โควิดรอบนี้ไม่เล็กแน่นอน !! "หมอธีระ" เผยยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูง หวั่นคลัสเตอร์ "คอนเสิร์ตบิ๊ก" แนะตรวจ ATK สังเกตอาการตัดวงจรแพร่สู่คนในครอบครัว

12 ธ.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีการแพร่ระบาดของโควิด -19 ที่กลับมาเพิ่มขึ้นมาในขณะนี้ นายแพทย์ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงประเด็นนี้ว่า

 

"เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 285,500 คน ตายเพิ่ม 433 คน รวมแล้วติดไป 653,604,873 คน เสียชีวิตรวม 6,658,290 คน5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส ฮ่องกง และไต้หวัน"

 


"เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลกจำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 95.13 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 97.69"

 


"...ยุบยับ...ยากกว่ายุง"ยุงร้ายกว่าเสือ" นั้นเป็นคำกล่าวที่เราเคยได้ยินกันบ่อยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และสะท้อนความเป็นจริง หากเปรียบยุงกับเสือแล้ว แม้เผชิญหน้ากับเสืออาจถึงชีวิตได้ แต่โอกาสเจอเสือนั้นยากยิ่งนักในปัจจุบัน ขณะที่ยุงเป็นสัตว์ที่พบได้ชุกชุมทั่วไป มีหลากหลายชนิด และเป็นพาหะนำโรคต่างๆ ได้มาก อาทิ ไข้เลือดออก มาลาเรีย ไข้เหลือง ไข้สมองอักเสบญี่ปุ่น ชิกุกุนย่า ซิก้า เวสต์ไนล์ โดยแต่ละโรคก็ทำให้ป่วย ป่วยหนักรุนแรง เสียชีวิต รวมถึงเกิดปัญหาเจ็บป่วยเรื้อรังระยะยาวตามมาได้"

 

"แต่สำหรับยุงกับโควิด-19 นั้น การป้องกันยุงมีหลากหลายวิธี และยังทำได้สะดวกกว่าการจัดการป้องกันโควิด-19 ที่ปล่อยให้เกิดการระบาดหนักไปแล้ว ทั้งนี้เพราะยุงนั้นยังพอสังเกตเห็นได้ รู้แหล่งและเวลาที่พบมาก แต่ ณ ปัจจุบัน การแพร่ระบาดหนักของโควิด-19 นั้นยากที่จะควบคุม เพราะสามารถแพร่เชื้อไปยังคนอื่นได้ทั้งช่วงที่คนคนนั้นไม่มีอาการไปจนถึงช่วงที่มีอาการ ช่วงเวลาที่มีโอกาสแพร่เชื้อได้ก็กินเวลานานได้ถึง 10-14 วันนับจากที่ติดเชื้อมา หากไม่ได้ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอทั้งฝ่ายคนที่ติดเชื้อ เสี่ยงติดเชื้อ และคนทั่วไป ความเสี่ยงย่อมมีแน่นอนระหว่างดำรงชีวิตประจำวัน เกิดติดเชื้อแพร่เชื้อกันได้โดยไม่รู้ตัว หรือไม่ทันระวังตัว"

 


"นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราเห็นการรณรงค์ให้ไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นกันให้ครบตามที่กำหนด เพื่อหวังว่าจะช่วยลดโอกาสป่วยรุนแรงเวลาที่ติดเชื้อมา ลดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิต และลดความเสี่ยงของ Long COVID ไปได้บ้าง สิ่งที่เราทำได้นอกเหนือไปจากวัคซีนคือ การป้องกันตัวอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ (Primary prevention) ด้วยการใส่หน้ากากเสมอเวลาใช้ชีวิตนอกบ้าน ล้างมือ เว้นระยะห่างจากคนอื่น เลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น หากต้องพบปะพูดคุยใกล้ชิดก็ควรใช้เวลาสั้นๆ ไม่ไปในที่อโคจร ที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี"

 


"สุดท้ายคือ หากไม่สบาย หรือสงสัยว่ามีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ ก็ควรตรวจ ATK ด้วยตนเอง (Secondary prevention)ดังที่เคยแนะนำไว้มาตลอดว่า ถ้ามีอาการไม่สบาย ตรวจแล้วผลบวกแปลว่าติดเชื้อ ก็ให้แยกตัวจากผู้อื่นอย่างน้อย 7-10 วันจนกว่าอาการจะดีขึ้น ไม่มีไข้ และตรวจ ATK ซ้ำได้ผลลบ จึงค่อยออกมาใช้ชีวิตและป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดจนครบสองสัปดาห์ แต่หากไม่สบาย ตรวจได้ผลลบ อย่าเพิ่งวางใจ ให้ตรวจซ้ำทุกวันอย่างน้อย 3 วันติดกัน ส่วนคนที่ไปคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ หรือประเมินตนเองว่ามีความเสี่ยง ก็ตรวจ ATK วันเว้นวัน จำนวน 3 ครั้งใน 5 วันมองความเป็นไปรอบตัว"

 

"ข่าวบันเทิง คอนเสิร์ตต่างๆ ที่จัดใหญ่โต คนแออัดจำนวนมาก กินดื่มกัน เต้นรำใกล้ชิด ตะโกนร้องเฮฮา และไม่ใส่หน้ากาก แม้จะอยู่ในที่โล่งแจ้ง แต่ความเสี่ยงย่อมมีแน่นอน และหากเป็นการจัดในตัวอาคาร ความเสี่ยงก็จะมากขึ้นไปอีกขอให้ช่วยกันประเมินตนเองในสัปดาห์ถัดจากนี้ สังเกตอาการไม่สบายหลังจากไปร่วมกิจกรรมเหล่านั้น ว่ามีไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล ไข้ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ เหนื่อยหอบ ฯลฯ หรือไม่ ถ้าจะให้ดี ก็ควรตรวจ ATK ตั้งแต่วันที่กลับจากกิจกรรมเลยดังคำแนะนำข้างต้น เพื่อตัดวงจรแพร่ระบาดที่จะเกิดขึ้นในครอบครัว ซึ่งอาจส่งผลให้คนสูงอายุ และเด็กเล็กในบ้านเจ็บป่วยไม่สบายกันได้"

 

"ตอนนี้ติดเชื้อแพร่เชื้อกันมากจริงๆ ไม่ใช่เวฟเล็กแน่นอน มองด้วยตารอบตัวย่อมทราบกันดี ดูแลสุขภาพ ใส่ใจสุขภาพกันนะครับป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ ย่อมดีที่สุดการใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ...เป็นหัวใจสำคัญ"