จากกรณี มีคุณยายท่านหนึ่ง ชื่อว่า นางประไพ อายุ 75 ปี ซึ่งมีที่อยู่ข้างคลองชลประทาน ในพื้นที่ ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกาคลอง 10 จังหวัดปทุมธานี ได้ส่งคลิปร้องเรียนไปทางจ่าคิงส์ สะพานใหม่ ว่าคุณยายเดือดร้อน ถูกเจ้าของที่ปิดทางเข้า-ออกโดยใช้สังกะสีปิดคลอง ต้องใช้กะละมังซักผ้าลอยคอเข้า-ออกบ้าน ลูกหลานก็ออกไม่ได้ลำบากมาก จะไปซื้อกับข้าว หาหมอต้องลอยกะละมังกันออกไปจากบ้าน




วันนี้ (1 พฤษภาคม 2567) ทีมข่าวช่อง 8 จึงมีการทดสอบการเป็นอยู่หากจะต้องใช้ชีวิตโดยการข้ามคลอง ซึ่งอย่างแรกที่ทีมข่าวทดลอง ก็คือ ให้นักข่าวลองไปนั่งบนกะละมัง แล้วลองพายกะละมังข้ามไปที่ฝั่งตรงข้ามว่าถ้าหากน้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม นักข่าวจะนั่งกะละมังข้ามไปเองได้หรือไม่ ซึ่งในการทดสอบรอบแรก นักข่าวที่มีน้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม สามารถนั่งกะละมังขนาดเดียวกันกับที่คุณยายนั่งข้ามไปได้ จะเห็นว่าเมื่อนั่งข่าวลงไปนั่งในกะละมัง ก็จะมีการใช้ไม้ไผ่พายกะละมังไปกลับได้




ต่อมาเป็นการทดลองลงไปเดินในน้ำ โดยไม่ใช้กะละมัง ซึ่งปรากฏว่าน้ำในคลองดังกล่าวสามารถเดินข้ามฝั่งไปได้ โดยความลึกของน้ำในคลองจะอยู่ประมาณเหนือเอวนักข่าวขึ้นมาหน่อย (นักข่าวสูง 183 เซนติเมตร) แต่มันมีความยากลำบากตรงที่ใต้น้ำเป็นโคลน หากเป็นคุณยายลงไปเดินในน้ำก็สามารถเดินได้ แต่ก็ยากเพราะยายต้องใช้แรงก้าวขาเดินบนโคลนใต้น้ำ




จากนั้นการทดลองรอบสุดท้าย จะเป็นการทดลองให้นักข่าวเป็นตัวหลานคุณยาย ในสถานการณ์จริงที่ต้องพาคุณยายลงกะละมัง และค่อย ๆ จูงยายข้ามไปยังฝั่งตรงข้าม ซึ่งยายประไพก็ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวอยู่บนกะละมังกลางน้ำว่า หลานพายายไปแบบนี้ทุกครั้งที่ยายไปหาหมอ ซึ่งมันก็สนุกดี และถ้าหากเขาไม่ยอมเปิดทางให้ ยายก็ต้องนั่งกะละมังให้หลานพาข้ามฝั่งไปแบบนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้วหากไม่มีกะละมังยายก็เดินข้ามได้นะ เพราะยายว่ายน้ำเป็นแต่มุดน้ำไม่เป็นแค่นั้นเอง ที่ผ่านมายายก็เดินทางลำบากจนชินแบบที่นักข่าวพายายลงมาในกะละมังนี่แหละ ยืนยันตอนที่ยายมีทางออก ยายไม่เคยให้หลานพาข้ามฝั่งมาด้วยกะละมังแบบนี้ ซึ่งที่ผ่านมายายก็มีความคิดที่จะข้ามฝั่งเอง แต่ยายไปไม่ได้ และวันนี้ถ้าเจ้าหน้าที่มาถึง หากเปิดทางให้ไม่ได้ยายก็อยากให้หาที่อยู่ใหม่ให้ยาย




