เผยเอกสาร 1 ในตำรวจนำขบวนนักท่องเที่ยวจีน ถูกขอตัวมาช่วยราชการขับรถนำขบวนให้นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ คาดใช้เวลานอกราชการรวมกลุ่มกับเพื่อนที่นำขบวน รับงานโดยใช้รถส่วนตัว

วันที่ 22 ม.ค. 2566 จากคลิปนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีนที่ใช้บริการรถตำรวจนำขบวน ซึ่งต่อมาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสั่งให้ตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า มีตำรวจท่องเที่ยว 1 นาย คือ ร้อยตำรวจเอกสมพล ภิญโญสโมสร ตำแหน่งรองสารวัตร กองกำกับการ 3 (รับผิดชอบสนามบินสุวรรณภูมิ) สังกัดกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว 1 และตำรวจกองบังคับการตำรวจจราจร 2 นาย คือ สิบตำรวจเอกธนกร นุกูลธนกิจ และสิบตำรวจเอกธนวัฒน์ สิมะขจรบุญ ที่ปรากฏอยู่ในคลิปวิดีโอดังกล่าว

ขณะนี้ทั้งสองหน่วยงานได้มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พร้อมกับให้ย้ายเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์ปฏิบัติการ และอยู่ระหว่างการพิจารณาลงโทษ นอกจากจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบผู้ที่ปรากฏอยู่ในคลิปแล้ว ยังมีคำสั่งให้ตรวจสอบถึงผู้บังคับบัญชา ตั้งแต่ระดับผู้กำกับการ รองผู้กำกับการ และสารวัตรที่ควบคุมการปฏิบัติงานของตำรวจที่ปรากฏในคลิปวิดีโอ พร้อมกับให้จเรตำรวจแห่งชาติ เรียกทั้ง 3 คน มาสอบสวนดำเนินการทางวินัยเพิ่มเติม

ขณะที่ภายในกองบังคับการตำรวจจราจร มีรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ ยามาฮ่า รุ่น เอ็มที-09 เทรเซอร์ สีขาว หมายเลขทะเบียน 1 ขภ 85 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นรถคันที่ปรากฏอยู่ในคลิปวิดีโอวขับรถนำนักท่องเที่ยวจีนจอดอยู่ โดยรถคันนี้ไม่มีตราสัญลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือกองบังคับการตำรวจจราจร รวมทั้งป้ายทะเบียนที่เป็นป้ายของรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล แต่มีการตกแต่งโดยติดสัญญาณไซเรน และไฟวับวาบไว้ที่รถด้วย นอกจากนั้นยังมีถุงมือ และผ้าคลุมศีรษะสีดำ วางอยู่ด้านหน้าคอนโซลรถ

มีรายงานว่า ผู้บังคับบัญชาของตำรวจจราจรทั้ง 2 นาย ได้เรียกให้เข้ามาชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่กองบังคับการตำรวจจราจร โดยขณะนี้ยังไม่มีบุคคลใดให้ข้อมูลผลการสอบสวน

นอกจากนี้ มีรายงานอีกว่า ในส่วนของสิบตำรวจเอกธนกร ทีมข่าวพบเอกสารขอตัวมาช่วยราชการ เพื่อให้ขับรถนำขบวนให้กับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหารต่างประเทศ พร้อมกับรถจักรยารยนต์นำขบวน ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2565 อ้างอิงถึงหนังสือขอยืมตัวช่วยราชการ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 และขอต่ออายุอีกครั้งในวันที่ 26 มีนาคม 2565 ซึ่งจะครบกำหนดการขอช่วยราชการในวันที่ 26 มีนาคม 2566

เบื้องต้นพบว่า อาจจะใช้เวลานอกราชการรวมกลุ่มกับกลุ่มเพื่อนที่นำขบวนรัฐมนตรีมารับงานประเภทนี้ โดยใช้รถยนต์ส่วนตัว เนื่องจากการตรวจสอบเบื้องต้นยังมีรายงานว่า รถเก๋งที่ติดสัญญาณไฟไซเรนและโลโก้ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล ไม่ใช่รถของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เช่นเดียวกันกับรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ที่พบจอดอยู่ในกองบังคับการตำรวจจราจร ซึ่งการกระทำดังกล่าวยังไม่ถือว่าเข้าข่ายความผิดวินัยร้ายแรง ส่วนจะมีโทษทางวินัยอย่างไรต้องรอผลการตัดสินของผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดของทั้งสองนายอีกครั้ง