กทม.สิทธิมนุษยชนฯ - คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินฯ วุฒิสภา สานพลังร่วมสร้าง "สิทธิเด็กไทยกับความปลอดภัยทางถนน" พบ 49% มีการดื่มแล้วขับ ปี 2565 เกิดอุบัติเหตุรถรับ-ส่งนักเรียนมากถึง 30 ราย ผลักดันมาตรการ-วัฒนธรรมความปลอดภัย ลดอุบัติเหตุทางถนนในกลุ่มเด็ก-เยาวชน

วันที่ 30 กันยายน 2566 ที่อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ร่วมกับ คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา จัดเสวนา "สิทธิเด็กไทยกับความปลอดภัยทางถนน" โดยนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภาและประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ กล่าวว่า การจัดเสวนาครั้งนี้มีเป้าหมายหลักเพื่อ "สร้างความปลอดภัยทางถนนให้กับเด็กและเยาวชน"



รวมถึงให้ความรู้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ถูกต้องตามหลักสิทธิและความปลอดภัยทางถนน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน ร่วมกำหนดมาตรฐานสิทธิและความปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็กและเยาวชน ความรู้ความเข้าใจสิทธิ และความปลอดภัยทางถนน และยื่นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้กับ 3 หน่วยงานสำคัญ ได้แก่ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงคมนาคม และมีการเสวนาหัวข้อ "กลไกการคุ้มครองกับความปลอดภัยทางถนน" และ "รถรับ-ส่ง นักเรียนและหลักประกันความปลอดภัยทางถนน"



นายสมชาย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนเป็นวัยที่ออกนอกบ้านมากขึ้น เช่น ไปโรงเรียน ไปเล่นนอกบ้าน ซึ่งห่างไกลจากพ่อแม่ มีการเล่นกันเป็นกลุ่ม และเริ่มมีการเดินทางในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การโดยสารรถยนต์ส่วนบุคคล รถสาธารณะ การเดินทางจึงมีความเสี่ยงต่อเด็กเสมอ และหากไม่มีการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีความรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนน ไม่มีการจัดรูปแบบการเดินทางอย่างเหมาะสม จะทำให้อัตราการตายจากอุบัติเหตุทางถนนในเด็กและเยาวชนมีจำนวนสูงมากขึ้น แนวทางการบรรเทาและแก้ไขปัญหา ต้องพิจารณากำหนดรูปแบบการขนส่งที่ดีต่อสุขภาพ ให้มีมาตรฐานด้านความปลอดภัย ช่วยลดความเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน เพื่อคุ้มครองสิทธิความปลอดภัยทางถนนของเด็กและเยาวชน



ขณะที่ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินฯ กล่าวว่า ข้อมูลจากมูลนิธิไทยโรดส์ปี 2562 โดยการสนับสนุนของ สสส. พบว่า ภาพรวมคนไทยสวมหมวกกันน็อกเฉลี่ย 45% กลุ่มเด็กโต-เยาวชน สวมเพียง 10-20% เป็นเด็กเล็กเพียง 8%

สำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจพฤติกรรมสุขภาพปี 2564 ถึงความเสี่ยงสำคัญของเด็กเยาวชน อายุ 15-24 ปี พบว่า มีการดื่มแอลกอฮอล์กว่า 1,917,610 ราย ที่สำคัญในกลุ่มอายุ 15-19 ปี 49% มีการดื่มแล้วขับในช่วง 7 วันอันตรายของเทศกาลปีใหม่-สงกรานต์ เด็กเยาวชน อายุต่ำกว่า 20 ปี ดื่มแล้วขับ เกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บรักษาในโรงพยาบาล เฉลี่ย 800-1,000 ราย ต่อปี



นอกจากนี้ ความเสี่ยงบนท้องถนนของเด็กและเยาวชน ยังมีเรื่องของรถรับ-ส่งนักเรียน พบว่าปี 2565 เกิดอุบัติเหตุถึง 30 ครั้ง เกิดอุบัติเหตุรถรับ-ส่งนักเรียน 27 ครั้ง อุบัติเหตุจากภัยธรรมชาติ 2 ครั้ง ลืมเด็กบนรถ 1 ครั้งเฉลี่ย เกือบเดือนละ 3 ครั้ง เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าจากปี 2564 และที่น่าสลดใจอย่างมากมีการลืมเด็กบนรถรับ-ส่งนักเรียน 11 ปี 11 ศพ (ปี 2555-2565)

"คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินฯ ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการยกระดับของการลดอุบัติเหตุ สร้างมาตรการความปลอดภัย และร่วมบริหารจัดระบบรถรับ-ส่งนักเรียนที่ปลอดภัย ปรับปรุงทางม้าลายให้มีมาตรฐานความปลอดภัย และสนับสนุนการกำหนดความเร็วที่ 30-40 กิโลเมตร/ชั่วโมง บริเวณหน้าโรงเรียนและเขตชุมชน สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย และความรับผิดชอบร่วมกัน ผลักดันให้มีหลักสูตรการสอนหรือการจัดการเรียนรู้ "ความปลอดภัยทางถนน" ในชั้นเรียนตั้งแต่ระดับปฐมศึกษาถึงอุดมศึกษาที่ชัดเจน โดยเฉพาะทักษะการประเมินสถานการณ์เสี่ยงขณะขับขี่หรือใช้รถใช้ถนน และขอความร่วมมือ ก.พม. ก.ศธ. ก.คค. มีนโยบายเพื่อดูแลความปลอดภัยและลดอุบัติเหตุทางถนนในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งจะเป็นพลังสร้างชาติในอนาคตต่อไป" นายสุรชัย กล่าว