“พิชัย” จี้ “นายกฯ” พลิกวิกฤตเป็นโอกาส สามารถทำได้ทันที ชี้ 4 โอกาสของไทยคือ พลังงาน อาหาร ธุรกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมอนาคต แนะต้องปรับประเทศเพื่อรองรับอนาคต เลิกทำโอกาสเป็นวิกฤต ยันไม่ได้โหน "ชัชชาติ" แต่อยากให้เห็นวิธีการทำงาน

 

วันที่ 14 มิ.ย.65 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นเป็นลิตรละ 35 บาท ซึ่งชนเพดานที่พลเอกประยุทธ์บอกแล้ว และกำลังจะขยายเป็นลิตรละ 38 บาท ในขณะที่เงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคมพุ่งขึ้นถึง 8.6% สูงที่สุดในรอบ 41 ปี ซึ่งจะเร่งให้สหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นน่าจะขึ้นถึง 0.75% ในอีกไม่กี่วันนี้ ในขณะที่เงินเฟ้อของไทยที่สูงถึง 7.1% ในเดือนพฤษภาคม ยังมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นไปอีกจน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องปรับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อปีนี้เป็น 6.2% จากเดิม 4.9% และอาจจะจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยในอีกไม่นานนี้เช่นกัน ทั้งนี้ มีการคาดการณ์กันว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกอาจจะพุ่งขึ้นถึง 150-160 ดอลลาร์ต่อบาเรล ตามที่คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยได้เตือนไว้นานแล้ว ปัญหาเงินเฟ้อสูงกำลังจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงทั้งโลก และจะสร้างความปั่นป่วนกับเศรษฐกิจโลก ดังนั้นรัฐบาลจะต้องเตรียมตัวรับมือจากปัญหาเศรษฐกิจที่จะเพิ่มขึ้นอีกมาก

ในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ทำท่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ รัฐบาลที่ดีจะต้องพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการแก้ไขปัญหา และนำพาประเทศสู่การพัฒนา และการกินดีอยู่ดีของประชาชนในอนาคต ดังนั้นคณะทำงานงานเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยขอเสนอ แนวทางในการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส 4 ด้านดังนี้

1. โอกาสทางด้านพลังงาน ในขณะที่ น้ำมัน แก๊ส ไฟฟ้ามีราคาแพง และจะยิ่งแพงขึ้น รัฐบาลควรจะต้องปรับโครงสร้างราคาพลังงานตามที่ได้เสนอไว้แล้ว ทั้งนี้ค่าการกลั่นเป็นอัตรามาตรฐานของสากลใช้กับโรงกลั่นทั่วโลก ที่เกิดจากอุปทาน และอุปสงค์ของน้ำมันสำเร็จรูป และอยากให้นายกรณ์ จาติกวณิช ไปศึกษาให้ดีก่อนที่จะวิจารณ์ว่าเป็นการปล้น แต่ถึงแม้จะเป็นราคามาตรฐานสากลแต่ก็อาจจะลดลงได้ และเมื่อพูดถึงมาตรฐานสากล รัฐบาลจะต้องตัดสินใจเรื่องราคาหน้าโรงกลั่นก็ต้องเป็นราคาสากลเช่นกัน อย่าให้บริษัทพลังงานเอาเปรียบประชาชนในทุกด้านแบบเอาแต่ได้ แต่ที่สำคัญ และอยากเรียกร้องคือการเจรจาพื้นที่ทับซ้อน ไทย-กัมพูชา ที่มีแหล่งพลังงานจำนวนมาก และสามารถนำขึ้นมาใช้และบริการให้กับประชาชนในราคาที่ถูกลง อีกทั้งจะสามารถทำเงินเป็นรายได้เข้ารัฐบาลปีละหลายแสนล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาใช้ทำสวัสดิการให้กับประชาชนได้ เท่ากับทำเรื่องเดียวแต่ได้แก้ปัญหาสองด้าน

แนวทางการเสนอการทำสวัสดิการปัจจุบันจะต้องหาแหล่งที่มาของรายได้ก่อน อย่าเพียงแต่ฝันว่า จะแจกโดยไม่มีเงิน นอกจากนี้โอกาสทางพลังงานยังหมายถึงการปรับโครงสร้างการใข้พลังงานในอนาคตของประเทศไทย การใช้พลังงานที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนที่เป็นทิศทางของโลก การส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV ที่ยุโรปประกาศจะจำหน่ายเฉพาะรถยนต์ EV ในปี 2035 และเลิกจำหน่ายรถยนต์น้ำมันทั้งหมด ซึ่งไทยคงต้องปรับเปลี่ยนทิศทางตามแนวทางโลก อีกทั้งต้องคิดวางแผนระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) สำหรับอนาคต และต้องออกมาตรการการช่วยเหลือประชาชนในภาวะพลังงานแพงนี้

