อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ระบุ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ห้ามนายจ้างบังคับลูกจ้างทำงานในวันหยุด ยกเว้นได้รับการยินยอมจากลูกจ้าง หากฝ่าฝืน เจอโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดห้ามไม่ให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด เพื่อให้ลูกจ้างได้มีโอกาสพักผ่อนหรือทำกิจธุระ หากนายจ้างมีความจำเป็น ต้องให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดเพื่อประโยชน์แก่การผลิต จำหน่าย และบริการอาจให้ลูกจ้างทำงานได้ แต่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราว ๆ ไป

เมื่อให้ลูกจ้างทำงานแล้ว นายจ้างจะต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้กับลูกจ้าง โดยจ่ายไม่น้อยกว่า 1 เท่า ของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนที่ทำ

ส่วนกรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะมีโทษสูงสุดคือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงขอให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้อง

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 ถึง 10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือ สายด่วน 1506 กด 3

ห้ามนายจ้างบังคับลูกจ้างทำงานวันหยุด ฝ่าฝืนคุก 6 เดือน ปรับ 1 แสน