เมื่อเวลา 11.00 น. ของวันที่ 22 เมษายน 2567 นายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด ได้พา นางสาวรัตนาภรณ์ หรือแจง อายุ 35 ปี ซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานไก่แห่งหนึ่ง ในจังหวัดนครปฐม (ผู้เสียหาย) เข้าร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมต่อนายกรัฐมนตรีผ่านศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล โดยมี ดร.ธนกฤต จิตรอารีรัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำรองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับเรื่อง โดยรายชื่อกลุ่มตำรวจที่ก่อเหตุ ดังนี้


1. ด.ต.ชัยพฤกษ์
2. ธ.ต.ณรงค์
3. ด.ต.ประสูตร
4. ส.ต.ต.นันทวัฒน์
5. ส.ต.ต.วุฒิชัย
6. ส.ต.อ.ชัยวัฒน์
7. จ.ส.ต.โรจน์ศักดิ์
8. ร.ต.อ.นที




นายเอกภพ ได้กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณนายตำรวจน้ำดีท่านหนึ่งของ สภ.สามควายเผือก จ.นครปฐม เนื่องจากเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นหาพยานหลักฐานได้ยากมาก โดยช่วงก่อนหน้านี้ผู้เสียหายถูกรีดไถเงินไปเป็นจำนวนมาก จากตำรวจชุดดังกล่าวที่ได้ทำทีมาขอรับบริจาคให้ร่วมทำบุญ ทำให้หลักฐานที่ผู้เสียหายมีก็เป็นแค่ภาพที่ตำรวจเดินทางเข้ามาหาที่บ้าน แต่ก็ไม่ได้มีหลักฐานตอนรับเงิน


จนกระทั่งวันที่เกิดเรื่อง (29 มี.ค.) ตำรวจชุดเดิมก็ได้เข้ามาขอรับเงินบริจาคอีก แต่ทางด้านผู้เสียหายก็ได้ปฏิเสธเพราะก่อนหน้านี้ก็บริจาคเงินไปหลายครั้งแล้ว ประมาณครั้งละ 3,000-5,000 บาท ในครั้งนี้จึงอยากขอทำบุญแค่ 100 บาท ทำให้ตำรวจชุดดังกล่าวเกิดความไม่พอใจจึงกลับไปเรียกพวกมาทั้งหมด 8 คน เข้ามาตรวจค้นโรงงานโดยไม่มีหมายค้นใด ๆ ผู้เสียหายก็พยายามขอดูหมายค้น แต่ตำรวจชุดนี้อ้างว่าที่นี่นครปฐม ตำรวจสามารถเข้าค้นที่ไหนก็ได้ไม่จำเป็นต้องมีหมาย


จากนั้นได้มีการขอเรียกตรวจดูใบประกอบกิจการต่าง ๆ ซึ่งผู้เสียหายก็นำมาแสดงให้ดูทั้งหมด เมื่อตำรวจเห็นว่ามีเอกสารถูกต้อง ตำรวจชุดนี้ก็เดินไปหาต่างด้าว 5 คน ที่อยู่ในโรงงานพร้อมขอตรวจดูเอกสาร ผู้เสียหายก็นำเอกสารมาให้ดูพร้อมยืนยันว่ามีเอกสารการทำงานถูกต้องครบถ้วน แต่ตำรวจไม่ยอมอ้างว่าต้องนำตัวไปโรงพักเพื่อตรวจสอบอย่างละเอียด


จากนั้นตำรวจทั้ง 8 นายได้อุ้มเอาตัวแรงงานต่างด้าว 5 คน ไปที่ห้องสืบสวน สภ.สามควายเผือก พร้อมกับเรียกเงินค่าปล่อยตัวรายละ 40,000 ทั้งหมด 5 ราย เป็นเงิน 200,000 บาท โดยขู่ผู้เสียหายว่ากฎหมายไทยเป็นระบบกล่าวหา หากไม่จ่ายตรงนี้ก็จะต้องไปประกันตัวสู้ในชั้นศาลเอาเอง ยังไงก็ต้องหาเงินมาประกันตัว ต้องหาเงินมาจ้างทนาย ลูกจ้างก็ต้องติดคุกไปก่อน และที่สำคัญนายจ้างก็จะตกเป็นผู้ต้องหามีคดีติดตัวไปตลอดชีวิต ซึ่งผู้เสียหายไม่อยากมีคดีติดตัวจึงยอมที่จะให้เงินกับตำรวจทั้ง 8 นาย โดยผู้เสียหายได้ติดต่อพี่ชายมาช่วยเจรจา จนสุดท้ายจบที่ 15,000 บาท ผู้เสียหายจึงยอมจ่ายเงินให้ไป