จากนั้นในระหว่างที่นักข่าวกำลังอาบน้ำล้างตัวอยู่ที่ข้างบ้านยาย ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่จาก อบต.บึงทองหลาง กำนันตำบลบึงทองหลาง และเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน รวมถึงปลัดอำเภอลำลูกกา ได้มีการเข้ามาตรวจสอบพื้นที่ที่บ้านของยายประไพ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ทั้งหมดได้มีการเดินเข้าไปตรวจสอบป่าหลังบ้านคุณยาย เพื่อไปดูหลักเขตที่ดินของกรมชลประทาน ว่าบ้านคุณยายอยู่ในเขตของกรมชลประทานหรือล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของเจ้าของที่ ซึ่งปรากฏว่าเมื่อเดินเข้าป่าหลังบ้านคุณยายไปประมาณ 100 เมตร ทางเจ้าหน้าที่ก็ไปพบกับหลักเขตที่ดินของกรมชลประทาน ซึ่งหลักเขตดังกล่าวตั้งอยู่แนวเดียวกันกับบ้านของคุณยาย


และจากผังเขตที่ดินที่เจ้าหน้าที่กรมชลประทานส่งมาให้ ปรากฏว่าพื้นที่ดินบ้านของคุณยาย ก็ตั้งอยู่ในเขตของกรมชลประทานอย่างชัดเจน ส่วนที่ดินของนายเจริญ เจ้าของที่ดินที่มากั้นรั้วล้ำเข้ามาในเขตที่ดินของกรมชลประทาน จากการตรวจสอบพบว่า ที่ดินของนายเจริญเป็นที่ดินที่ขนานกับคลองชลประทานไปสุดเขตที่ถนนหลักของหมู่บ้าน




ส่วนภาพมุมสูงก็จะเห็นว่าพื้นที่ด้านหน้า จะเป็นที่ดินที่มีโรงงานมาสร้างเอาไว้แล้ว ซึ่งที่ดินโรงงาน ก่อนหน้านี้เป็นที่ดินของนายเจริญ ที่ขายไปให้กับหลาน ส่วนที่ดินถัดมาที่ดินอยู่กับบ้านของยายประไพ เป็นที่ดินของนายเจริญ ทั้งหมด


ซึ่งจากภาพมุมสูงและผังที่กรมชลประทานส่งมาให้ วันนี้หากนายเจริญยอมเปิดทางให้คุณยาย ครอบครัวของยายก็ต้องหาทางเดินเพื่อออกไปยังถนนหลัก ซึ่งจากการตรวจสอบ หากเดินตรงเข้าไปประมาณ 100 เมตร ทางของกรมชลประทาน จะเป็นป่าโดยมีหลังคากระเบื้องกั้นพื้นที่เอาไว้ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวทางผู้ใหญ่บ้านให้ข้อมูลว่าเป็นพื้นที่ส่วนรวม และทางกรมชลประทานก็ต้องไปจัดการพื้นที่สิ่งปลูกสร้างที่ลุกล้ำเข้ามา และถ้ายังไม่สามารถรื้อได้ ทางกรมชลประทานก็ต้องไปคุยกับเจ้าของโรงงานเพื่อขอทางให้ครอบครัวคุณยายใช้ทางเข้า-ออก ซึ่งทางกรมชลประทานขอเวลาจัดการเคลียร์พื้นที่เขตของกรมชลประทานเป็นเวลา 1 เดือน




จากนั้นเมื่อทางปลัดอำเภอ ยืนยันว่าต้องรื้อถอนรั้วลวดหนามออก จึงมีการให้เจ้าหน้าที่ไปปลดลวดหนามออกก่อน และเปิดเป็นทางเดินให้คุณยายประไพเดินออกไปตามแนวคลองชลประทานได้ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า เมื่อรื้อลวดหนามในจุดแรกไปแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ไปพบว่านายเจริญ ได้มีการกั้นรั้วลวดหนามไว้อีกชั้น แต่เจ้าหน้าที่ก็ปลดลวดหนามออก และเมื่อเดินตามแนวคลองไปประมาณ 100 เมตร




