันอีกครั้งในที่ประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาล

ขณะที่การประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา คนหนึ่งที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากหนีไม่พ้น การอภิปรายของนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย จังหวัดอุทัยธานี ที่บางช่วงบางตอน เขาได้พูดว่าการที่เขาอภิปรายเมื่อวานนี้ ไม่กลัวว่าจะมีทัวร์ลง เพราะที่บ้านมีพื้นที่กว่าร้อยไร่

รายการลุยชนข่าว สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์นายชาดา ผ่านรายการตอบทุกประเด็นร้อน

เมื่อวานอภิปรายในสภาดุเดือด และไม่กลัวทัวร์ลง และบอกว่าบ้านเนื้อที่ร้อยกว่าไร่ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร?
"ต้องขออธิบายแบบนี้ ต้องแยกด้อมส้มกับก้าวไกลก่อน ผมอภิปรายด้วยความรู้สึก ไม่ได้รุนแรงอะไร ผมพูดจากใจผมเป็นคนปากเข้าใจตรงกัน พรรคภูมิใจไทยเสนอทางเลือกเราต้องการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับบ้านเมืองขณะนี้ ถ้าคุณจบเรื่อง112 ทุกอย่างจบ ต้องรู้ว่าอะไรสมควรทำก่อนและหลัง เพียงแต่เก็บเรื่องนี้ไว้ซึ่งเป็นทางออกที่พรรคภูมิใจไทยหยิบยื่นให้ แต่เขาไม่รับก็ไม่รู้จะทำอย่างไร"

มีนักวิชาการบอกว่า เรื่องนี้ต้องเข้าสภา เดี๋ยวสภาไม่เห็นด้วยมันก็ตกไป ทำไมถึงไม่รอให้เข้าสภาก่อน?
"มันไม่ได้ครับ ใครคือประมุขของรัฐผมถามคำเดียวครับว่าคุณจะแก้มาตรา 112 ให้คนมาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หมิ่นสถาบันได้ คุณคิดว่าบ้านเมืองจะสงบเหรอ คุณบอกว่านี่คือ 1 ใน 300 นโยบายของคุณ แต่ต้องเข้าใจผมยืนทางเลือกให้แล้วแต่ไม่เอาคุณก็คุณผมก็ผมดังนั้นไม่ใช่การอภิปรายไปด่าเขา แต่อภิปรายไปเพื่ออธิบายว่านี่เป็นข้อเสนอที่หาทางออกให้ แล้วเขาไม่รับก็ไม่รู้จะทำอย่างไร"

กำลังจะบอกว่าต่อให้เข้าสภาก็ไม่เอาเพราะต้องไม่พูดถึงเลย?
"ถูกต้องครับผม มันสำคัญอะไรนักหนาล่ะครับ ยื่นเข้าสภาก็ยื่นไม่ได้มันผิดรัฐธรรมนูญ ท่านชวนอดีตประธานสภาก็ไม่เอาเข้า แล้วยังจะเอาเรื่องนี้มาเป็นเรื่องแรกที่จะทำงาน มันไม่ใช่ จุดมุ่งหมายของคุณมาบริหารประเทศ หรือล้มล้างสถาบัน"

ถ้าครั้งหน้าถ้าไม่ใช่ก้าวไกล แต่เป็นแคนดิเดตนายกฯ ภูมิใจไทยเอาไหม?
"คือเราบอกแล้ว ถ้าไม่มีเรื่อง112รับได้หมด แต่การที่พรรคจะยกมือให้ใคร เป็นเรื่องของพรรค ผมไม่ใช่หัวหน้าพรรค พูดได้เพียงความเห็นส่วนตัวเท่านั้น เพราะเคยหาเสียงในเขตพื้นที่ผมว่า ใครก็ได้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ พรรคนั้นต้องมีคะแนนมากกว่าพรรคของพรรคนายอนุทิน ถ้าไม่ให้เลือกหัวหน้าพรรคผม จะต้องได้คะแนนมากกว่า จะเป็นพรรคใครก็แล้วแต่ ผมเลือกได้หมด แต่ยกเว้นก้าวไกลไว้ ต้องดูเรื่อง112ก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมหาเสียงไว้นะครับ"

