แพทย์ชนบท เสนอทางแก้ยาฟาวิพิราเวียร์-โมลนูพิราเวียร์ ขาดแคลน ชี้แค่เลิกผูกขาดกับองค์การเภสัชฯ ปลดล็อกเอกชนนำเข้า มั่นใจราคายาถูกลง

 

หลังจากที่เพจเฟซบุ๊ก "ชมรมแพทย์ชนบท" โพสต์ข้อความ อ้างว่ายาฟาวิพิราเวียร์ และ โมลนูพิราเวียร์ขาดแคลนอย่างหนัก พร้อมเผยว่าโรงพยาบาลใหญ่ เหลือฟาวิฯ 2,477 เม็ด ใช้ได้เพียง 49 ราย โดยต้องอยู่ให้ถึงอย่างน้อย 22 ก.ค. ของจึงจะมา แปลว่าใช้ได้วันละไม่เกิน 10 คน พร้อมท้าองค์การเภสัชฯ แสดงหลักฐานว่ายาฟาวิฯ มีเพียงพอ

ทั้งนี้ ล่าสุดวันที่ 19 ก.ค.65 ทางชมรมแพทย์ชนบท ได้โพสต์ข้อความเพิ่มเติมจากประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า มีข้อเสนอให้ กระทรวงสาธารณสุขประกาศยกเลิกการผูกขาดยาฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ ตลอดจนยาแพกซ์โลวิด แก่องค์การเภสัชฯ และปลดล็อกให้บริษัทยาเอกชนนำเข้า แล้วให้รัฐกำหนดอัตราการเบิกจ่ายชดเชยคืนแก่โรงพยาบาลในราคาต้นทุน ซึ่งจะสามารถประหยัดได้กว่ามาก เพราะทันทีที่ยกเลิกการผูกขาด ราคายาจะถูกลงจนสังคมจะตั้งคำถามว่า ทำไมที่ผ่านมาซื้อล็อตใหญ่แต่ราคากลับสูงกว่า

"ฟาวิ โมลนูขาดหนัก แพทย์ชนบทมีข้อเสนอ

เลิกผูกขาด ยามีพอทันที แถมราคาถูกลง...

รัฐบาลผูกขาดการผลิตและจัดหายาฟาวิให้กับองค์การเภสัชกรรม พร้อมขายฝันว่า ไทยจะสามารถผลิตยาฟาวิป้อนให้โรงพยาบาลต่างๆได้เพียงพอ ต่อมาก็ขยายการผูกขาดสู่ยาโมลนูพิราเวียร์และแพกซ์โลวิดด้วย และนำมาสู่ปัญหายาขาดยาตลอดการสู้ภัยโควิด
ในความเป็นจริงทั่วโลกนั้นยาไม่ได้ขาด แต่ที่ประเทศไทยยาขาดเพราะการผูกขาด เพียงกระทรวงสาธารณสุขประกาศยกเลิกการผูกขาดโดยองค์การเภสัชกรรม ให้บริษัทเอกชนสามารถนำเข้าได้ ความขาดแคลนยาจะหายไปในทันที บทเรียนนี้ก็เช่นเดียวกับกรณีวัคซีนโควิดที่รัฐบาลให้องค์การเภสัชกรรมผูกขาดจนวัคซีนขาดแคลน แม้เอกชนสั่งและพร้อมนำโมเดิร์นน่าเข้ามาช่วย ก็ทำไม่ได้เพราะผูกขาดไว้ การยุติการผูกขาดเท่านั้นที่จะยุติภาวะยาขาดแคลนไปเลย

และเอาเข้าจริงๆ องค์การเภสัชกรรมก็ผลิตฟาวิกระพร่องกระแพร่งมากจนแทบจะไม่ได้ผลิต และหันมานำเข้าแทนเพราะถูกกว่า เช่นนี้แล้ว สธ.จะปิดกั้นเอกชนไปทำไม ให้เขานำเข้าด้วย ราคาฟาวิโมลนูจะถูกลง และไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน

จากข่าวที่สภาพัฒน์จะเสนอ ครม.ของบเงินกู้อีก 3,995 ล้านบาท ให้องค์การเภสัชกรรมซื้อยาฟาวินั้น ยิ่งควรเลิกใช้กลไกเก่าที่ปะผุจนชำรุดได้แล้ว เสียดายงบ

ชมรมแพทย์ชนบทเสนอให้ เลิกการผูกขาดยาฟาวิ โมลนู แพกซ์โลวิด ปลดล็อคให้บริษัทยาเอกชนนำเข้าได้ แล้วให้รัฐกำหนดอัตราการเบิกจ่ายชดเชยคืนแก่โรงพยาบาลในราคาต้นทุน เงินร่วม 4 พันล้านนี้นำไปจ่ายชดเชยให้โรงพยาบาลแทน จะสามารถประหยัดได้กว่ามาก เพราะทันทีที่ยกเลิกการผูกขาด ราคายาจะถูกลงจนสังคมจะตั้งคำถามว่า ทำไมที่ผ่านมาซื้อล็อตใหญ่แต่ราคากลับสูงกว่า

กทม. โรงพยาบาลเอกชน ร้านขายยา ขอจัดหาและจ่ายยาฟาวิและโมลนูพิราเวียร์ตามใบสั่งแพทย์ได้ เช่นนี้แล้วก็ควรปลดล็อคให้โรงพยาบาลของรัฐด้วย เพื่อปิดฉากความขาดแคลนฟาวิโมลนูอันเนื่องมาจากการผูกขาดขององค์การเภสัชกรรม รัฐวิสาหกิจที่ทุกโรงพยาบาลรู้ว่าขายยาแพงกว่าบริษัทยาคุณภาพของเอกชน"