"พิเชษฐ์" ยอมรับกรรมอาจสนอง หลังเคยทำสภาล่มบ่อย เผย ถูก "ชวน" แซวทำเรื่องไว้เยอะ ระวังถูกเอาคืน ชี้จะทำหน้าที่รองประธานสภาคนที่ 2 ให้ดีที่สุด เดินหน้าแก้ปัญหาสภาฯ ล่ม

วันที่ 4 ก.ค. 66 นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย แถลงข่าวภายหลังได้รับเลือกเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ว่า ตนเพิ่งรู้ตัวเมื่อคืนว่า จะถูกเสนอชื่อเป็นรองประธานสภาคนที่ 2 ซึ่งคิดว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะเห็นว่าตนทำงานในสภามาโดยตลอด ดังนั้น ปัญหาต่างๆ ในสภาก็เห็นมาเยอะ และฝ่ายนิติบัญญัติก็ถือว่าเล็กมาก เมื่อเปรียบเทียบกับฝ่ายตุลาการและฝ่ายบริหาร ซึ่งตนตั้งใจจะฟื้นคืนสภาผู้แทนราษฎรให้มีความศักดิ์ศรีทั้งสมาชิกและองค์กร

พร้อมระบุว่า นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของฝ่ายประชาธิปไตยที่จะฟื้นคืนชีพ ให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นที่พึ่งหวังของประชาชนได้มากขึ้น และยืนยันว่าตนพร้อมทำงานอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาสภาล่ม กฎหมาย และเรื่องรายงานต่างๆ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงฝ่ายนิติบัญญัติน้อยมาก โดยเฉพาะโอกาสที่จะนำเสนอปัญหาเข้าสภาฯ ตนทราบดี เพราะเป็น ส.ส.เขต จึงอาจจะขอปรึกษากับประธานสภา และรองประธานสภาคนที่หนึ่ง ในการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาแจ้งปัญหาหรือโครงการอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อให้ ส.ส. นำปัญหานั้นมาพูดคุยกับแต่ละกระทรวง

เมื่อถามว่ามั่นใจหรือไม่ ว่าจะไม่ทำให้เกิดปัญหาสภาล่มเช่นในอดีต นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า อยู่ที่การบริหารของฝ่ายรัฐบาล ถ้ามีการจัดการสมาชิกก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ที่ผ่านมายอมรับว่า ตนเป็นหนึ่งคนที่ทำให้สภาล่ม ดังนั้นจากนี้จะพยายามไม่ให้สภาล่ม เพราะมีประสบการณ์ตรง อีกอย่าง ส.ส. ก็แซวจะไม่มีใครทำให้สภาล่มแล้ว เพราะคนที่ทำสภาล่มไปทำหน้าที่รองประธานสภา

เมื่อถามต่อว่า จะมีใครมาทำหน้าที่ประท้วงแทนหรือไม่ นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า ต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายค้าน เห็น ส.ส. หลายคนบอกว่าจะมาทำหน้าที่แทน เพราะมีหลายคนที่แซวตน

เมื่อถามว่า กลัวกรรมจะตามสนองหรือไม่ นายพิเชษฐ์ หัวเราะ ก่อนจะกล่าวว่า นายชวน หลีกภัย อดีตประธานสภาฯ ก็ได้แซวว่า ทำเรื่องไว้เยอะ ระวังถูกเอาคืน แต่ไม่เป็นไร ตนก็ขอทำหน้าที่

เมื่อถามถึงการแก้ไขมาตรา 112 นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า อันดับแรกต้องผ่านคณะกรรมการประสานงาน 2 ฝ่ายก่อน แล้วถึงจะมาพิจารณาว่าเห็นสมควรบรรจุเข้าที่ประชุมหรือไม่

ส่วนที่ผ่านมา มีกฎหมายหลายฉบับที่ประชาชนเข้าชื่อและถูกตีตกไปนั้น นายพิเชษฐ์ ยืนยันว่า ทั้งสามคนเห็นความสำคัญ พ.ร.บ. ที่มาจากประชาชนอันดับแรกและจะพยายามผลักดันเข้าสภาให้เร็วที่สุด