"วันนอร์" ชี้ ฟรีโหวตเลือกประธานสภาฯ ทำได้ แต่ตามธรรมเนียมต้องโหวตทิศทางเดียวกัน เพราะจะทำให้การตั้งรัฐบาลไม่ราบรื่น ยัน "ประชาชาติ" ไม่วิ่งเต้นต่อรองตำแหน่ง แต่ตามประเพณี พรรคอันดับสาม ได้รองปธ.สภาฯคนที่สอง

วันที่ 21 มิ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวถึงการแบ่งโควต้ารัฐมนตรีว่า ทั้ง 8 พรรคยังไม่ได้พูดคุยกัน ต้องรอความชัดเจนในการพูดคุยกับพรรคก้าวไกลอีกครั้งหนึ่ง ส่วนกระแสข่าวที่พรรคจะขอต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยอีกหนึ่งตำแหน่งนั้น ยืนยันว่า พรรคประชาชาติไม่มีการต่อรองตำแหน่ง เพราะเข้ามาเพื่อทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชน ที่เข้าร่วมรัฐบาล เพราะตั้งใจตั้งแต่ต้นว่า ถ้าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย เราจะเข้าร่วมเพื่อประโยชน์ประชาชน เราขออยู่สัดส่วนที่เหมาะสมและทำงานได้ แค่นี้ ไม่มีการต่อรองอะไร

เมื่อถามถึงโควต้ารองประธานสภาฯ ที่พรรคเพื่อไทยจะควบสองตำแหน่ง จะมีการเจรจาเพื่อแบ่งอย่างไรหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ยังไม่ได้พูดคุยกัน ที่พูดกันมีเพียงตำแหน่งประธานสภาฯที่ให้พรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยไปตกลงกัน ส่วนตำแหน่งรองประธานสภาฯคนที่หนึ่งและคนที่สอง ยังไม่ได้พูดคุยกัน แต่โดยปกติแล้ว พรรคที่สอง จะได้รองประธานสภาฯคนที่หนึ่ง และพรรคถัดมาลำดับที่สาม จะได้รองประธานสภาฯคนที่สอง ซึ่งเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมาตลอด

เมื่อถามว่า หากพรรคก้าวไกลได้ตำแหน่งประธานสภาฯ และมีเป้าหมายเสนอกฎหมายที่สังคมกังวลอยู่ จะทำให้เป็นชนวนขัดแย้งหรือความวุ่นวายในสภาหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่มีความขัดแย้งแต่อย่างใด เพราะการประชุมในสภาฯมีการอภิปรายและลงมติ เสียงข้างมากลงมติอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น และมีข้อกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม การโต้แย้ง เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในกฎหมายฉบับใด ถือเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อเสียงข้างมากชนะ ฝ่ายเสียงข้างน้อยก็ต้องปฏิบัติตาม และการมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน ไม่ใช่เรื่องของความแตกแยก แต่คือการแสดงจุดยืนในนโยบายของแต่ละพรรค

เมื่อถามว่า ในการโหวตเลือกประธานสภาฯ ที่สุดท้ายอาจตกลงกันไม่ได้และเปิดให้ฟรีโหวต พรรคประชาชาติจะเลือกแนวทางใด นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า โดยปกติ การเลือกประธานสภาฯ หากมีการเสนอมากกว่าหนึ่งคน จะต้องลงคะแนนลับ ส่วนจะฟรีโหวตหรือไม่ฟรีโหวต ทำได้ทั้งนั้น แต่ปกติเมื่อจับมือการจัดตั้งรัฐบาล มติพรรคร่วมรัฐบาลเป็นอย่างไร ก็จะออกมาทิศทางเดียวกัน

นายวันมูหะมัดนอร์ บอกว่า ​"ถ้าฟรีโหวต มันก็ทำได้ ไม่ได้ผิดกฎหมายอะไร แต่การจัดตั้งรัฐบาลก็จะไม่ราบรื่น เพราะต้องมีการตกลงกันล่วงหน้าว่าพรรคใดจะได้เป็นประธานสภาฯ และใครเป็นรองประธานสภาฯ การโหวตก็เป็นการโหวตตามที่ได้ตกลงกันไว้ แต่การตกลงไม่ได้เป็นกฎหมาย เมื่อเข้าไปในสภา มันก็เป็นเสรีภาพ เป็นอิสระของ ส.ส.แต่ละคน"

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาจะปฏิบัติตามมติของพรรค เพราะถือเป็นการทำงานร่วมกันของรัฐบาลที่จะอยู่ร่วมกันในอนาคตข้างหน้า ในส่วนของประชาชาติก็จะยึดมติพรรค และข้อตกลงของพรรคร่วมรัฐบาล เฉพาะในประเด็นของประธานสภาฯและรองประธานสภาฯ

เมื่อถามว่า หากมีเสนอชื่อแข่งจากพรรคตรงข้าม และผลที่ได้ผิดไปจากข้อตกลงของพรรคร่วมรัฐบาล จะส่งผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาฝ่ายตรงข้ามจะเสนอชื่อเข้ามาเพื่อแข่งขันกันเป็นประธานสภาฯ แต่ไม่ค่อยจะได้เห็นที่ฝ่ายตรงข้ามจะเสนอชื่ออีกฝ่ายหนึ่ง แต่จะเสนออย่างไรก็ได้ทั้งนั้น แต่การลงมติก็จะลงตามมติพรรค แต่เราก็ไม่สามารถพูดได้ว่า จะเป็นไปตามมติ หรือไม่เป็นไปตามมติ เพราะการลงคะแนนใดๆเป็นอิสระของสมาชิก แต่ในทางการเมืองจะต้องประชุมหารือกันของพรรค