หลังจากจ่ายเงินไปแล้ว 3 วันต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดเดิมได้มีการโทรศัพท์เข้ามาหาผู้เสียหายอีก โดยพยายามถามหาเอกสารต่าง ๆ ในลักษณะจะขอเรียกเงินอีก ผู้เสียหายจึงตัดสินใจนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับนายตำรวจน้ำดีระดับสารวัตร สภ.สามควายเผือก ถึงเหตุการทั้งหมดที่เกิดขึ้น ซึ่งนายตำรวจน้ำดีท่านนี้จึงตัดสินใจช่วยผู้เสียหายหาหลักฐานต่าง ๆ จนไปได้กล้องวงจรปิดในห้องสืบสวน ขณะที่ตำรวจทั้ง 8 นายกำลังรีดทรัพย์ผู้เสียหายจำนวน 15,000 บาท นอกจากนี้ยังได้คลิปขณะที่ตำรวจทั่ง 8 นาย นำเงินที่รีดจากผู้เสียหายไปได้ มานับแบ่งกันทีละคนโดยพูดคุยกันอย่างสนุกสนานสะใจ


หลังได้คลิปจากกล้องวงจรปิด นายตำรวจน้ำดีท่านนี้ได้แนะนำให้ผู้เสียหายติดต่อมาหา นายเอกภพ เหลืองประเสริฐ โดยเร็วที่สุดพร้อมกับกำชับว่าให้นำหลักฐานต่าง ๆ มาส่งให้ถึงมือนายเอกภพ ด้านนายเอกภพเมื่อได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะคลิปจากกล้องวงจรปิดจึงน่าเชื่อได้ว่ามีการกระทำผิดจริง จากนั้นก็ได้ประสานไปยัง พ.ต.อ.พัลลภ สุริยกุล ณ อยุธยา (รอง ผบก.ภ.จว.นครปฐม) เพื่อพาผู้เสียหายเข้าแจ้งความดำเนินคดีและได้มีคำสั่งด่วนที่สุดให้นายตำรวจทั้ง 8 นาย ไปช่วยราชการที่กองบังคับการตำรวจภูธร จ.นครปฐม พร้อมตั้งกรรมการสอบสวน


ซึ่งเรื่องก็เหมือนจะจบ แต่ทว่า หลังแจ้งความเสร็จได้มีนักการเมืองท้องถิ่นติดต่อมาหาผู้เสียหาย อ้างว่ามีนายตำรวจระดับสูงของ สภ.สามควายเผือก ติดต่อไปให้มาช่วยเจรจาให้ผู้เสียหายไปถอนแจ้งความ โดยให้ไปให้การใหม่ว่าทั้งหมดเป็นการเข้าใจผิด ให้กลับคำให้การว่าเงินที่ให้ตำรวจทั้ง 8 นายไปเป็นเงินทำบุญ ไม่ใช่เงินสินบน แต่ผู้เสียหายไม่ยอม ยืนยันจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด พร้อมกับแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นดังกล่าวให้นายเอกภพทราบทันที เนื่องจากเกรงกลัวความไม่ปลอดภัย กลัวจะถูกอุ้มฆ่าทั้งครอบครัว จึงนำมาสู่การประสานเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ให้คุ้มครองความปลอดภัยของผู้เสียหายในวันนี้




โดยภาพจากกล้องวงจรปิดในวันที่ 29 มี.ค. 2567 เวลา 11.48 น. จะเห็นว่าทางด้านนายตำรวจชุดดังกล่าว ซึ่งแต่งกายนอกเครื่องแบบได้มีการบุกค้นที่โรงงานของนางสาวรัตนาภรณ์ (ผู้เสียหาย) โดยที่มี ด.ต.ชัยพฤกษ์ กำลังนั่งอยู่ที่โต๊ะกับผู้เสียหาย ลักษณะเหมือนกับกำลังตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารต่าง ๆ ท่ามกลางนายตำรวจคนอื่น ๆ ที่กำลังยืนล้อมหน้าล้อมหลังผู้เสียหาย


