ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ พาผู้เสียหายสูญเงินนับล้านบาท เข้าร้องกระทรวงยุติธรรม ถูกผัวเมียแอบอ้าง "บิ๊กโจ๊ก" หลอกให้ร่วมลงทุนตัดเย็บเสื้อส่งกรมราชทัณฑ์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

วันที่ 22 มีนาคม 2566 ที่บริเวณหน้าศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ อาคารกระทรวงยุติธรรม นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม พาผู้เสียหาย 4 ราย มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 15 ล้านบาท จากกรณีถูกคู่สามีภรรยาคู่หนึ่งมาชักชวนให้ร่วมลงทุนตัดเย็บชุดชั้นในชายของกรมราชทัณฑ์ 1 ,800,000 ตัว เสื้อกรมราชทัณฑ์ เสื้อสถานพินิจ อย่างละกว่า 1 ล้านตัว และเสื้อของสโมสรตำรวจ 300,000 ตัว โดยสามีภรรยาคู่นี้ได้ชักชวนนักลงทุนให้ลงทุนเพื่อจะได้มีผลประกอบการ อ้างว่าจะได้ผลประกอบการการลงทุน 200 เปอร์เซ็นต์ โดยจะมีเงินปันผลให้ผู้ร่วมลงทุน 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อผู้ร่วมลงทุนหลงเชื่อก็เริ่มเงียบหาย จึงต้องพาผู้เสียหายมาที่กระทรวงยุติธรรม เพื่อให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมช่วยตรวจสอบว่ากรมราชทัณฑ์มีการจัดซื้อจัดจ้างตัดเย็บเสื้อผ้าตามจำนวนที่ระบุจริงหรือไม่ และมีการจัดซื้อจัดจ้างกับผู้ชักชวนร่วมลงทุนรายนี้หรือไม่ รวมทั้งขอฝากไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า ทางสโมสรตำรวจได้มีการจัดซื้อ-จัดจ้าง เสื้อตำรวจ 300,000 ตัวจริงหรือไม่

คุณเอ (นามสมมุติ) หนึ่งในผู้เสียหาย เปิดเผยว่า รู้จักกับสามีภรรยาคู่นี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 จากเพื่อน ซึ่งเพื่อนก็ถูกหลอกให้ร่วมลงทุนเช่นกัน ซึ่งตนเองและเพื่อนได้เดินทางไปที่บ้านของสามีภรรยาคู่นี้ โดยลักษณะของบ้านเปิดเป็นโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า ตั้งอยู่ในตำบลศาลากลาง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เมื่อไปถึงก็พบว่า มีเสื้อที่สกรีนชื่อเรือนจำหลายแห่งอยู่ภายในบ้าน และมีการตัดเย็บผ้าจริง โดยตัวภรรยาอ้างว่า ตนเองตัดเย็บเสื้อให้กับทางสโมสรตำรวจ 300,000 ตัว และที่ได้งานนี้มาทำเพราะสามีเป็นที่ปรึกษาของ "บิ๊กโจ๊ก" พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งที่ชวนมาร่วมลงทุนเพราะอยากได้ทุนมาทำงาน ซึ่งมีออเดอร์จากหน่วยงานราชการจำนวนมาก

โดยตนเองได้ร่วมลงทุนไปทั้งหมดประมาณ 10 ล้านบาท เป็นการทยอยร่วมลงทุน โดยช่วงแรกโอนไปประมาณ 4 ล้านบาท ก็ได้ผลตอบแทนคืนมา 2 ล้านกว่าบาท ส่วนที่เหลือมอ้างว่าจะคืนทุนให้ช่วงวันที่ 7 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา แต่พอถึงกำหนดจริงๆ กลับเงียบหาย และพบว่าตัวภรรยาไปอยู่ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พอมาตามกับสามีที่บ้านจังหวัดนนทบุรี กลับบอกว่าหย่ากันแล้วและบ่ายเบี่ยงที่จะรับผิดชอบ บอกแต่เพียงว่าจะไปตามอดีตภรรยามาเคลียร์เรื่องนี้ให้ พร้อมยังบอกอีกว่าเป็นที่ปรึกษาบิ๊กโจ๊ก ซึ่งตนเองก็ไม่ทราบว่าเขาต้องการจะสื่อถึงอะไร

ด้านคุณบี และคุณซี สองสามีภรรยา ผู้เสียหายอีกราย ระบุว่า ตนเองและสามีร่วมลงทุนไปเกือบ 5 ล้านบาท ซึ่งที่หลงเชื่อร่วมลงทุน เพราะว่าเมื่อไปดูที่บ้านแล้วพบว่าค่อนข้างน่าเชื่อถือ มีการตัดเย็บเสื้อผ้าจริง ซึ่งการโอนให้สองสามีภรรยาคู่นี้เป็นการทยอยโอน เนื่องจากตัวภรรยามักอ้างว่ามีการทำผ้าขาดทุน ต้องเอาเงินไปหมุน เพื่อที่จะได้ผ้าออกมาให้ออเดอร์แล้วเสร็จ ช่วงแรกได้เงินปันผลกลับมา 1 ล้านกว่าบาท ขณะที่ตอนหลังออกเป็นเช็ค อ้างว่าคืนทุนและผลกำไรให้ แต่กลับไม่สามารถขึ้นเงินได้ ซึ่งที่ผ่านมาตนเองต้องไปเอาจากที่อื่นมาด้วย เพราะกลัวงานจะมีปัญหา แต่สุดท้ายกลับไม่ได้ทุนคืนมา

ทนายรณณรงค์ ระบุว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกง ตามมาตรา 341 แต่สิ่งสำคัญคือ การฉ้อโกงครั้งนี้มีการแอบอ้างเกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐ จึงจำเป็นต้องมาที่กระทรวงยุติธรรมตรวจสอบ และอยากขอให้พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ ออกมาชี้แจงด้วยว่า ผู้ที่ชักชวนให้ผู้เสียหายร่วมลงทุน เป็นที่ปรึกษาของรอง ผบ.ตร. จริงหรือไม่

ขณะที่กรมราชทัณฑ์ ได้เผยแพร่เอกสารชี้แจงว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว โดยนายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และโฆษกประจำกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า กรมราชทัณฑ์ได้ตรวจสอบแล้ว พบว่า ไม่ได้มีการจ้างงานในลักษณะดังกล่าวแต่อย่างใด และหากเป็นการว่าจ้างหน่วยงานภายนอก จะต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการทุกขั้นตอน พร้อมเตือนประชาชนอย่าได้หลงเชื่อบุคคลที่แอบอ้างในการว่าจ้างให้ผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ หากมีข้อสงสัยให้สอบถามมายังกรมราชทัณฑ์โดยตรง