"เสรีพิศุทธ์" แก้ไข "เอ็มโอยู" เสริมไป 8 ข้อ ส่งกลับ "พรรคก้าวไกล" ชี้ว่ามีหลายข้อในเอ็มโอยูที่ดูปลีกย่อยเกินไปอย่างประเด็นให้ปฏิรูปกองทัพ "พรรคเสรีรวมไทย" เสนอเป็นปฏิรูประบบราชการแทน ปัดตอบแบ่งเค้กกระทรวง แต่พร้อมนั่งเก้าอี้ว่าที่รัฐมนตรี

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เปิดเผยกับทีมข่าวช่อง 8 เกี่ยวกับประเด็นเอ็มโอยูของพรรคก้าวไกล เพื่อตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้ง 2566 ว่า พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ได้ร่างเอ็มโอยูมาให้พรรคร่วมพิจารณา ยอมรับว่าสมัยก่อนๆ ไม่มีการร่างเอ็มโอยูแบบนี้ โดยเสนอมาในวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งส่วนของพรรคเสรีรวมไทยมองว่าเอ็มโอยูฉบับนี้เป็นข้อตกลงร่วมกัน ไม่ใช่กฎหมาย เวลาเขียนก็ต้องเขียนให้กว้างๆ ไม่ใช่เขียนนโยบายมาผูกพรรคร่วม ทางพรรคจึงได้แก้ไขเอ็มโอยูฉบับที่พรรคก้าวไกลส่งมา หลักๆ ข้อแรกเป็นเรื่องการวางอุดมการณ์ร่วมกันในการทำงาน เป็นหลักผูกมัด(ข้อย่อย : ขยัน/ประหยัด/ซื่อสัตย์/เสียสละ ลฯล) แก้ไขรัฐธรรมนูญ พัฒนาประชาชนให้มีคุณภาพสามารถพึ่งพาตัวเองได้ พัฒนาระบบสาธารณสุข ซึ่งพูดในภาพรวมและลงมือทำทันที แก้ไขระบบงบประมาณ

 

ส่วนประเด็นในเอ็มโอยูที่เสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ระบุว่า ตรงนี้ทางพรรคเสนอความเห็นเสริมไปว่า ถ้าพูดในประเด็นนี้ควรเสนอให้มีการปฏิรูปตำรวจ รวมถึงข้าราชการในหน่วยอื่นๆ จึงเสนอให้แก้ข้อนี้เป็นปฏิรูประบบราชการให้เป็นที่พึ่งพาของประชาชน เพราะถ้าเขียนแค่ปฏิรูปทหาร ทางพรรคมองว่า “มันแคบไป” เช่นเดียวกับเรื่องสุราก้าวหน้า สมรสเท่าเทียม หรือเกณฑ์ทหารนั้น ทางพรรคระบุว่า ปลีกย่อยเกินไป เอาไปชี้แจงในสภาได้ ทางพรรคพร้อมให้ความร่วมมืออยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องกำหนดไว้ตรงนี้ เหมือนให้พรรคร่วมที่เซ็นเอ็มโอยูต้องยอมรับไปด้วย ไม่จำเป็นต้องขนาดนั้น

 

มีข้อมูลเรื่องการแก้ไขเอ็มโอยูของพรรคก้าวไกล ทางพรรคเสรีรวมไทย มีทั้งสิ้น 8 ข้อ และมีหมายเหตุไป 3 ข้อ อาทิ เรื่องสุราก้าวหน้า สมรสเท่าเทียม และม.112 ซึ่งเรียกว่าเป็นการเสริมให้พรรคก้าวไกลได้นำไปพิจารณา ส่วนจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบนั้น คาดว่าน่าจะทราบพร้อมกันในวันพรุ่งนี้ 22 พฤษภาคม

 

สำหรับประเด็นมาตรา 112 ที่คนตั้งข้อสังเกตว่า แก้ไข หรือ ยกเลิก แต่ไม่ได้บรรจุอยู่ในเอ็มโอยู จะเป็นปัญหาหรือไม่ เรื่องนี้หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยมองว่า ใส่เข้าไปยิ่งมีปัญหา เพราะเอ็มโอยูเป็นข้อตกลงที่จะมาทำงานร่วมกันอย่างกว้างๆ ไม่ควรเอาประเด็นปลีกย่อยอย่าง “สุราก้าวหน้า เกณฑ์ทหาร สมรสเท่าเทียม หรือ ม.112” มาใส่ ควรไปเสนอในสภาดูว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ผ่านไม่ผ่านเป็นเรื่องของเสียงส่วนมาก ยิ่งถ้ามาใส่ประเด็นนี้ในเวลานี้ สว.เอามาตีเป็นประเด็น แทนที่จะมาร่วมโหวตให้คุณพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าไม่มีสว.ก็มากล่าวอ้างไม่ได้ พร้อมฝากถึงสว. ถ้าไม่เห็นด้วยกับการตั้งรัฐบาลของก้าวไกล หรือให้ “พิธา” เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เอาเรื่องคุณสมบัติมาพูด

 

ส่วนประเด็นเสียงขั้วก้าวไกลถือ 313 เสียงเวลานี้ ไม่เพิ่มสว. ตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ ตรงนี้ พรรคเสรีรวมไทยบอกเลยว่า ไม่เพิ่มเสียงลำบาก จริงๆ 313 ก็ตั้งได้ เทียบสมัยพล.อ.ประยุทธ์ มีเสียงสว.โหวตให้เกือบ 100% ได้ 500 เสียง แต่ในเวลานี้ขั้วก้าวไกลมี 313 เสียง ก็ต้องดูที่เสียงสว.ถ้าไม่ลงก็ลำบาก เพราะในความเป็นจริงก็มีทั้งคนแต่โหวตให้ และไม่โหวต แต่ก็ไม่รู้จำนวนที่แน่นอน ซึ่งฝั่งพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์มองว่า ทุกคนควรสนับสนุนให้คุณพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะผ่านการเลือกตั้ง และเป็นพรรคที่ได้รับคะแนนสูงสุด เพราะเลือกตั้งจบแล้ว ต้องช่วยกันทุกทาง เพื่อส่งให้คุณพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เช่นนั้นประชาธิปไตยก็จะหยุดแค่นี้ ประเด็นสว.โหวตให้พิธานั้น ก็มีการส่งชื่อให้เจ้าตัวไปบาง บางส่วนก็ไม่รับโทรศัพท์ ก็ขอเวลาตัดสินใจ ซึ่งยังมีเวลา

 

มีข่าวลือว่า พรรคขั้วประชาธิปไตยอาจเปิดดีลลับเป็นอีกหนึ่งสูตรจัดตั้งรัฐบาลนั้น ทางพรรคเสรีรวมไทยออกตัวก่อนว่าพรรคเราเป็นพรรคเล็ก ยังไม่ได้ใส่ใครใครเท่าไหร่ ส่วนตัวยังไม่มีใครติดต่อชวน เพราะเสรีรวมไทยมี 1 เสียง ไม่เห็นอะไร ที่รวมกัน 8 พรรค เพราะเป็นขั้วประชาธิปไตย

 

แบ่งเค้กกระทรวงระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ขั้วก้าวไกลนั้น มีการตั้งข้อสังเกตว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ อาจได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง เจ้าตัวไม่ยอมรับหรือไม่ได้ปฏิเสธอะไร บอกเพียงว่า สามารถทำหน้าที่ได้ทุกกระทรวง ตั้งแต่ทำงานมาไปอยู่ที่ไหนก็มีแต่ผลงาน เพราะส่วนตัวเป็นคนขยัน