ต่อมาเป็นภาพจากกล้องวงจรปิดภายในห้องสืบสวน สภ.สามควายเผือก โดยจะเห็นว่าทางด้านของนางสาวรัตนาภรณ์ (ผู้เสียหาย) ได้ถูกควบคุมตัวอยู่ภายในห้องสืบสวนพร้อมกับแรงงานต่างด้าว ก่อนที่นายเทวราช ผู้เป็นพี่ชายได้เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยต่อรองเงินค่าประกันจาก 200,000 บาท จนเหลือ 15,000 บาท ซึ่งนางสาวรัตนาภรณ์ (ผู้เสียหาย) ก็ได้หยิบเงินจำนวนดังกล่าวออกจากกระเป๋าให้นายเทวราช ก่อนที่นายเทวราชจะนำเงินไปมอบให้กับ ร.ต.อ.นที พร้อมกับยกมือไหว้ ทั้งหมดจึงถูกปล่อยตัวมาในที่สุด




หลังจากที่ผู้เสียหายได้เดินทางกลับออกไปแล้ว ทางด้าน ร.ต.อ.นที ก็ได้นำเงินดังกล่าวมาเดินแจกจ่ายให้กับนายตำรวจกลุ่มเดียวกัน ซึ่งนายตำรวจที่รับเงินไปก็รีบเก็บใส่กระเป๋ากางเกงทันที โดยที่สีหน้าของแต่ละคนก็ไม่ได้เป็นกังวลอะไร บางช่วงบางตอนยังมีการยิ้มร่าเริงอีกด้วย ซึ่งหลังจากนั้นทั้งหมดก็ได้พากันร่วมวงนั่งกินข้าวเหนียวส้มตำกันภายในห้องสืบสวน สภ.สามควายเผือก อย่างเอร็ดอร่อย


ทั้งนี้ มีเอกสารสั่ง ตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐมที่ 208 เรื่องให้ 8 ตำรวจดังกล่าวออกจากราชการไว้ก่อน กรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน โดยต้องหาคดีอาญาข้อหาร่วมกันกรรโชกทรัพย์ , เรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อหระทำการหรือไม่กระทำอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ซึ่งคำสั่งนี้ลงนามโดย พลต.ต.สุวรรณ์ เชี่ยวนาวินธวัช ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม มีผลตั้งแต่ 22 เมษายน 2567 เป็นต้นไป โดนคำสั่งนี้ 8 ตำรวจ มีสิทธิ์อุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.ตร. ได้ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มาตรา 141 ภายใน 30 วัน นับแต่วันรับทราบคำสั่ง และหากประสงค์จะฟ้องโต้แย้งคำสั่งหรือคำวินิจฉัยอุทธรณ์นี้ให้ทำคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลปกครอง ภายใน 90 วัน




ทางด้านของนางสาวรัตนาภรณ์ ผู้เสียหาย ก็ได้เปิดเผยว่า ตอนนี้รู้สึกท้อแท้เป็นอย่างมาก รู้สึกกังวล พร้อมกับยอมรับว่าตอนนี้จิตใจไม่ได้โฟกัสอยู่กับงานที่ทำเลย เพราะตนนั้นเอาแต่ชะเง้อมองประตูทางเข้าโรงงาน เพราะหวาดระแวงว่าจะมีแขกไม่ได้รับเชิญมาหาถึงบ้านอีก หรือแม้กระทั่งจะออกไปทำธุระข้างนอกก็กลัวว่าจะถูกลอบยิงลอบทำร้ายหรือเปล่า ซึ่งตอนนี้รู้สึกว่าตัวเองไม่ปลอดภัยจึงอยากขอความช่วยเหลือจากทางการ




