ดีเดย์ 1 พ.ย.นี้! สปสช. เผย ผู้ป่วยบัตรทอง เจ็บ-ไข้-ไอ-ปวด ตรวจได้ทุกแห่งที่หน่วยบริการปฐมภูมิใกล้บ้านใน กทม.

(23 ต.ค. 2563) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดเสวนา “ปฏิรูประบบสุขภาพเมืองกรุงแนวใหม่ : สปสช.เปิดเกณฑ์เชิญสถานพยาบาลเข้าร่วมระบบบัตรทอง" เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563 โดยมี นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการ สปสช. และ นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมอภิปราย

โดย นพ.ชวินทร์ กล่าวว่า ในระยะนี้ที่ทาง สปสช.ยกเลิกหน่วยบริการปฐมภูมิไป และกำลังอยู่ระหว่างหาคลินิกมาร่วมให้บริการ ทำให้มีผู้มารับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. มากขึ้นประมาณ 50% ดังนั้นก็ต้องขออภัยหากได้รับความไม่สะดวกหรือต้องรอนานขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งทาง กทม.ได้หามาตรการรองรับต่าง ๆ เช่น การจ้างแพทย์ที่เกษียณแล้วมาช่วยตรวจ หรือขยายเวลาตรวจให้มากขึ้น เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ในช่วงนี้ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิใน กทม.ใหม่ ซึ่งในรูปแบบใหม่นี้จะบริหารแบบ Area Base หรือการยึดพื้นที่เป็นหลักเพื่อให้ผู้บริหารจัดการสามารถรู้สภาวะในพื้นที่และทำโครงการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เช่น เขตสัมพันธวงศ์มีจำนวนผู้สูงอายุเยอะที่สุด การจัดกิจกรรมด้านสุขภาพก็จะจัดให้สอดคล้องกับโรคหรือภาวะสุขภาพและแตกต่างจากเขตอื่นๆ เป็นต้น

ด้าน ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในอดีตประชาชนต้องไปลงทะเบียนหน่วยบริการประจำกับคลินิกเดียว แล้วไปใช้บริการที่คลินิกนั้น แต่ในระบบใหม่จะเปลี่ยนระบบการทำงานเป็นเครือข่าย คลินิกไม่ได้ทำงานเดี่ยวๆ แล้ว โดยในเครือข่ายจะมีศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. เป็นแม่ข่าย และมีอีก 2 ส่วนอยู่ในเครือข่ายด้วยคือหน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งก็คือหน่วยบริการปกติที่ประชาชนไปลงทะเบียนเป็นหน่วยบริการประจำ และที่เพิ่มเข้ามาคือหน่วยร่วมบริการ เป็นคลินิกที่อาจให้บริการเฉพาะบางช่วงเวลาหรือคลินิกเฉพาะทางต่างๆ ซึ่งเข้ามาเป็นเครือข่ายทำงานร่วมกัน แล้วประชาชนสามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้ในเครือข่ายนี้

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ระบบนี้จะนำร่องในพื้นที่ กทม. ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2563 โดยช่วงนี้อยู่ระหว่างการรับสมัครคลินิกเอกชนเข้ามาร่วมเป็นเครือข่าย ซึ่งคลินิกที่สนใจสามารถเข้าร่วมได้ 2 ลักษณะคือเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ หมายความว่าต้องดูแลประชากรในพื้นที่ เช่น ออกไปเยี่ยมบ้าน ไปดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง เป็นต้น และอีกส่วนคือ หน่วยร่วมบริการ เช่น คลินิกเฉพาะทางหรือเปิดบริการไม่ถึง 56 ชั่งโมงต่อสัปดาห์ ขณะเดียวกัน สปสช.ยังปรับระบบการจ่ายเงิน โดยหน่วยบริการปฐมภูมิจะมีวงเงินงบประมาณเหมาจ่ายตามจำนวนประชากรและรับค่าบริการตามการให้บริการที่กำหนด (fee Schedule) ส่วนหน่วยร่วมบริการจะได้เงินจาก สปสช.โดยตรงตามรายการที่ให้บริการแก่ผู้ป่วย โดย สปสช.จะกำหนดราคาในรายการยา เวชภัณฑ์ ตรวจแล็บ และหัตถการต่างๆ แล้วมาเบิกตรงได้เลย เหมือนที่เคยเก็บจากประชาชน เพียงแต่เปลี่ยนมาเก็บจาก สปสช.แทน ดังนั้นในมุมของผู้ให้บริการก็จะสะดวก เพียงสมัครเข้ามา เมื่อมีผู้ไปรับบริการ สปสช.ก็ตามไปจ่ายให้ แต่ในความเป็นเครือข่าย ทางศูนย์บริการสาธารณสุขก็จะลงไปให้คำแนะนำและดูแลเรื่องคุณภาพด้วย