"ชวน" ซัดสภาล่มบ่อย เหตุ ไม่มีหัวหน้ารัฐบาลในสภาทำให้คุมเสียงไม่ได้ เชื่อเหลือเวลา 2 เดือนพอดันกฎหมายสำคัญสำเร็จ ขอแต่ละพรรคกำชับให้ ส.ส.ร่วมประชุม

นายชวน หลีกภัย ประธานสภา เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง และ ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ได้ส่งไปยังนายกรัฐมนตรีแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา และตามกระบวนการของกฎหมายนายกรัฐมนตรีมีเวลา 5 วัน ก่อนที่จะนำร่างเข้าสู่กระบวนการประกาศบังคับใช้

 

พร้อมกันนี้ นายชวน กล่าวถึงร่างกฏหมายที่มีความจำเป็นและสำคัญที่จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ เช่น ร่าง พ.ร.บ. ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือ ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยนราธิวาส ราชนครินทร์ ว่า เป็นเรื่องด่วน ที่ครม.ส่งมา รวมถึงร่างกฏหมายฉบับอื่นอีกกว่า 10 ฉบับ โดยย้ำว่าหากรัฐบาลต้องการให้กฎหมายผ่านต้องดูแลเรื่ององค์ประชุมเพราะไม่เช่นนั้นจะไปไม่ถึง แต่ก็เชื่อเวลาที่เหลือของสภา 2 เดือน นั้นเพียงพอ หากองค์ประชุมไม่มีปัญหา

 

ทั้งนี้ ได้นัดประชุมเพิ่มเติมในวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม จากนั้นก็จะไม่ได้นัดวันศุกร์ไปจนถึงช่วงปีใหม่ และจะหารือวิป ทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อเคลียร์วาระการพิจารณา โดยในเรื่ององค์ประชุมนั้นตนได้ปรึกษานายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ในฐานะรัฐบาล ให้ขอเป็นคนกลางประสานพรรครัฐบาล ขอความร่วมมือร่วมการประชุมสภาฯ เพราะการประชุมสภาเป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย แต่กลไกระบบนี้รัฐบาลเสียงข้างมากต้องคุมเสียงให้สภาฯพิจารณาไปได้ โดยอยากให้แจ้ง นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีแต่ละพรรคแจ้งสมาชิกเข้าประชุม พร้อมย้ำขอความร่วมมือทุกฝ่าย ในการให้ความร่วมมือการประชุม เพราะเวลาเป็นของมีค่า ที่จะใช้ระยะเวลาที่เหลือทำงานด้านกฎหมายให้ประชาชน โดยหวังได้รับความร่วมมือดีกว่าที่ผ่านมา เพราะที่ผ่านมา ยอมรับยากทำให้องค์ประชุมครบ

 

อย่างไรก็ตามสมัยประชุมสภาจะปิดในวันที่ 28  กุมภาพันธ์ 2566 แต่ตอนนี้ญัตติ อภิปรายทั่วไปมาตรา152 ของฝ่ายค้านก็ยังไม่ได้เสนอมา ก็ต้องเผื่อเวลาให้ส่วนนี้ด้วย การที่องค์ประชุมสภาล่มบ่อยในช่วงนี้ ไม่ใช่เกมการเมืองในสภาเพื่อยื้อร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง  แต่เป็นเรื่อง ที่ฝ่ายค้านไม่ร่วมเป็นองค์ประชุมในการโหวตมาตรา 9/1 ร่าง พ.ร.บ. การเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น  พร้อมยอมรับกรณีสภาล่มวันที่ 7 ธันวาคมนั้น ตัวเองก็ลืมกดบัตรแสดงตนเช่นกัน แต่ขอสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่าย่อท้อเพราะเชื่อว่ายังมีเวลาเพียงพอที่จะทำงาน และในสัปดาห์ต่อๆไปขอให้รับผิดชอบมาร่วมประชุม

 

อีกทั้ง เชื่อว่าปัญหาองค์ประชุมล่มไม่ได้มีเหตุมาจาก ส.ส.โดดประชุม ทำพื้นที่พบชาวบ้านหาเสียง แต่สมาชิกบางคนไปภารกิจต่างประเทศ และก็มีสมาชิกบางคนไม่ทราบหายไปไหนมีทุกพรรค ทั้งนี้หากมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาร่างกฏหมายสำคัญและต้องเปิดการประชุมวิสามัญก็สามารถทำได้ ซึ่งจะต้องเปิดในช่วงเดือนมีนาคม 2566 แต่ส่วนตัวประเมินว่าขนาดการประชุมสามัญธรรมดาองค์ประชุมไม่ครบ การเปิดสภาสมัยวิสามัญจึงอาจจะยาก 

 

สภายุคนี้ต่างจากสมัยก่อนที่นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในฐานะเสียงข้างมาก แต่ตอนนี้นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เป็น ส.ส.เข้าสภา มอบแต่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมาดูแล ซึ่งก็ดูแลไม่ทั่วถึง ในสภาฯ ขณะนี้จึงต้องทำหน้าที่กันเอง ประธานสภาและรองประธานสภาต้องหารือกันเอง  แทนที่จะเป็นฝ่ายบริหารเข้ามาดูแล ก็ทำให้ไม่เหมือนสมัยก่อน โดยหวังว่าเมื่อแจ้งนายวิษณุไปแล้วจะแจ้งต่อนายกรัฐมนตรีรับทราบเพื่อให้เรียกหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลมาหารือให้แต่ละพรรคต้องกำชับลูกพรรค