ซึ่งนางสาวรัตนาภรณ์ เชื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับตนคงไม่ใช่ครั้งแรกและเชื่อว่าตำรวจกลุ่มนี้คงเคยก่อเหตุมาแล้ว แต่ผู้เสียหายคนอื่น ๆ คงไม่กล้าออกมาขอความช่วยเหลือ เพราะกลัวในความไม่ปลอดภัยหรือหลักฐานก็อาจจะมีไม่เพียงพอ ตนจึงอยากใช้โอกาสนี้บอกกับผู้เสียหายรายอื่น ๆ ว่าให้ออกมาสู้ ให้ออกมาขอความช่วยเหลือจากสายไหมต้องรอด หรือมาร้องขอความเป็นธรรมกับสื่อก็ได้ เพราะหากผู้เสียหายไม่ออกมาสู้ก็จะถูกรีดไถเรียกเงินอยู่อย่างนั้น ตนเชื่อว่าการที่ตัวเองออกมาเปิดหน้าชนในครั้งนี้ถือว่าคุ้มค่า เพราะการที่ตนออกมาเปิดโปงพฤติกรรมของตำรวจทั้ง 8 นาย ต่อไปก็จะได้มีตัวอย่างให้เห็นและจะได้ไม่มีตำรวจที่ทำพฤติกรรมแบบนี้อีก ในส่วนของตำรวจทั้ง 8 นายนี้ ตนอยากให้ทั้งหมดออกจากราชการและต้องติดคุกด้วยจึงจะเหมาะสม เพราะหากตำรวจเหล่านี้ถูกออกจากข้าราชการเฉย ๆ พวกเขาก็ยังคงใช้ชีวิตอยู่ได้ตามปกติ แล้วตนจะได้รับความปลอดภัยหรือไม่ เพราะตนก็ไม่รู้ว่าตำรวจเหล่านี้มีญาติพี่น้องอยู่ในพื้นที่อีกกี่คน




ส่วนเหตุการณ์ที่มีผู้ใหญ่บ้านมาร้องขอให้ถอนแจ้งความ ตนก็ทราบมาว่ามีนายตำรวจคนหนึ่งเป็นเพื่อนสนิทของผู้ใหญ่บ้าน โดยมีการไปร้องไห้ต่อหน้าผู้ใหญ่บ้านพร้อมกับบอกว่า “หากผมถูกออกจากข้าราชการแล้วลูกเมียจะอยู่อย่างไร” จึงเป็นที่มาให้ผู้ใหญ่บ้านเดินทางมาหาตนที่บ้านพักส่วนตัวและขอให้ถอนแจ้งความ พร้อมกับไปให้การใหม่ว่าเงินที่มอบให้ตำรวจเป็นเงินทำบุญไม่ใช่เงินติดสินบน ซึ่งแน่นอนว่าตนไม่ยอมเพราะหากตนทำแบบนั้น ก็เท่ากับว่าตนแจ้งความเท็จ โดยนางสาวรัตนาภรณ์ ยืนยันว่า จะขอเอาเรื่องให้ถึงที่สุด และขอความคุ้มครองดูแลเรื่องของความปลอดภัยให้กับตนเองและครอบครัวด้วย


ด้าน ดร.ธนกฤต จิตรอารีรัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำรองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า จากกรณีที่ผู้เสียหายเข้ามาร้องทุกข์ว่าได้รับความเดือดร้อนหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนหนึ่งของ สภ.สามควายเผือก ได้มีการเรียกรับสินบน ซึ่งหลังจากนี้ก็จะให้มีการสืบสวนสอบสวนอย่างละเอียดอีกครั้ง ซึ่งเบื้องต้นในตอนนี้ทางผู้เสียหายก็ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับนายตำรวจกลุ่มดังกล่าวไว้ในเบื้องต้นแล้ว และในวันนี้ที่ผู้เสียหายได้เดินทางมาที่ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ของรัฐบาลก็มาด้วย 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. เรื่องความปลอดภัยของตัวผู้เสียหายและครอบครัวหลังจากมีกรณีพิพาทกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ และ 2. เรื่องการติดตามคดีความเพราะหวั่นว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม ในเบื้องต้นจึงได้มีการประสานไปยัง พล.ต.ท.นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต ผบช.ภ.7 ซึ่งท่านก็ได้ยืนยันว่าจะได้รับความเป็นธรรมอย่างแน่นอน หากพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้กระทำความผิดจริงก็ไม่เอาไว้อย่างแน่นอน




และขอเรียนว่ากระบวนการทั้งหลายของเจ้าหน้าที่เอง คงจะต้องไปต่อสู้ว่าดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการบุกเข้าไปตรวจค้นในที่รโหฐานเป็นการตรวจค้นโดยชอบด้วยกฎหมายหรือเปล่า หากเจ้าของอนุญาตก็จะไม่มีปัญหาอะไร แต่หากเจ้าของไม่อนุญาตก็ต้องว่ากันตามกฎหมายต่อไป หรือในประเด็นที่มีการตรวจคนต่างด้าวว่ามีใบอนุญาตหรือเปล่า ก็ต้องมาตรวจสอบอีกทีว่านายตำรวจนั้นมีอำนาจหน้าที่ในเรื่องดังกล่าวหรือไม่อย่างไร ซึ่งก็จะมีการประสานยุติธรรมจังหวัดนครปฐมมาช่วยเหลือในเรื่องข้อกฎหมายต่อไป