ข้อคำถามกรณีที่นายปิยบุตร ตอบโต้คุณชาดา ที่บอกในสภาไม่เป็นความจริง โดยยืนยันว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้ล้มสถาบัน ซึ่งเกินเลยกับความเป็นจริง?
"ถ้าคุณไม่คิดลบล้างสถาบันคุณหยุดเรื่องนี้ได้หรือไม่ถ้าคุณหยุดเรื่องนี้เรื่องเดียวคุณก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วจะบริหารบ้านเมืองอย่างไรก็บริหารส่วนตัวผมก็อยากเห็นคนรุ่นใหม่บริหารแต่ผมรับไม่ได้มายุ่งเกี่ยวกับสถาบันสูงสุดของประเทศแล้วทำไมต้องแก้แก้เพื่ออะไรเพื่อให้คนมาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้ ทำไมคุณต้องทำตรงนี้คุณทำเพื่ออะไรเพราะนี่คือประตูแห่งการล้มล้าง"

กรณีมีข่าวลือทางฝั่งขั้วรัฐบาลเดิมมีการประชุมกัน และมีความเป็นไปได้ว่าการโหวตครั้งหน้าจะมีการเสนอชื่อขึ้นมาแข่ง เนื่องจากครั้งแรกที่เสียงข้างมากไม่ได้ ถ้าเกิดมีชื่อของพล.อ.ประวิตร พรรคภูมิใจไทยจะโหวตให้หรือไม่?
"ต้องเป็นความเห็นของที่ประชุมพรรค ผมไม่สามารถตอบได้ แต่ผมประกาศจุดยืนของผมว่า ผมจะเลือกนายกฯ เฉพาะพรรคที่ได้มากกว่าพรรคผม อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัว ยืนยันว่าไม่มีการหารืออะไร สิ่งที่ผมได้รับ หลังจากที่พูดเรื่องนี้แล้ว แต่มีคนบอกว่าผมพูดแทนใจเขา และจะพูดกันตลอดว่าพรรคก้าวไกลได้อันดับ1 ท่านครับได้อันดับ1 แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ว่าอันดับ1 ต้องเป็นนายกรัฐมนตรี กฎหมายกำหนดว่าคุณได้มาก คุณต้องได้ 250 ขึ้น อย่าเอาจุดยืนที่เข้าข้างตัวเองมาพูดในที่สาธารณะ และไม่อยากตอบโต้อ.ปิยุบตร ทำไมไม่เอานโยบายข้ออื่นมาทำก่อน กลับเลือกทำ112ก่อน แสดงว่าทำงานไม่เป็น คุณไม่รู้จะทำอะไรก่อนหลัง คุณก็คิดกันเอาเอง ไม่อยากไปทะเลาะกับใคร แต่เพื่อให้บ้านเมืองจบปัญหาเท่านั้นเอง"

เช่นเดียวกับนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุใจความโดยรวมว่า แนะพรรคก้าวไกลให้ยอมถอยเรื่องม.112 โดยประนีประนอมเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล ระบุข้อความว่า “ยอมถอย เรื่อง ม.112 ดีกว่า” เพราะเป็นการสร้างความแตกแยก และเป็นเงื่อนไขให้พิธาไม่ได้เป็นนายกฯ การขึ้นเป็นรัฐบาล ไม่จำเป็นที่ต้องยึดเรื่องปฏิรูปสถาบันเป็นหลัก มีเรื่องสารพันให้ทำอีกมากมาย ผมมั่นใจว่าใน 14 ล้านเสียง ไม่ได้ต้องการเรื่องปฏิรูปสถาบันมาเป็นเรื่องแรกๆ เสียด้วยซ้ำ

ก้าวไกลได้คะแนนเสียงจาก “มีลุง ไม่มีเรา” ปฏิรูปกองทัพ ยุบ กอ.รมน. กฎอัยการศึก ล้มเผด็จการ รวมถึงกฎหมายต่างๆ ที่ทำให้ประเทศไทยติดหล่มมาถึง 9 ปี นี่ต่างหากที่ก้าวไกลต้องปฏิรูป

