แม่น้ำตาตก ร้องเพจสายไหมฯ ลูกชายไปปัจฉิมฯ จ.ชลบุรี กระโดดหัวปักพื้นลงทะเล คอหักเสียชีวิต โรงเรียนช่วยเงินเล็กน้อยอ้างเพียงพอแล้ว ต้องกู้หนี้นอกระบบ 6-7 หมื่น

วันที่ 21 เม.ย. 2567 ที่ทำการเพจสายไหมต้องรอด น.ส.พัชรี อายุ 44 ปี แม่ของนายรัชวัต หรือน้องดีฟ อายุ 15 ปี นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.เพชรบูรณ์ เข้าร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือและขอคำแนะนำกับนายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด และในฐานะที่ปรึกษา รมว.มหาดไทย

น.ส.พัชรี เผยว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากคณะครูโรงเรียนพาเด็กนักเรียนไปทำกิจกรรมปัจฉิมนิเทศที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยพานักเรียนไปด้วยรถบัส 2 คัน ปรากฏว่าในวันเกิดเหตุ โรงเรียนได้พานักเรียนไปพักผ่อนเล่นน้ำทะเลที่หาดนางรำ จ.ชลบุรี จากนั้นในช่วงกลางวัน ตนได้รับโทรศัพท์จากลูกพี่ลูกน้องแจ้งว่า ลูกชายประสบอุบัติเหตุสาหัสบนหาดนางรำ ขณะเล่นฟุตบอลชายหาดกับเพื่อน ๆ ก่อนกระโดดพุ่งหัวลงน้ำทะเล ตามบทลงโทษที่ตั้งกันเองในกลุ่มเพื่อน แต่ไม่มีใครรู้ว่าบริเวณดังกล่าวน้ำทะเลตื้นและทรายหนาแน่นจนทำให้ความเร็วและแรงที่ลูกชายพุ่งลงไป ทำให้กระดูกศีรษะยาวลงไปถึงช่วงคอหักทันที และรับทราบเพียงแค่ว่าลูกชายขยับตัวไม่ได้ปากเขียวซีด ก่อนได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยนำส่งร่างลูกชายไปรักษาที่ รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ตนจึงรีบเดินทางจาก จ.เพชรบูรณ์ เพื่อไปเฝ้าอาการลูกชายด้วยความเป็นห่วง

น.ส.พัชรี กล่าวอีกว่า ตั้งแต่เกิดเหตุ ตนก็ได้เข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.พลูตาหลวง และ สภ.สัตหีบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้สอบถามว่า ตนติดใจสาเหตุการเสียชีวิตหรือประสงค์แจ้งความดำเนินคดีหรือไม่ ซึ่งตนก็ไม่ได้ติดใจเพราะคิดว่าเป็นอุบัติเหตุจริงๆ เพราะเพื่อนๆ ของลูกชายที่อยู่ในเหตุการณ์ก็ล้วนพูดตรงกันว่ามันเป็นอุบัติเหตุ

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ลูกชายนอนรักษาตัวที่ รพ. ปรากฏว่า ในวันที่ 26 มี.ค. แพทย์แจ้งว่าชีพจรอ่อนมากขึ้นเรื่อย ๆ และท้ายสุดเสียชีวิตลง จึงมีการเตรียมจัดงานศพให้ลูกชาย แต่ตนและครอบครัวยากจน ไม่มีเงิน ทำมาหากินรายวันจึงได้สอบถามความช่วยเหลือไปที่โรงเรียนของลูกชาย แต่ในตอนแรกทางโรงเรียนกลับปฏิเสธและบ่ายเบี่ยงความช่วยเหลือเรื่องเงิน

กระทั่งท้ายสุดตนต้องไปอ้อนวอนขอกู้เงินจากครูประจำชั้น จำนวน 40,000 บาท โดยแจ้งว่า หากได้เงินประกันอุบัติเหตุลูกชายของโรงเรียนจะนำมาคืนให้ ซึ่งเงินประกันฯ ยังเบิกไม่ได้ เนื่องจากต้องเอกสารทางการแพทย์ทั้งใบรับรองแพทย์และใบชันสูตรศพ แต่เงินจำนวน 40,000 บาท และเงินที่คุณครูไปเรี่ยไรใส่ซองได้มาอีก 10,000 บาท ก็ยังไม่เพียงพอ ตนจึงต้องไปกู้เงินนอกระบบมาอีก รวมเบ็ดเสร็จแล้วเป็นหนี้กว่า 60,000 - 70,000 บาท

