กทม.จัดเจ้าหน้าที่ลุยเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา เตรียมนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี

วันที่ 8 พ.ย. 2565 เมื่อเวลา 21.00 น. นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร นำสื่อมวลชนตรวจเยี่ยม การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ กรุงเทพมหานครในการจัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา ณ บริเวณท่าเรือ สะพานพุทธยอดฟ้า เขตพระนคร

รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อมได้จัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดคอยเก็บ กระทงบนผิวน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่สะพานพระราม 8 ถึงสะพานพระราม 9 ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร โดยได้ เตรียมเจ้าหน้าที่ และวัสดุ อุปกรณ์ ยานพาหนะในการจัดเก็บกระทง จำนวน 189 คน เรือเก็บขยะ จำนวน 30 ลำ ติดตั้งไฟส่องสว่างทุกลำ เรือขนถ่ายและลำเลียงวัชพืช จำนวน 2 ลำ จอดที่ปากคลองโอ่งอ่าง เขตพระนคร เรือเก็บขนและลำเลียงวัชพืช จำนวน 2 ลำ เรือตรวจการณ์ จำนวน 2 ลำ รถตรวจการณ์ จำนวน 5 ตัน รถบรรทุกเทท้าย จำนวน 9 คน ใช้ในการ เสียงกระทงไปส่งที่สถานีขนถ่ายมูลฝอย ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของวันที่ 8 พ.ย. 65 จนถึงเวลา 05.00 น. ของวันที่ 9 พ.ย. 65 จากนั้นจะลำเลียงกระทงที่จัดเก็บได้ ขึ้นรถ 2 จุด คือบริเวณปากคลองโอ่งอ่าง เขตพระนคร และท่าคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ เขตราษฎร์บูรณะ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะรวบรวมขนย้ายไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดมูลฝอย ทั้ง 3 แห่งของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สถานีขนถ่ายมูลฝอยอ่อนนุช หนองแขมและสายไหม เพื่อกำจัดต่อไป สำหรับกระทง ที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติจะมีการคัดแยกเข้าโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์หนองแขม ซึ่งเป็นการนำกระทงกลับมาใช้ประโยชน์ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการนํากระทงไปฝังกลบ

สำหรับสถิติการจัดเก็บกระทงในปี 2564 ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครจัดเก็บกระทงได้ จำนวน 403,235 ใบ จากสถิติ การจัดเก็บกระทง เมื่อเทียบกับปี 2563 ปริมาณกระทงที่จัดเก็บได้ จํานวน 492,537 ใบ และแนวโน้มปริมาณกระทงที่ทำ จากวัสดุธรรมชาติ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 96.40 เป็น 96.46 ในขณะที่การใช้กระทงโฟมมีปริมาณลดลงจากร้อยละ 3.60 เป็น 3.54 เนื่องจากกรุงเทพมหานครได้มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องให้ประชาชนหันมาใช้กระทงที่ทำจากวัสดุ ธรรมชาติหรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่าย เช่น กระทงที่ทำจากหยวกกล้วยและใบตอง แป้งมันสำปะหลัง ชานอ้อย ซึ่งจะเป็น การช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและได้ขอความร่วมมือเขตแจ้งสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและคลอง ในพื้นที่ที่มีการลอยกระทงงดใช้กระทงโฟม รวมถึงรณรงค์วิธีลดปริมาณขยะ หลังคืนลอยกระทง โดยให้ประชาชนลอยกระทง รวมกัน โดยร่วมลอย 1 ครอบครัว คู่รัก/1 กลุ่ม/ สำนักงานต่อ 1 กระทง เลือกกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ขนาดเล็ก ใช้วัสดุไม่หลากหลาย เพื่อลดภาระในการคัดแยกอีกด้วย

ทั้งนี้ สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักงานเขต และสำนักการระบายน้ำ จะรวบรวมผลการจัดเก็บกระทง ส่งให้ สำนักสิ่งแวดล้อม ก่อนเวลา 05.00 น. พร้อมตรวจสอบข้อมูลก่อนรายงานผลการจัดเก็บกระทงให้เสร็จภายในเวลา 07.00 น. ของวันพุธที่ 9 พ.ย. 65 และจะรายงานผลผ่านเว็บไซต์ www.bangkok.go.th และสื่อออนไลน์ของกรุงเทพมหานครต่อไป