ขณะที่นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า แม้จะลดเงื่อนไขเรื่องของการแก้ไข ม.112 แต่ไม่น่าจะทำให้นายพิธา ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีได้โดยง่าย เพราะนอกจากเรื่องนี้ยังมีอีกหลายเรื่อง ที่ ส.ว.ไม่อยากลงให้ทั้งเรื่อง การปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูประบบราชการ และยังมีเรื่องของการให้สัตยาบันศาลยุติธรรมระหว่างประเทศอีก ดังนั้น การแก้ไข ม.112 ไม่ใช่แค่เงื่อนไขเดียว ที่คุณพิธาไม่ได้รับการเลือกเป็นนายกฯ แต่ส่วนตัวคิดว่าพรรคก้าวไก ลไม่มีการลดเพดานเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 แน่นอน

นายคมสัน ยังอ่านภาพ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ ว่า น่าจะถูกเลื่อนออกไป 8 พรรคคงเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เหมือนเดิม แต่ตอนเช้า ก็จะเสียเวลาไปกับการถกเถียงกันว่าทำได้หรือไม่ และสุดท้ายก็จะจบลงด้วยการไม่ได้ลงมติ เเพราะช่วงบ่ายศาลรัฐธรรมนูญ น่าจะมีคำสั่งรับคำร้องกรณีการถือหุ้น itvของนายพิธา ไว้พิจารณา ซึ่งก็จะเป็นข้ออ้างทำให้ต้องเลื่อนการเลือกนายกฯออกไป

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าจะมีการเสนอชื่อของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เข้ามาแข่งจากฝ่ายเสียงข้างน้อย มองว่า ในแง่ของเสียง 375 ที่จะโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีมีความเป็นไปได้ แต่การบริหารประเทศ มันจะอยู่ได้ไม่รอด รัฐบาลที่จะเกิดขึ้นเป็นเสียงข้างน้อยไม่ได้ มันจะเหมือนเป็นการฆ่าตัวตาย มันไม่เกิดประโยชน์ สุดท้ายมันก็จะจบด้วยนายกฯลาออกหรือไม่ก็ยุบสภา

นายคมสัน ยังกล่าวต่อด้วยว่าภาพรัฐบาล ที่น่าจะเป็นไปได้คือต้องโยกพรรคเพื่อไทยข้ามฟากมาจับมือกับพรรคขั้วรัฐบาลปัจจุบัน แต่ทั้งหมดจะไม่ได้เกิดในวันที่ 19 นี้ ต้องเป็นการเดินเกมหลังจากนั้น เพื่อไทยจะต้องแสดงให้เห็นว่า ดันไปจนสุดแล้ว เพื่อไม่ให้กระทบกับมวลชนของเขา

เมื่อถามว่ามันก็สอดคล้องกับกรณีที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ออกมาโพสต์ว่า ก้าวไกลยอมถอยออกมาเป็นฝ่ายค้าน นายคมสัน กล่าวว่า ก้าวไกลน่าจะรู้ตัวอยู่แล้ว แต่ที่ทำอยู่ทุกวันนี้น่าจะเป็นการลองเสียงและดิสเครดิต ของคนบางกลุ่มเช่น วุฒิสภา

"ตอนนี้เกมที่ เพื่อไทยเล่นคือต้องพยายามดันให้สุด สุดจริงๆแล้วถึงจะบอกว่า มันไปไม่ได้แล้ว เพื่อไทยก็คงจะรู้อยู่แล้วว่าจริงๆมันสุดมานานแล้ว ตอนนี้พยายามเล่นให้มันครบเกมเท่านั้นเอง

ฝ่ายค้านก็จะเหลือก้าวไกล ไทยสร้างไทย เสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม พรรครวมไทยสร้างชาติ น่าจะมารวมกับฝั่งนี้ ซึ่งน่าจะรวมได้เพราะความขัดแย้งระหว่างพลเอกประยุทธ์ กับพรรคเพื่อไทยมันยุติลงเพราะพลเอกประยุทธ์ บอกว่าฉันยุติบทบาทแล้ว และส.ส ในพรรคก็เป็นคนของพลังประชารัฐเดิม" นายคมสัน กล่าว

