อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยัน ไทยพบ ผู้ป่วย "ฝีดาษลิง" รายที่ 3 ในไทย เป็นหนุ่มเยอรมนีมาเที่ยวภูเก็ต เร่งตามผู้สัมผัสใกล้ชิด

 


วันที่ 3 ส.ค. 65 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยัน ตอนนี้กระทรวงสาธารณสุข พบผู้ป่วยฝีดาษลิง ราย 3 ในประเทศไทย เป็นชายชาวเยอรมันอายุ 25 ปี เดินทางมาไทย 18 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อมาท่องเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต โดยมีการรายงานอาการของผู้ป่วยรายนี้เข้าได้กับโรคฝีดาษลิง แต่หากดูจากระยะเวลาธาตุเป็นการติดเชื้อมาจากต่างประเทศ ส่วนรายละเอียดต้องรอการสอบสวนโรคจากสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต

สำหรับผู้ป่วยชายชาวเยอรมัน ประวัติเบื้องต้นมาเที่ยวและทำธุรกิจ ตอนนี้จากการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดและกลุ่มเสี่ยงพบว่ายังไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม ทั้งนี้โรคฝีดาษลิง อาการไม่รุนแรง ไม่ติดต่อง่าย เช่น 2 รายแรก พบว่า จากการติดตามไม่มีรายใดติดเชื้อเลย โดยผู้ที่อยู่ในข่ายสอบสวนโรค ต้องเฝ้าสังเกตอาการ 21 วัน หากดูจากความเสี่ยงของโรคฝีดาษลิง ข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก คือ ร้อยละ 98 มีประวัติเป็นชายรักชาย ซึ่งการพบผู้ป่วยในไทย 3 ราย เป็นชายทั้งหมด ต่างชาติ 1 ราย คนไทย 1 ราย มีประวัติสัมผัสกับคนต่างชาติ และรายที่ 3 ก็เป็นชายชาวต่างชาติ โดยผู้ป่วยชายชาวเยอรมัน ที่พบติดเชื้อฝีดาษลิงนี้เข้ามา จ.ภูเก็ต มีอาการไข้ต่อมน้ำเหลืองโต มีตุ่มตามร่างกายและอวัยวะเพศ ซึ่งอาการชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ฝีดาษลิงเป็นแล้วหายเองได้ ซึ่ง 2 รายแรก หายเอง ส่วนรายงานเสียชีวิตจากโรคฝีดาษลิงทั่วโลก ขณะนี้มี 3-4 รายเสียชีวิต โดยมีโรคประจำตัวร่วม และภาวะแทรกซ้อน ขณะนี้ยังไม่มียารักษาโรคฝีดาษลิงโดยเฉพาะเป็นการรักษาตามอาการ และให้ยาต้านไวรัส บางกลุ่ม ซึ่งการให้ยามีความจำเป็นเฉพาะกลุ่ม ไม่ได้ให้ยาทุกราย

ส่วนวัคซีนโรคฝีดาษ ที่กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบให้องค์การเภสัชกรรมในการจัดหาจัดซื้อนั้น คาดว่า สามารถนำเข้ามาในใช้ได้ในไทยเดือนสิงหาคม ส่วนข้อบ่งชี้ในการฉีดวัคซีนนั้น คณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ได้กำหนดไว้ 2 กลุ่ม กลุ่มที่ยังไม่มีประวัติติดเชื้อแต่เป็นกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เช่น เจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องอยู่กับการตรวจเชื้อและเพาะเชื้อ กลุ่มที่ดูแลผู้ป่วยติดเชื้ออย่างใกล้ชิด กลุ่มผู้สัมผัสเชื้อไม่เกิน 14 วันจะให้รับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษที่เชื่อว่าป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ โดยรายละเอียดที่ชัดเจน คณะกรรมการจะเป็นผู้พิจารณาต่อไป

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตามที่ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน หรือ อีโอซีกระทรวงสาธารณสุข เห็นชอบแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคฝีดาษวานร สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ในโรงพยาบาล (รพ.) เมื่อวันที่ 1 ส.ค.65 ขณะนี้ กรมการแพทย์ได้ประกาศแนวทางดังกล่าว โดยหากพบผู้ป่วยที่สงสัยป่วยโรคฝีดาษลิง ขอให้รับเป็นผู้ป่วยในรพ. (Admit) เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แน่นอน และเพื่อการควบคุมโรคไปในตัว โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่า สามารถตรวจเชื้อได้ใน 24 ชั่วโมง อย่างเร็วที่สุดคือ 3-4 ชั่วโมง

"แนวทางรักษา โดยหลักการเป็นโรคที่หายเอง แต่มีการพูดคุยเรื่องยาต้านไวรัสเผื่อไว้ด้วย ทั้งนี้ หากพบผู้ป่วยสงสัยเราจะแอดมิตจนแน่ใจว่าเป็นหรือไม่ จากนั้นจะต้องดูเป็นรายๆ ไป หากเราสามารถป้องกันควบคุมโรคได้ชัดเจน ไม่มีโรคประจำตัวที่น่ากังวล เราก็จะกลับไปรักษาที่บ้าน(Home Isolation) ซึ่งต่างประเทศเขาก็ทำแบบนี้ แต่ทั้งหลายต้องมั่นใจว่าไม่มีอาการแทรกซ้อน และสามารถป้องกันควบคุมโรคได้" นพ.สมศักดิ์กล่าว