ปรากฏว่าไปพบว่า มีพื้นที่กั้นปิดทางเอาไว้อีก ก็คือแนวหลังคากระเบื้อง ซึ่งจุดดังกล่าวทางเจ้าหน้าที่ยังไม่พบผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าว แต่ไปพบว่ามีทางออกที่หลังโรงงานที่สามารถให้รถครอบครัวของคุณยายใช้เป็นทางออกได้ชั่วคราว ทางปลัดอำเภอจึงมีการไปเจรจากับเจ้าของโรงงานว่า ขอให้ครอบครัวของยายประไพ ใช้ทางเข้า-ออกทางด้านหลังโรงงาน ซึ่งทางเจ้าของโรงงานก็ยอมให้ใช้ทางได้ แต่ให้เวลาแค่ 1 เดือนเท่านั้น

 

ขณะเดียวกันก่อนที่เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน จะได้คุยกับนายเจริญ เจ้าของที่ดิน ทีมข่าวไปเจอกับนางหน่อย ซึ่งเป็นน้องสะใภ้ของนายเจริญ บอกว่า ส่วนตัวรู่แค่ว่า นายเจริญ เคยบอกกับคนในครอบครัวว่าเขาจะมากั้นที่ดินของเขา ซึ่งก่อนหน้านี้ประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา ยืนยันว่านายเจริญ เคยมาขอให้ยายประไพ ย้ายออกไปจากพื้นที่ หรือขอไม่ให้เดินผ่านเข้าออกที่ดินของเขา แต่ยายประไพ อ้างว่าไม่มีที่อยู่ และไม่มีทางออกจากบ้านทางอื่น ต่อมานายเจริญจึงเข้ามาล้อมรั้วลวดหนามอย่างที่เห็น

 

จากนั้นทางนางหน่อยจึงได้ต่อสายให้นายเจริญ เจ้าของที่ดินคุยกับเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทาน ซึ่งทางกรมชลประทานก็อธิบายให้นายเจริญฟังว่า จากการตรวจสอบเสาที่กั้นเป็นรั้วลวดหนาม มันกั้นลุกล้ำเข้ามาในเขตของกรมชลประทาน จึงอยากให้เจ้าของที่ดินมารื้อถอนออกไป แต่ปรากฏว่า นายเจริญ โต้กลับเจ้าหน้าที่กรมชลประทานว่า ก่อนที่คุณจะให้รื้อลวดหนามออก ทำไมคุณไม่ไปรื้อบ้านของยายประไพก่อน ซึ่งเสาลวดหนามที่กั้นเอาไว้เป็นการกั้นพื้นที่กันขโมย ถ้าไม่กั้นเอาไว้แล้วทรัพย์สินหายใครจะรับผิดชอบ




ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน จะทำกับเจ้าของที่ดินแบบสองมาตรฐานไม่ได้ และถ้าคุณจะรื้อแต่ลวดหนามออก ตนเองจะแจ้งข้อหา 157 ถ้าเจ้าหน้าที่กรมชลประทานไม่รื้อบ้านของยายประไพออกไปด้วย ซึ่งตนเองยืนยันว่าไม่รื้อ และถ้าอยากให้รื้อก็ไปเอาคำสั่งศาลมา และพวกคุณรู้ไหม ก่อนหน้านี้ทางลูกชายยายประไพเคยต่อรองเรียกเงินตนเองจำนวน 1 แสนบาท เพื่อย้ายออกไป และที่ผ่านมาตนเองไม่เคยไล่ใคร ซึ่งการต่อรองเรื่องเงินมันเป็นไปไม่ได้ และที่ตนเองไม่จ่ายให้ก็เป็นเพราะว่าครอบครัวของยายประไพอยู่ในที่ของกรมชลประทาน