ทีมข่าวช่อง 8 ไปพูดคุยกับรศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางกฎหมาย ถึงประเด็นที่เกิดขึ้น โดยได้แสดงความคิดเห็นในแต่ละประเด็นคือ

1.ประเด็นที่นายปิยะบุตรโพสต์เฟซบุ๊ก ให้นายพิธาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 แล้วหากไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกก็ให้เป็นฝ่ายค้าน ตนมองว่า มันจะไม่ได้ผลตามที่ควรจะเป็น เพราะทางพรรคก้าวไกลมองว่า อุปสรรคที่ทำให้นายพิธาไม่ได้เป็นนายกเพราะมีมาตรา 272 คือส.ว.ออกเสียงลงมติโหวตนายกรัฐมนตรี ซึ่งสกัดกั้นทำให้ไม่ถึงฝั่งฝัน

ส่วนถ้าเอามาตรา 272 ออก แล้วยังไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ผันตัวไปเป็นฝ่ายค้านแทน ก็คล้ายเดินเกมเพื่ออ่อยเหยื่อ ว่าท้ายที่สุดอาจพลิกเกมเป็นรัฐบาล เช่น หากเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แล้วพลิกเกมภายหลัง ให้เพื่อไทยมาอยู่กับพรรคก้าวไกลอีกทีหนึ่ง ตนมองว่ามันจะยิ่งไปไกล ไม่ถึงเป้าที่ตั้งใจแต่แรกที่อยากปฏิรูปการเมืองประเทศไทย

แต่หากจะแก้มาตรา 272 ไม่ต้องไปเป็นฝ่ายค้าน ไปเอาเสียง 1 ใน 5 แล้วก็เสนอเลย วาระแรกต้องได้ส.ว. 1 ใน 3 สมมติว่าได้แล้วปล่อยผ่าน ต่อไปวาระที่วัดจริงคือวาระที่สาม คือหาเสียงสนับสนุนเพิ่มต่อ สมมติว่า พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติพัฒนากล้า เขาทอดสะพานให้ก้าวไกล ได้มาสัก 40 เสียง รวมกับ 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาล ก็ตั้งรัฐบาลได้

2.ตนเห็นด้วยกับนายชูวิทย์ ที่แนะให้ “ยอมถอย เรื่อง ม.112 ดีกว่า” เพราะเมื่อวานขณะลงมติโหวตนายกรัฐมนตรี มีส.ส. บางคนพูดชัดเจนในที่ประชุมถามก้าวไกลว่า “คุณถอย มาตรา 112 ไหม ถ้าถอย พรรคภูมิใจไทยจะลงมติให้นายพิธา โดยไม่ร่วมรัฐบาลด้วย “ ซึ่ง ส.ว.บางคนก็บอกว่า “ถอย 112 แล้วจะลงมติให้”

ตนมองว่านโยบายพรรคก้าวไกลที่จะแก้มาตรา 112 ไม่ชัดเจน แต่รัฐธรรมนูญ มาตราที่ 6 ระบุชัดเจน “ องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ“ ตนจึงไม่อยากให้ลุกลามบานปลายไปแตะไปต้อง อาจทำให้ส.ส. และ ส.ว. ไม่มั่นใจว่าพรรคก้าวไกลจะมีแนวทางแก้มาตรา 112 อย่างไร ซึ่งอาจไปกระทบมาตรา 6 จึงมีบางคนเสนอให้เอามาตรา 112 ออก แล้วนายพิธาจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ส่วนตัวก็มองว่ายากเพราะดร.ปิยะบุตร และนายพิธาไม่ถอย รวมทั้งกลุ่มมวลชนที่เตรียมลงถนนก็ไม่ถอยเช่นกัน หากไม่ยอมถอยก็ต้องไปเป็นฝ่ายค้าน

