บิ๊กโจ๊ก ขานรับ ตำรวจสากลออกระเบียบ ระวังการส่งต่อข้อมูลล่วงละเมิดทางเพศเด็ก หลังพบสถิติเด็กถูกล่วงละเมิดซ้ำทางโซเชียลมีเดีย สร้างรอยแผลทางใจแม้ว่าเหยื่อจะเป็นผู้ใหญ่ แต่ภาพความทรงจำยังคงอยู่ในระบบ ลบยาก

จบลงไปแล้วสำหรับการประชุมสมัชชาใหญ่ตำรวจสากล (INTERPOL) ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 โดยมีซึ่งกลุ่มประเทศสมาชิกกว่า 195 ประเทศ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพียงเพื่อฟังรายงานการดำเนินงานของตำรวจสากลที่ผ่านมา โดยเฉพาะในประเด็นการใช้งบประมาณที่ได้จากการสนับสนุนของกลุ่มประเทศ ปีละกว่า 8,000 ล้านบาท ในการจัดการปัญหาอาชญากรข้ามชาติ

นอกจากการรับฟังผลการดำเนินการมาตลอดทั้งปีแล้วที่ประชุมยังได้เสนอแผนงานที่จะทำร่วมกันในปีต่อไปในแต่ละด้าน โดยเฉพาะการจัดทำข้อมูลอาชญากรข้ามชาติ ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ ตามสังคมยุคใหม่ ทำให้การก่ออาชญากรรมทำได้อย่างรวดเร็วและมีการส่งต่อข้อมูลดิจิทัล ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง ขณะที่ผู้ก่อเหตุก็มีช่องทางในการหลบหนีออกนอกประเทศหลังการกระทำผิด หรือไปกบดานตามประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อติดต่อกลุ่มเครือข่าย



ล่าสุดมีการนำเสนอคลิปวิดีโอสั้นที่เผยแพร่อยู่ในประเทศเยอรมนีและปิดบังการเข้าถึงของประเทศไทย ภายในคลิปแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการค้ามนุษย์ของกลุ่มคนร้าย ซึ่งแม้ว่ากรณีนี้จะมีการจับกุมตัวคนร้ายได้ แต่หนึ่งในบางท่อนของคลิประบุชัดว่า คนร้ายยอมจ่ายเงินใต้โต๊ะให้แก่ข้าราชการเพื่อเปิดช่องทางในการหลบหนีออกจากประเทศไทย ไปยังประเทศปลายทางซึ่งเป็นแหล่งกบดาน



ที่ประชุมยังได้เสนอที่จะออกระเบียบควบคุมการส่งต่อข้อมูลการล่วงละเมิดทางเพศของเด็กผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย เพื่อให้มีความรัดกุมป้องกันข้อมูลหลุดรอดออกจากระบบไปถึงผู้ใช้รายอื่น รวมถึงการใช้ข้อมูลระหว่างประเทศเพื่อติดตามคนร้าย ป้องกันการกระทำซ้ำในรูปแบบของเครือข่าย

ซึ่งเรื่องนี้ พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้กล่าวในเวทีการประชุม ว่า เห็นด้วยกับแนวทางการจัดการปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศกับกลุ่มเยาวชน ซึ่งพบว่าที่ผ่านมามีความรุนแรงขึ้นหลายเท่า โดยเฉพาะเด็กในกลุ่มเอเชียจะตกอยู่ในเป้าหมายของกลุ่มคนร้าย ทั้งการล่วงละเมิดทางเพศ การถ่ายทำคลิปอนาจาร และการล่อลวงไปขายประเวณี



อีกทั้งยังย้ำด้วยว่า คลิปการกระทำผิดถูกส่งต่อไปอย่างรวดเร็วทางโซเชียลมีเดีย จนยากจะลบออกจากระบบ ทำให้เหยื่อถูกกระทำอนาจารซ้ำซาก แม้ว่าจะโตเป็นผู้ใหญ่ ภาพการถูกกระทำก็ยังฝังอยู่ในระบบ และมีข้อมูลไม่น้อยถูกส่งต่อโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ระมัดระวังในการใช้ข้อมูล ทำให้ข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐตกไปอยู่ในมือของกลุ่มของคนร้าย