ต่อมาทีมข่าวช่อง 8 ได้เดินทางไปที่ สภ.สามควายเผือก จ.นครปฐม ซึ่งเคยเป็นสถานที่ปฏิบัติงานของตำรวจผู้ก่อเหตุทั้ง 8 นาย โดย พ.ต.อ.ยงลิต ศุภผล ผกก.สภ.สามควายเผือก ก็ได้ให้ข้อมูลว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางด้านผู้กำกับเองก็เพิ่งมาทราบเรื่องในวันที่ 18 เมษายน 2567 เนื่องจากทางสายไหมต้องรอดได้พาผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความดำเนินคดี กับตำรวจใต้บังคับบัญชาทั้งหมด 8 นาย โดยมีหลักฐานเป็นภาพจากกล้องวงจรปิด ตอนตำรวจรับเงินจากผู้เสียหายภายในห้องสืบสวนของโรงพัก ซึ่งก็ยอมรับว่าเป็นห้องสืบสวนของ สภ.สามควายเผือก


โดยหลังจากได้ทราบเรื่องจากผู้เสียหาย ทางผู้กำกับเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมกับมีคำสั่งย้ายตำรวจทั้ง 8 นายไปยัง ศปก.ภจว.นครปฐม และให้ขาดจากตำแหน่งเดิมที่ สภ.สามควายเผือก ทันทีพร้อมตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ยืนยันว่าที่ผ่านมา พ.ต.อ.ยงลิต นั้นปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องและตรงไปตรงมา ส่วนไหนที่ลูกน้องทำผิดก็ต้องว่ากันไปตามผิด ไม่มีการช่วยเหลือหรือปกป้องอยู่แล้ว ตอนนี้ทุกอย่างก็เป็นไปตามกระบวนการตามกฎหมายอยู่แล้ว จึงไม่มั่นใจว่าทำไมผู้เสียหายถึงได้ไปร้องเรียนกับสื่อมวลชนอีก




ในส่วนประเด็นเรื่องการขอรับเงินบริจาค ทางด้าน พ.ต.อ.ยงลิต ก็ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สามควายเผือก ไม่เคยมีพฤติกรรมดังกล่าวเพราะตำรวจไม่ได้มีหน้าที่ไปเปิดรับบริจาคทำบุญจากชาวบ้าน เป็นไปได้หรือไม่ว่าคนที่ไปขอรับเงินบริจาคก่อนหน้านี้นั้น เป็นมิจฉาชีพที่อ้างตัวและสวมรอยเป็นตำรวจ ในเรื่องนี้ก็อยากขอความเป็นธรรมให้กับตำรวจด้วย ในส่วนที่ตำรวจทำผิดก็ขอยืดอกยอมรับว่ามีความผิด แต่ผู้เสียหายจะทึกทักเหมารวมว่าเหตุการณ์ที่เคยประสบพบเจอก่อนหน้านี้เป็นฝีมือตำรวจ สภ.สามควายเผือก ก็คงจะไม่ถูกต้อง


ในตอนนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 8 นาย ก็ไม่ได้มีการบอกหรือเล่าอะไรให้ผู้กำกับ เพราะตอนนี้ทุกคนขาดจากตำแหน่งที่ สภ.สามควายเผือก เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนก็คงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ภจว.นครปฐม ส่วนทางด้านผู้เสียหายนั้นก็ยังคงต้องมีการเรียกมาสอบเพิ่มเติม แต่ตอนนี้ทางผู้เสียหายก็ยังไม่มาแสดงตัว คาดว่าคงอยู่ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสื่อต่าง ๆ และสาเหตุที่ พ.ต.อ.ยงลิต ไม่สะดวกที่จะให้สัมภาษณ์เป็นเพราะกลัวคำพูดจะไปกระทบฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากพูดว่าลูกน้องเป็นคนผิด ซึ่งแน่นอนว่าเขาผิด แต่ก็กลัวจะไปทำร้ายจิตใจหรือเป็นการซ้ำเติม แต่หากจะมาพูดอธิบายในบางประเด็นก็หวั่นว่าประชาชนจะเข้าใจผิด คิดว่าเป็นการปกป้องลูกน้องไปเสียอีก

 

ตำรวจฉาวตั้งแก๊งรีดส่วยขู่ยัดคดี ตำรวจน้ำดีปล่อยคลิปลับ ตลบหลังถูกเด้งยกชุด