สธ. ตั้งเป้าเพิ่มอัตราเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นาน 6 เดือน ให้ได้ 30% ลงนาม MOU ร่วม 7 องค์กร ส่งเสริมมีมุมนมแม่ในที่ทำงาน

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระ ทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การดำเนินงานเรื่องนมแม่ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพราะนมแม่มีทั้งคุณค่าอาหาร มีวิตามิน มีภูมิคุ้มกันต่าง ๆ จำนวนมาก ที่สำคัญ ยังมอบความอบอุ่นให้กับเด็กที่จะติดตัวไปจนโตอีกด้วย

ปัญหาคือ โอกาสการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในปัจจุบันค่อนข้างยาก เพราะแม่ต้องทำงานนอกบ้าน ขณะที่ที่ทำงานก็ไม่เอื้ออำนวยต่อการบีบเก็บน้ำนม ทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือนของไทย ค่อนข้างต่ำมาก คือ 12.3%

ซึ่งเป้าหมายคือจะต้องถึง 30% ให้ได้ โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกัน ซึ่งการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญในการดำเนินงาน โดยเฉพาะภาคประชาสังคมที่จะช่วยให้การทำงานเรื่องนมแม่ประสบความสำเร็จ

นางพรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ประเทศไทยมีสถานประกอบกิจการถึง 400,000 แห่ง ถือเป็นความท้าทายที่จะผลักดันให้เกิดสวัสดิการด้วยการมีมุมนมแม่ในที่ทำงาน เพื่อให้ผู้หญิงวัยทำงานมีโอกาสได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในอัตราที่สูงขึ้น

ซึ่งจากการรณรงค์พบว่า ขณะนี้สถานประกอบกิจการมีมุมนมแม่แล้วจำนวน 1,268 แห่ง ลูกจ้างได้รับประโยชน์โดยใช้บริการมุมนมแม่จำนวน 8,902 คน สามารถลดค่าใช้จ่ายของลูกจ้างประมาณ 213 ล้านบาท โดยคิดจากจำนวนเดือนที่ลูกจ้างเลี้ยงดูบุตรด้วยนมแม่อย่างต่ำ 6 เดือน ประมาณการค่าใช้จ่ายในการซื้อนมผสมสำเร็จรูป 4,000 บาทต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนให้สถานประกอบกิจการมีมุมนมแม่นั้น คงไม่ได้ออกเป็นกฎหมายว่าทุกแห่งต้องมี แต่หากจัดเป็นสวัสดิการก็จะช่วยสร้างกำลังใจให้แก่พนักงาน ลดการลา การเจ็บป่วย และลดค่าใช้จ่าย ซึ่งสุดท้ายบริษัทเองก็จะได้ประโยชน์ด้วย ตรงนี้จึงเหมือนเป็นการทำซีเอส อาร์ของสถานประกอบกิจการในการช่วยสร้างชาติ

สธ.สั่งเพิ่มมุมนมแม่ในที่ทำงาน (มีคลิป)