นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล โพสต์คลิปวิดีโอความยาว 4.33 นาที ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย

โดยระบุข้อความว่า “จากพิธาถึงทุกคน ก่อนวันโหวตนายกรัฐมนตรี 13 กรกฎาคมนี้ ให้โอกาสประเทศไทยได้มีรัฐบาลเสียงข้างมากตามเจตจำนงของประชาชน เดินหน้าตามครรลองประชาธิปไตย คืนความปกติสู่การเมือง”

โดยในคลิปนายพิธากล่าวว่า “สวัสดีประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศทุกท่านประชาชน 14 พฤษภาคม 2566 เป็นวันที่เจตจำนงของประชาชนคนไทยแสดงออกอย่างชัดเจน ผ่านบัตรเลือกตั้งเลือกพรรคก้าวไกลมากถึง 14,438,851 เสียง ส่งให้เรากลายเป็นพรรคการเมืองอันดับหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎรและมีผู้แทนราษฎร 152 คนนี่คือเสียงที่ดังพร้อมกันทั้งประเทศว่าทุกท่านต้องการประเทศไทยที่ไม่เหมือนเดิม

ผมและพรรคก้าวไกลได้น้อมรับมติจากประชาชนเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลเราได้รวบรวมพรรคการเมือง 8 พรรค หรือ 72% ของผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ในการเมืองปกติพวกเรารัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคก้าวไกล คงได้เข้าไปบริหารประเทศแก้ไขปัญหาของประชาชนได้แล้ว แต่จนถึงวันนี้เกือบ 2 เดือนหลังการเลือกตั้ง การโหวตนายกรัฐมนตรีเพิ่งจะมาถึง และเรายังต้องรอการตัดสินใจของ ส.ว. ว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นไปตามเจตจำนงของประชาชนหรือไม่

วันนี้ชัดเจนว่าประเทศไทยอยู่ในการเมืองที่ไม่ปกติ อำนาจที่เป็นตัวแทนของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง ถูกล้มล้างครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยการรัฐประหาร นิติสงคราม และการยุบพรรค ความไม่ปกตินี้เกิดจากรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งในวันนี้ยังคงอยู่กับเราอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ แต่นี่คือโอกาสของประเทศไทยที่พวกเราจะคืนความปกติกลับสู่การเมืองไทยอีกครั้ง

 

โอกาสนี้ผมขอสื่อสารไปถึง ส.ว.และ ส.ว. ทุกท่านท่านอาจไม่ชอบแนวทางการเมืองของพวกเราในระบบการเมืองปกติ แต่พวกท่านตรวจสอบผมได้ โจมตีผมได้ โหวตผมออกจากตำแหน่งก็ยังทำได้ แต่การโหวตให้รัฐบาลเสียงข้างมาก คือการให้โอกาสประเทศไทยเดินหน้าในแบบที่ควรจะเป็น

โอกาสนี้ผมขอสื่อสารไปถึงประชาชน เราผ่านวันเลือกตั้งมาแล้ว แต่ภารกิจยังไม่สำเร็จ การเปลี่ยนแปลงประเทศจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีรัฐบาลเสียงข้างมากที่จะนำพาประเทศไปสู่ข้างหน้า

ผมพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของทุกคน ไม่ว่าท่านจะเลือกพรรคไหน มีความเห็นทางการเมืองอย่างไร มีความปรารถนาถึงสังคมแบบไหน ผมจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่บริหารประเทศ ที่โอบรับความฝันอันหลากหลายของทุกคนได้ หากนี่คือสิ่งที่ท่านอยากเห็น ให้โอกาสประเทศไทยได้เดินไปข้างหน้า โดยการบริหารของรัฐบาลพรรคร่วม 8 พรรค ที่นำโดยนายกรัฐมนตรี ที่ชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ขณะที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกันกับตัวแทน คณะกรรมาธิการสามัญกิจการวุฒิสภา หรือ วิปวุฒิสภา และตัวแทนจากพรรคการเมือง เพื่อเตรียมความพร้อม และทำความเข้าใจ ในการประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ เพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมฯ มีความเห็นร่วมกัน จะทำให้การประชุมดังกล่าว เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพ และคาดว่า น่าจะมีการลงมติเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ในช่วงเวลาประมาณ 17.00 น. ซึ่งก่อนการจะมีการลงมตินั้น จะมีการเปิดโอกาสให้ ส.ส. และ ส.ว.อภิปรายก่อน โดยแบ่งเป็นเวลาของ วุฒิสภา 2 ชั่วโมง และ ส.ส.ทุกพรรครวมกัน 4 ชั่วโมง โดยไม่กำหนดเวลาของ ส.ส.ผู้ที่จะอภิปรายแต่ละคน และหากมีการพาดพิง ก็สามารถชี้แจงได้ในกำหนดเวลาที่เหมาะสม