จากนั้นนักข่าวก็พยามาเจรจากับนายเจริญว่า ขอเปิดทางให้ทางครอบครัวยายเดินริมตลิ่งที่ไม่ใช่ที่ดินของนายเจริญได้หรือไม่ ซึ่งนายเจริญ ก็บอกว่า ถ้าเปิดทางให้พวกเขาก็จะเดินเข้ามาในที่ดินของตนเอง ซึ่งที่ดินของตนเองไม่ได้มีไว้ให้ใครมาเดิน และตนเองก็ไม่เคยคิดที่จะอยากได้ที่กรมชลประทานมาเป็นที่ของตัวเอง พวกคุณไม่ได้อยู่ในพื้นที่ไม่รู้หรอกว่าที่ต้องกั้นรั้วเป็นเพราะว่าในพื้นที่มันมีขโมยเยอะ และที่ยายประไพลงกะละมังข้ามฝั่งก็เป็นเพราะว่าเขาต้องการเงิน ไม่เชื่อไปถามผู้ใหญ่บ้านได้เลยว่าตนเองพูดความจริง


จากนั้นนายเจริญ ก็อ้างอีกว่า ไหนยายประไพบอกว่าจะย้ายออกภายใน 3 ปี และทำไมถึงไม่ย้ายออก ซึ่งตนเองยืนยันว่าไม่ใช่คนใจไม้ไส้ระกำ และสิ่งที่ทำก็แค่ปักเสากั้นพื้นที่เท่านั้น ซึ่งทางเจ้าหน้าที่กรมชลประทานก็มาคุยกับนางหน่อย ให้นายเจริญรับฟังว่าจะรื้อเสาลวดหนามออก ก่อนเพื่อเปิดทางให้ยายประไพ กระทั่งนายเจริญใจอ่อนบอกให้รื้อได้




ด้าน นายสุรชัย อ่ำหนองบัว เป็นรองนายก อบต. บึงทองหลาง บอกว่า จริง ๆ เรื่องที่ยายประไพร้องเรียนมาในครั้งนี้ ทางยายประไพได้ร้องเข้าไปยังศูนย์ดำรงธรรมมของอำเภอลำลูกกา ก่อนไปร้องกับจ่าคิงส์ ซึ่งการร้องเรียนเข้ามาดังกล่าว ยืนยันว่าทางอำเภอลำลูกกาได้ส่งเรื่องมาตามขั้นตอน และหลังจากที่ทาง อบต. รับเรื่องเอาไว้ ยืนยันว่าก่อนหน้าที่นักข่าวจะมาทำข่าว ทางเจ้าหน้าที่ของ อบต. ได้มีการเข้ามาช่วยเหลือเบื้องต้นกับคุณยายแล้ว โดยการนำเรือมาให้ใช้เพื่อข้ามคลองไปก่อนที่จะมีการเจรจากับเจ้าของที่ดิน แต่ปรากฏว่าคุณยายเอาเรือมาคืน และอ้างว่ากลัวเรือจะหายเนื่องจากยายอยู่บ้านคนเดียว ซึ่งระหว่างนี้หากเจ้าของที่ยังไม่เปิดทางให้ ทาง อบต. ยินดีที่เอาเรือกลับมาให้ยายใช้


ส่วนประเด็นที่เจ้าของที่ดิน มีการกั้นรั้วลวดหนามลุกล้ำเข้ามาในเขตกรมชลประทาน ก็ต้องให้เจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานติดต่อกับเจ้าของที่ดินให้รื้อลวดหนามออก เพราะจากการลงพื้นที่มา รั้วลวดหนามดังกล่าวลุกล้ำเข้ามาในเขตของกรมชลประทานอย่างชัดเจน

 

ช่อง 8 รับจบ ยอมรื้อรั้วเปิดทางเข้า-ออก ครอบครัวลอยกะละมังข้ามคลอง