3.สมการพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หากจะเป็นได้ต้องเกิด 2-3 ปัจจัย ปัจจัยหนึ่ง เพื่อไทยต้องปล่อยให้ก้าวไกลไปลองคิดดูก่อนว่าถ้าถูลู่ถูกังแบบนี้จะเกิดผลดีต่อประเทศชาติไหม ต้องขึ้นว่า ถ้าก้าวไกลไม่ได้เศรษฐกิจจะไม่เดินหน้าจริงหรือไม่ และถ้าเพื่อไทยได้เป็นแกนนำเศรษฐกิจจะเดินหน้าจริงหรือไม่เช่นกัน ตนฝากก้าวไกลไปคิด

ปัจจัยสอง ก่อนหน้านี้เพื่อไทยประกาศไม่เอาลุง ลุงคนแรกพลเอกประยุทธ์ยอมถอยแล้ว แต่ถ้าอนาคตพลเอกประวิตรยอมถอยอีกคน ก็จะทำให้เพื่อไทยมีโอกาสได้เสียงจากพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ แต่ก็ต้องย้อนกลับไปอีกว่าสมัยก่อนคุณทักษิณและคุณเนวินเคยมีเรื่องขัดแย้งกัน และทั้งสองพรรค เพื่อไทยและภูมิใจไทยวางเรื่องบาดหมางส่วนตัวเพื่อที่จะเดินหน้าประเทศไทยต่อได้ ก็จะได้เสียงจากภูมิใจไทยด้วย ทำให้เพื่อไทยได้เสียงข้างมากและจัดตั้งรัฐบาลได้ในที่สุด ซึ่งตอนก็คิดว่าส.ว. บางคนก็จะเปลี่ยนใจลงมติให้ด้วยเนื่องจากนโยบายของพรรคเพื่อไทยไม่ได้ไปแตะต้องมาตราบางอย่างที่ส.ว. ไม่เห็นด้วย

ปัจจัยสาม ถ้าก้าวไกลยังยืนยันในที่สุด จะแก้สามเรื่อง คือ มาตรา 112 , แบ่งแยกดินแดน , เรื่องการต่างประเทศ ถึงแม้จะเป็นฝ่ายค้าน แต่ก็จะยังมีบางเสียงของประชาชนสนับสนุนอยู่และพรรคก้าวไกลก็ไม่ได้หายไปจากกระแสสังคม

แต่เมื่อวิเคราะห์จากตัวแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย ก็พบว่า ทุกคนมีปัญหาหมดอย่างนายชัยเกษม นิติศิริ ก็มีปัญหาเรื่องของสุขภาพ นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร ครอบครัว ก็ไม่อยากให้เป็น ส่วนนายเศรษฐา ทวีสิน คนในพรรคก็ยังตั้งคำถาม ดังนั้น เมื่อแคนดิเดตนายกพรรคเพื่อไทยไม่ได้ ก็อาจจะเป็นพรรคอื่น โดยมีพรรคเพื่อไทยร่วมรัฐบาลอยู่ด้วย ซึ่งหากดูจากคะแนนเสียงก็คงต้องเป็นนายอนุทิน ชาญวีรกุล ก่อน แล้วค่อยเป็นพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่เชื่อว่าเกมนี้ยังอีกยาวไกลไม่รู้ถึงเดือนกันยายนจะจบหรือไม่

เมื่อถามว่าการที่พรรคก้าวไกล ไม่ได้เป็นรัฐบาลมันจะมีปัญหาเรื่องของการชุมนุม เกิดความวุ่นวายขึ้นหรือไม่ นายคมสัน ยอมรับว่า มันจะมีการชุมนุมเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ยังวัดไม่ได้ว่ามวลชนของพรรคก้าวไกล จะมีมากน้อยแค่ไหน มันไม่เหมือนตอนพันธมิตรหรือเสื้อแดงขับเคลื่อน เขามีทีมที่พาคนเข้ามาจากต่างจังหวัด พรรคก้าวไกลจะมีแบบนี้หรือไม่ และการชุมนุมใหญ่ๆแต่ละครั้งมันก็ใช้เงินจำนวนมาก

ชาดา ฟาดไม่หนุนลุงป้อมนั่งนายกฯ ชี้พรรคได้ ส.ส.มากกว่า ลั่นเศรษฐาก็อดถ้าผนึกพิธา