 

วันนี้ (11 ก.ค. 66) แกนนำ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลนัดประชุมเวลา 09.30 น. ที่รัฐสภาเพื่อหารือถึงแนวทางการ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่จะมีขึ้น 13 ก.ค.นี้ แต่ติดขัดปัญหาเรื่องห้องประชุม ต้องย้ายห้องประชุมถึง 3 ครั้ง

หลังการประชุม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า ที่ประชุม 8 พรรคร่วมมมติเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลให้ที่ประชุมรัฐสภาเลือกเป็นนายกฯ โดยให้พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอชื่อ โดยตนจะรับหน้าที่ดังกล่าว จากนั้นจะเปิดให้สมาชิกซักถามเกี่ยวกับผู้ได้รับการเสนอชื่อ และผู้ได้รับการเสนอชื่อตอบ

ทางด้านนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ ครูหยุย สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊ก กรณีการอ้างว่ามี 20 ส.ส. เตรียมจะโหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคก้าวไกล ให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ว่า เพื่อความชัดเจน ตามนี้เลยครับ สอบถามทุกคนในภาพมาแล้ว ตัวเลขปั่นจนข่าวเอาไปลงคือ 20 ตัวเลขแท้จริงคือ 10 

ขณะเดียวกัน นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เผยว่า เสียงการลงมติของ ส.ว. นั้นก็ขึ้นอยู่ที่ดุลยพินิจของแต่ละคนว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ส.ส. เป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี และ ส.ว. มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบ ดังนั้น ในการให้ความเห็นชอบส.ว. จึงควรเทียบเคียงกับหลักเดิมเช่นการสรรหาองค์กรอิสระ ซึ่งจะต้องฟังข้อมูลก่อน และการตัดสินใจให้เป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกแต่ละคน เชื่อว่าทุกคนมีวุฒิภาวะในการเลือกนายกรัฐมนตรี นโยบายในการเข้าไปทำหน้าที่ดูแลประชาชนเชื่อว่า ส.ว. ใช้ดุลยพินิจได้อย่างดี ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ มีข่าวเรื่องที่ส.ว. จะร่วมกันงดออกเสียงในการโหวตเลือกนายกฯนั้น นายสมชาย กล่าวว่า การงดออกเสียงในที่นี้มีอยู่ 2 กรณีคือ งดออกเสียงเพื่อรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นที่สุดก่อน และการงดออกเสียงอีกหนึ่งกรณีคือ ไม่เห็นด้วยให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี สำหรับกระแสข่าวที่ว่าส.ว. กว่า 90% จะงดออกเสียงให้นายพิธานั้น ตนไม่ทราบในเรื่องนี้ ไม่ทราบว่าใครประเมิน และทุกครั้งที่ทราบข่าวการประเมินก็เห็นว่า ส.ว. จะโหวตให้นายพิธา

สำหรับกรณีที่มี สว.สายทหารเดินหน้าล็อบบี้หาคะแนนเสียงให้นายพิธานั้น นายสมชาย กล่าวว่า ไม่ทราบในเรื่องนี้

พิธา อัดคลิปขอเสียงหนุนขึ้นนายกฯ ครูหยุย ผนึก สมชาย ฟันธงฝันสลายงดออกเสียง 90%