2. โอกาสทางด้านอาหาร ในภาวะที่โลกขาดแคลนอาหาร ประเทศไทยผู้ผลิตอาหารควรจะต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถผลิต และขายอาหารที่โลกต้องการเพื่อไปจำหน่ายทั่วโลกในราคาที่สูงเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร โดยประเทศไทยต้องนำระบบ AI เข้ามาช่วยในการผลิตเพื่อตรวจสอบภูมิอากาศ และความชื้น คุณภาพของดิน เพื่อการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิต รวมถึงการใช้ระบบอัตโนมัติ เช่น โดรน และ อุปกรณ์การเกษตรสมัยใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุน

3. โอกาสทางธุรกิจดิจิทัล ที่ไทยต้องปรับระบบราชการเป็นระบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดขนาดราชการ และกำจัดการคอร์รัปชัน การปรับระบบดิจิทัล (Digital Transformation) ทั้งภาคราชการ และภาคเอกชน พร้อมทั้งสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมให้เกิดธุรกิจดิจิทัลขนาดใหญ่จำนานมาก และสร้างมูลค่าธุรกิจ และมูลค่าของประเทศ เพิ่มการจ้างงานที่มีรายได้สูงในอนาคต ซึ่งเป็นทิศทางอนาคตของโลก

4. โอกาสทางอุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยต้องคำนึงว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมที่จำเป็นเหมือนเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ของโลกคือ อุตสาหกรรมผลิตไมโครชิพ (Microchip) และ อุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งกำลังขาดแคลนอย่างมากทั่วโลก ราคาได้พุ่งสูง เพราะอุตสาหกรรมสมัยใหม่ทั้ง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด รวมถึงรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และโดรน จำเป็นต้องใข้อุปกรณ์เหล่านี้ ประเทศไทยจะต้องหาบริษัทต่างประเทศมาร่วมลงทุนผลิตไมโครชิพ และแบตเตอรี่นี้โดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างธุรกิจต่อเนื่อง ทำให้เกิดห่วงโซ่อุปทานครบงวงจรภายในประเทศนี้ให้ได้ เพื่อจะนำไปสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ต่อเนื่องในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสยังมีอีกมากหากรัฐบาลมีความคิด และฉลาดพอ โดยอยากให้เริ่มต้นใน 4 เรื่องนี้ เพื่อเป็นจุดหักเห (Turning point) สำคัญของประเทศไทย ซึ่งหากทำได้ประเทศไทยจะพัฒนาต่อไปได้อีกมาก แต่ถ้าประเทศไทยยังบริหารอย่างที่เป็นอยู่คงเป็นไปไม่ได้ เพราะตลอด 8 ปีที่ผ่านมาพลเอกประยุทธ์ ทำให้โอกาสกลายเป็นวิกฤตมาตลอด

ทั้งนี้เพราะตลอดหลายปีก่อนวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 เศรษฐกิจโลกดีแต่ไทยกลับขยายตัวต่ำมาก อีกทั้งราคาน้ำมันตลอดหลายปีราคาถูกมาก แต่ไทยกลับไม่ได้ประโยชน์เลย พอมาถึงปัจจุบันเศรษฐกิจโลกกำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอย และราคาน้ำมันแพง และยังจะพุ่งขึ้นอีกพลเอกประยุทธ์จะรับมือได้อย่างไร ซึ่งได้พิสูจน์มาแล้วหลายปี ซึ่งหากยังจะดื้อรั้น และคิดว่าตนเองทำได้ และทำดีแล้ว ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่ล้มเหลวอย่างแน่นอน

ขณะที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้โหน "ชัชชาติ" แต่อยากให้ดูถึงวิธีการทำงานที่รู้ปัญหาจริง มีทางแก้ไข และทำได้จริง เข้าถึงพื้นที่ สุภาพไม่ก้าวร้าว ซึ่งเป็นแนวทางการทำงานของพรรคเพื่อไทยที่นำเสนอปัญหา และทางแก้มาตลอด ซึ่งต่างจากผู้นำปัจจุบันราวฟ้ากับเหว ซึ่งการที่ประชาชนจำนวนมากเริ่มออกมาเดินขบวนขับไล่พลเอกประยุทธ์อีกครั้งก็น่าจะเพราะทนความล้มเหลวกันไม่ไหวแล้ว