ขณะที่ ทาง ผอ.โรงเรียน ได้โอนเงินช่วยเหลือมา 2,000 บาท และทางโรงเรียนก็ได้ช่วยเรื่องขนมหรือดอกไม้ในงานศพลูกชาย แต่ตนก็มองว่ามันยังไม่เหมาะสมเพียงพอ ไม่ได้สัดส่วน เพราะตอนที่ใช้รถรับจ้างไปรับศพลูกชายย้ายจาก รพ. มาบ้าน ตนก็เสียเงินไปเอง 8,000 บาท เวลาเรียกร้องไปทางโรงเรียนเรื่องเงิน ทางโรงเรียนก็อ้างว่าเงินในซองก็จำนวนเยอะแล้ว โรงเรียนไม่ได้มีเงินงบประมาณในส่วนนี้ ตนแค่ขอให้กระดูกลูกชายได้บรรจุในโกศ เพราะตอนนี้ถูกฝังอยู่ในดิน ทางโรงเรียนก็ไม่ช่วยเหลือแล้ว เพราะแจ้งว่าได้ช่วยมาเยอะแล้ว

น.ส.พัชรี กล่าวต่อว่า หากย้อนไปในช่วงแรกๆ สาเหตุที่ทำให้ตนไม่แจ้งความเอาผิดโรงเรียนและคณะครู ก็เพราะว่ามีครูคนหนึ่งแจ้งว่าผู้บริหารระดับสูงของโรงเรียนระบุว่า หากผู้ปกครองไปดำเนินคดีกับโรงเรียน ทางโรงเรียนจะไม่ให้ความช่วยเหลือเรื่องเงิน และจะไม่ให้พักที่พื้นที่ของทหารระหว่างเฝ้าอาการลูก ตนจึงกลัว นอกจากนี้ ยังมีครูบางคนซ้ำเติมตนด้วยว่า “ถ้าลูกของครูตาย ครูจะไม่เอาเงินสักบาท” ตนมองว่าการพูดแบบนี้ไม่ถูกต้อง

ทั้งนี้ ตนไม่ได้อยากดำเนินคดีกับใครเลย ขอเพียงแค่ความช่วยเหลือที่มันเหมาะสมกับลูกชายที่มีอนาคตอีกไกลและมีความต้องการอยากเข้ารับราชการ เพื่อเป็นเสาหลักของครอบครัว แต่ตอนนี้เห็นแบบนี้ ตนคงต้องลุกขึ้นมาสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับลูกชาย โดยตนจะกลับไปปรึกษากับครอบครัว พิจารณากลับไปแจ้งความดำเนินคดีกับคนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ด้านนายเอกภพ กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดขึ้น มันอยู่ในความรับผิดชอบภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ ที่ตนมองว่า ผู้ปกครองควรได้รับความช่วยเหลือมากกว่านี้ เพราะครอบครัวผู้ตายมีอาชีพหาเช้ากินค่ำ ไม่ได้มีเงินมาก แต่ถ้าโรงเรียนกลับช่วยเหลือเพียงยอดเงินจำนวนดังกล่าว และพยายามปฏิเสธบ่ายเบี่ยงว่าโรงเรียนไม่มีงบประมาณในการช่วยเหลืออีกต่อไปแล้ว ตนจะสอบถามไปยังรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสอบถามเรื่องงบประมาณในการช่วยเหลือเด็กและครอบครัวที่ประสบอุบัติเหตุในลักษณะดังกล่าว ว่าจะมีเงินส่วนใดเข้ามาช่วยเหลือจุนเจือได้หรือไม่ เพราะงานปัจฉิมนิเทศที่เกิดขึ้น เป็นกิจกรรมที่โรงเรียนพาเด็กนักเรียนไป ดังนั้น โรงเรียนควรจะมีความรับผิดชอบมากกว่านี้หรือไม่

และตนก็จะปรึกษาประสานข้อมูลไปยังกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เพื่อดูในส่วนของเงินค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา และหากคุณแม่ของน้องดีฟประสงค์จะกลับไปดำเนินคดีใหม่อีกครั้ง ก็ขอให้ทางคุณแม่ไปศึกษาข้อมูลรายละเอียดกับญาติพี่น้องให้เรียบร้อยก่อน ส่วนตนจะช่วยเหลือประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ให้