บรรยากาศพิธีมอบรางวัล เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการเจรจาเกลี้ยกล่อมเยาวชนที่ก่อเหตุร้ายในห้างพารากอน ยอมรับกดดันกับสถานการณ์ พร้อมเผยวิธีการเกลี้ยกล่อมอย่างไรให้ผู้ก่อเหตุยอมมอบตัวแต่โดยดี

วันที่ 5 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.45 น. พล.ต.ต.ภานพ วรธนัชชากุล ผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191) มอบใบประกาศเกียรติคุณแก่ตำรวจ 2 นาย และเจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์รับแจ้งเหตุ 5 คน ที่มีส่วนในการเจรจาพูดคุยกับเด็กผู้ก่อเหตุ และประสานข้อมูลในการเข้าระงับเหตุการณ์ยิงหมู่ในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้แก่



เจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย

1. ร้อยตำรวจเอก พศวัต จงจิตร รองสารวัตร ชุดปฏิบัติการ กองกำกับการศูนย์รวมข่าว บก.สปพ.
2. สิบตำรวจตรี ธนชาต ใจสุภาแสน ผู้บังคับหมู่ ชุดปฎิบัติการกองกำกับการ ศูนย์รวมข่าว บก.สปพ.

เจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์รับแจ้งเหตุ 5 คน

1. นายประกรชัย ลี่แตง
2. นางสาวอัปสร เสียงล้ำเลิศ
3. นางสาวรำไพ พรหมสุข
4. นางสาวสุรีรัตน์ ยิ้มสมบัติ
5. นายพรเทพ ขาวสะอาด



นายประกรชัย ลี่แตง เจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุ หัวหน้างานการฝึกอบรม (บริษัท วัน ทู วัน คอนแทคส์ จำกัด) ซึ่งเป็นผู้โทรศัพท์เจรจา พูดคุยกับเด็กผู้ก่อเหตุ เผยว่า ในวันเกิดเหตุเด็กผู้ก่อเหตุได้โทรศัพท์เข้ามาที่สายด่วน 191 โดยมีพนักงานหญิงเป็นผู้รับสาย เมื่อพูดคุยแล้วทราบว่าเป็นผู้ก่อเหตุยิงหมู่ที่ห้างสรรพสินค้าพารากอน จึงให้หัวหน้าพนักงานมาพูดคุยต่อ ก่อนจะส่งสายโทรศัพท์ให้ตนเองเป็นผู้พูดคุยเจรจา ซึ่งใช้เวลาประมาณ 28 นาทีด้วยกัน

โดยในวันเกิดเหตุได้พยายามพูดคุยกับผู้ก่อเหตุให้ใจเย็นและยอมวางอาวุธเพื่อมอบตัวกับตำรวจ โดยมีตำรวจที่อยู่เวรศูนย์วิทยุผ่านฟ้า และพลตำรวจตรีภานพ โทรศัพท์เข้ามาฟังการเจรจาแบบเรียลไทม์ เพื่อนำข้อมูลส่งให้เจ้าหน้าที่หน้างานได้ประเมินสถานการณ์ในการเข้าระงับเหตุ จนสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ การจรจามุ่งเน้นการเกลี้ยกล่อมให้ผู้ก่อเหตุยอมมอบตัวแต่โดยดี แต่จะไม่ไปสอบถามถึงสาเหตุของการก่อเหตุ เพราะอาจเป็นการจุดชนวนให้เกิดความเครียดไปจี้จุด จนอาจทำให้ก่อเหตุรุนแรงต่อเนื่องไปอีก และไม่ให้ทำร้ายตนเอง อีกทั้งยังยอมรับว่าตื่นเต้นกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ก็พยายามควบคุมสติเพื่อให้การเจรจาสัมฤทธิ์ผล



ด้าน ร้อยตำรวจเอก พศวัต เผยว่า ระหว่างการเจรจาก็พยายามนำข้อมูลส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่หน้างาน เพื่อเข้าระงับเหตุ ยอมรับว่า ตอนนั้นสถานการณ์ค่อนข้างมีความกดดัน เพราะต้องทำให้เหตุการณ์สงบโดยเร็ว และไม่ให้เกิดความสูญเสียเพิ่มเติม

ขณะที่ พลตำรวจตรี ภานพ ระบุว่า ขณะเกิดเหตุได้มีการประสานข้อมูลเหตุการณ์ครั้งนี้ได้ใช้ศูนย์วิทยุผ่านฟ้า ประสานงานกับศูนย์วิทยุนารายณ์เป็นหลัก เริ่มจากเจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุได้รับสายโทรศัพท์จากเด็กผู้ก่อเหตุ โดยมีตำรวจเป็นตัวกลางนำข้อมูลการเจรจาส่งให้กับตำรวจในพื้นที่ เพื่อวางแผนเข้าระงับเหตุ

ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงมีแนวคิดที่จะผลักดันให้มี 191 แห่งชาติ คือ ให้ 191 ทุกจังหวัดมีประสิทธิภาพเหมือนกับ 191 ในกรุงเทพมหานคร อีกทั้ง ยังฝากถึงประชาชนขอความร่วมมือว่า อย่าโทรศัพท์มาป่วน หรือแจ้งเหตุเท็จกับสายตรวจ 191 เพราะในยามคับขันสายโทรศัพท์ดังกล่าว อาจมีความสำคัญต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นที่กำลังได้รับความเดือดร้อนอยู่