ดังนั้นจึงเห็นด้วย ที่จะออกระเบียบให้ทุกประเทศ เข้ามาร่วมกันจัดการปัญหาการส่งต่อข้อมูลเหยื่อถูกกระทำอนาจารอย่างระมัดระวัง และเปิดให้เข้าถึงข้อมูลในรูปแบบใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่การส่งต่อคลิปอนาจารต้นฉบับ เข้าไปในระบบ



นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ประเทศต้นทางของผู้ต้องหาและประเทศใกล้เคียง ร่วมกันสร้างแนวทางสกัดกั้นการหลบหนีของคนร้ายจากประเทศปลายทาง โดยให้กระทำอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการส่งต่อข้อมูลหมายจับ เส้นทางทรัพย์สิน รวมไปถึงกลุ่มเครือข่ายเพื่อไม่ให้กลุ่มคนร้ายสามารถไปรวมตัวกันได้ และกระทำการอนาจารซ้ำไปซ้ำมา จนยากที่จะแก้ปัญหานี้ให้หมดสิ้นไป

ทั้งนี้ผลจากการส่งต่อข้อมูลอย่างรวดเร็วและทันท่วงทีในช่วงสามปีที่ผ่านมา โดยศูนย์เพื่อเด็กหายและถูกฉวยผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (U.S. National Center for Missing and Exploited Children หรือ NCMEC) และคณะทำงานปราบปรามอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดต่อเด็ก สำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทย (Thailand Internet Crimes Against Children หรือ TICAC) ซึ่งได้ลงนามในข้อตกลงแบ่งปันข้อมูลเพื่อต่อต้านการแสวงประโยชน์จากเด็ก ทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย สามารถเข้าถึงรายงานของ NCMEC เกี่ยวกับคดีการแสวงประโยชน์จากเด็กอย่างรวดเร็ว



และแม้ว่าปัจจุบัน TICAC จะได้รับข้อมูลจาก NCMEC ผ่านสำนักงานในไทยของหน่วยสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ กระทรวงความมั่นคงแห่งสหรัฐอเมริกาแล้ว แต่การได้รับข้อมูลโดยตรง จะช่วยให้ TICAC สามารถปฏิบัติการได้รวดเร็วฉับไวต่อกรณีฉุกเฉินและเข้าถึงข่าวกรองด้านอาชญากรรมได้โดยตรง เช่น การปราบปรามการแสวงประโยชน์จากเด็ก

และนี่ทำให้สถิติการแก้ปัญหาในประเทศไทยดีขึ้นตามลำดับ โดยพบว่า ในปี 2021 มีสถิติการจับกุมจากข้อมูล 79 เคส มีการขยายผลไปสู่ข้อมูลเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้อง 589 ข้อมูล กระทั่ง พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ ได้เข้ามาดำเนินการแก้ปัญหาก็พบว่าในปี 2022 มีการจับกุมเพิ่มขึ้นจากข้อมูล 482 เคส มีการขยายผลไปสู่ข้อมูลเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้อง 9,569 ข้อมูล

ขณะที่ในปี 2023 จนถึงปัจจุบันมีการจับกุมจากข้อมูล 461 เคส มีการขยายผลไปสู่ข้อมูลเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้อง 8,328 ข้อมูล ทำให้คลิปที่ปรากฏอยู่ในระบบเกือบ 600,000 คลิป ลดลงมาเหลือเพียง 332,639 คลิป ในปีปัจจุบัน

ขณะที่ นายเจอร์เก้น สต๊อก เลขาธิการตำรวจสากล อินเตอร์โพล กล่าว ขอบคุณกลุ่มประเทศสมาชิกทั้ง 196 ประเทศที่ให้ความร่วมมือเข้ามาติดตามประเมินผลการบริหารงาน ของตำรวจสากล ซึ่งในปีนี้มีผลงานการดำเนินการที่ก้าวกระโดดจากการ แสวงหาความร่วมมือร่วมกัน และเชื่อมั่นว่าในปีต่อไปก็จะประสบความสำเร็จเพิ่มมากขึ้นโดยในปีหน้าจะย้ายสถานที่การประชุมไปที่ประเทศสกอตแลนด์เป็นครั้งที่ 93 หรือปีที่ 101 ของการก่อตั้งตำรวจสากล