"มท.1" เผยรัฐบาลเตรียมปรับมาตรการขออนุญาตปืนใหม่ ผู้บังคับบัญชาต้องรับรองความประพฤติ จ่อออกกฎหมายคืนปืนเถื่อน ไม่มีโทษทางอาญา คาดโทษฝ่ายปกครองหากละเลยเจอหยุดปฏิบัติหน้าที่แน่นอน

พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมเพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน ว่า เรื่องอาวุธปืนแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ปืนที่มีใบอนุญาตและปืนเถื่อน

สำหรับอาวุธที่ขออนุญาตของใหม่นี้จะมีมาตรการตรวจสอบพื้นฐานคุณสมบัติ โดยจะต้องมีการตรวจสอบเรื่องของจิตใจ เรื่องของสุขภาพจิตด้วย จะมีการเขียนรายละเอียดว่านายแพทย์จะต้องรับรอง ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากสติฟั่นเฟือน แต่อยู่ที่ความประพฤติของแต่ละคนด้วย ซึ่งแพทย์ไม่สามารถระบุได้  หากเป็นข้าราชการ ผู้บังคับบัญชาจะต้องรับรองความประพฤติ เช่น ไม่ดื่มสุราอย่างขาดสติ หรือเป็นคนที่มีอารมณ์รุนแรง ต้องมีความประพฤติไม่เป็นภัย โดยสรุปผู้ที่จะมาขอซื้ออาวุธปืนจะต้องมีการรับรองเรื่องความประพฤติด้วย

ส่วนคนที่มีอาวุธแล้ว จะต้องทบทวนในการให้มีและใช้อาวุธปืนได้ หมายถึงมีใบ ป.4 ใช้อาวุธได้ จะใช้เวลาในการทบทวน 3 ปีหรือ 5 ปี  และจะต้องทบทวนความประพฤติด้วยหรือไม่ รวมถึงผู้ที่พ้นหน้าที่ไปแล้ว มีความจำเป็นหรือไม่ในการใช้อาวุธ ถ้าไม่จำเป็นก็เพิกถอนได้ แต่ในกรณีที่ใครไปมีความผิดตรงนี้จะเพิกถอนเลย

เช่น ถ้าให้มีอาวุธปืนได้ แต่ไม่ได้ให้พกพา สื่อต้องทำความเข้าใจกับสังคมด้วยว่า มีให้ใช้คือเอาไว้ที่บ้านป้องกันทรัพย์สิน ไม่ได้ให้พกพาเอาไปไหน ถ้าพกพาอาจเพิกถอนได้ หากไปดื่มสุราและนำปืนไปด้วยตรงนี้ก็อาจจะเพิกถอน ซึ่งมีกฎหมายในการเพิกถอนอยู่

ส่วนอาวุธเถื่อนทั้งหมดได้ข้อยุติว่าจะต้องออกกฎหมายให้นำมาคืน ทำอย่างนี้มาแล้ว แต่คราวนี้ให้นำมาคืนโดยไม่มีความผิดทางอาญาและไม่ให้ขึ้นทะเบียน ส่วนถ้าใครยังครอบครองต่อไป ทางตำรวจจะเข้มงวดทางกฎหมายเกี่ยวกับการค้าอาวุธ

ส่วนเรื่องยาเสพติด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเน้นว่า ในเรื่องของอุปทาน ทั้งแหล่งผลิตทั้งหมด ขบวนการทั้งหมด ทุกฝ่ายต้องเข้มงวดในการปฏิบัติ ถ้าในพื้นที่ไหนเจ้าหน้าที่มีการปล่อยปละละเลย จะมีผลทั้งทางกฎหมายและทางราชการ เช่น ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยถ้าคนในหมู่บ้านรู้ว่ามี แต่ทางฝ่ายปกครองไม่รู้จะต้องมีการประเมินในทางกฎหมาย ถ้าให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ก็จะทำ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตามกลไกปราบปรามยาเสพติดทำงาน ต้องดำเนินการทั้งแหล่งผลิต การยึดทรัพย์ เจ้าหน้าที่จะต้องเข้มงวด ส่วนอุปสงค์จะต้องไม่ให้คนใหม่เข้าสู่ระบบ กระทรวงศึกษาและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะต้องเข้าไปช่วยไม่ให้คนใหม่เข้าสู่ระบบ