23 ก.ย. ของทุกปี วันภาษามือโลก พาไปส่องชีวิตและสิทธิของคนหูหนวก หูตึง สู่การเรียกร้องความเท่าเทียมในสังคมไทย

“ภาษามือ” ได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก  

โดยมักจะเห็นดารานักแสดง และเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ คนรุ่นใหม่ ทั้งไทยและต่างประเทศฝึกหัดภาษามือกันมาก เพื่อใช้สื่อสารกับผู้บกพร่องทางการได้ยิน หรือคนหูหนวก หูตึง 

ขณะเดียวกัน คนหูหนวก หูตึง ก็ฝึกหัดการเขียน เพื่อใช้สื่อสารกับคนหูปกติ นั่นแสดงให้เห็นว่า โลกเข้าสู่ยุคความเท่าเทียมมากขึ้น

จะไม่มี “ภาษาใบ้” ที่เปรียบเสมือนการเหยียด คงมีแต่ “ภาษามือ” ที่ส่งเสริมและมองคนหูหนวก หูตึง เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เท่านั้น

แล้วรู้หรือไม่ว่า ทุกวันที่ 23 กันยายน ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น กำหนดให้เป็น “วันภาษามือโลก” ด้วยเพราะเป็นวันก่อตั้งสมาคมคนหูหนวกโลก (World Federation of the Deaf:WFD) ในปี ค.ศ. 1951

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ภาษามือแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน แต่สำหรับประเทศไทยนั้น มีภาษามือที่ใช้สื่อสาร 4 รูปแบบ ได้แก่

1.ภาษาท่าทาง เป็นภาษามือที่ใช้ท่าทางในการสื่อสาร

2.ภาษามือครอบครัว ถูกคิดขึ้นเพื่อใช้สื่อสารกันภายในครอบครัว

3.ภาษามือตามไวยากรณ์ไทย ถูกฝึกฝนเพื่อให้คนหูหนวกเขียนหนังสือและเข้าใจความหมายของภาษาไทยถูกต้อง

4.ภาษามือไทย ได้รับอิทธิพลมาจากภาษาอเมริกัน ทำให้คนหูหนวก หูตึง จะเขียนคำสลับย้อนแบบไวยากรณ์ต่างชาติ (อ้างอิงกรุงเทพธุรกิจ : ส่องคุณภาพชีวิตผู้พิการทางการได้ยิน ใน “วันภาษามือสากล”)

ยกตัวอย่าง เช่น ไม่มีแฟนยัง 8 ปีแล้ว โสดเหงามาก มีเงินสบายดีชีวิตเสมอ ซึ่งหมายความว่า 8 ปีแล้ว ที่ไม่มีแฟน โสดและเหงามาก มีเงิน ชีวิตสบายดีเสมอ เป็นต้น

 

อุปสรรคทางภาษา ข้อจำกัดทางอาชีพ

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ด้วยข้อจำกัดทางด้านการสื่อสาร ทำให้คนหูหนวก หูตึง ไม่ค่อยได้รับโอกาสทางด้านอาชีพ

ด้วยเหตุนี้ เรามักจะเห็นคนหูหนวก หูตึง ทำงานในสถานประกอบการในตำแหน่งหน้าที่เกี่ยวกับเอกสาร หรืองานฝีมือ ที่ไม่ต้องใช้ภาษาในการสื่อสาร เท่านั้น เช่น รีดผ้า ร้อยมาลัย ธุรการ กราฟิก  ในขณะที่ความฝันของคนหูหนวก หูตึง หลาย ๆ คน อยากจะมีอาชีพในฝันเหมือนคนหูปกติ

“หาด” นาวิน ป้อมสีเขียว อายุ 27 ปี คนหูหนวก หูตึง ชาวปราจีนบุรี ปัจจุบันเป็นพนักงานของบริษัทแห่งหนึ่ง แถวลาดกระบัง มานานหลายปี บอกว่า ชีวิตของเขาอาจจะโชคดีกว่าคนหูหนวก หูตึง หลายคน เพราะมีงานทำ มีเงินเดือน และโบนัส เช่นเดียวกับคนหูปกติ และจากโอกาสที่ได้รับ ทำให้เขามีรายได้จุนเจือครอบครัว และมีเงินเก็บก้อนหนึ่งไว้ใช้ยามจำเป็น

ทั้งนี้ เขาสะท้อนด้วยว่า ยังมีเพื่อนหูหนวก หูตึง หลายคน ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก บางคนไม่มีงานทำ ต้องหยิบยืมเงินจากเพื่อนหูหนวก หูตึง ด้วยกัน แล้วไม่คืน เพราะไม่มีงาน ไม่มีเงิน ทำให้ผิดใจกัน หรือบางคนตัดสินใจขายเรือนร่างเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ

หาดจึงมองว่า ถ้าคนหูหนวก หูตึง ได้รับโอกาสในการเข้าทำงานมากกว่านี้ ชีวิตของพวกเขาก็คงสุขสบาย จึงเรียกร้องไปยังรัฐบาล ควรจะเพิ่มสิทธิการลดหย่อนภาษีให้แก่องค์กร ห้างร้าน มากกว่านี้ เพื่อให้คนหูหนวก หูตึง ได้รับเงินเดือนที่คุ้มค่าและเพียงพอต่อการดำรงชีพ

เพราะปัจจุบัน เรตเงินเดือนของคนหูหนวก หูตึง ยังอยู่ที่ไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในแต่ละเดือน

 

“เด็กหูหนวก” ต้องเข้าถึงสิทธิ์

ขณะที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในการประชุมใหญ่สามัญสหพันธ์คนหูหนวกโลก ณ ประเทศเกาหลีใต้ เห็นชอบประกาศ "ปฏิญาณว่าด้วยสิทธิเด็กหูหนวก 10 ข้อ" เพราะถือว่าเด็กในวันนี้ คือ ผู้ใหญ่ในวันหน้า และปูพื้นฐานชีวิตให้แข็งแกร่งเพื่อต่อสู้ในโลกอนาคต ได้แก่

1.เด็กหูหนวกทุกคนเกิดมาอย่างอิสระและเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีและสิทธิเช่นเดียวกับมนุษย์ทุกคน

2.เด็กหูหนวกทุกคนมีสิทธิใช้ภาษามือไทย ซึ่งเป็นภาษามือประจำชาติ ที่ทำให้เด็กหูหนวกเข้าถึงได้อย่างเต็มที่ตั้งแต่แรกเกิด

3.สิทธิเด็กหูหนวกในการเข้าถึงและใช้ภาษามือไทย โดยไม่ถูกเพิกเฉย

4.ผู้ปกครอง ผู้ดูแลและสมาชิกในครอบครัวของเด็กหูหนวกทุกคนต้องได้รับการสนับสนุน ด้านการเรียนภาษามือไทย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

5.เด็กหูหนวกทุกคนมีสิทธิได้รับการศึกษาในทุกรายวิชา โดยเน้นการใช้ระบบสองภาษา : ภาษาไทย (อ่าน-เขียน) และภาษามือไทย อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ

6.เด็กหูหนวกทุกคนมีสิทธิเข้าถึง เข้าใจอัตลักษณ์ของภาษามือไทยและวัฒนธรรมคนหูหนวก

7.เด็กหูหนวกทุกคนมีสิทธิได้รับการคุ้มครองจากการกีดกันทางภาษา การไม่ให้เด็กหูหนวกเข้าถึงภาษามือไทย ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ

8.เด็กหูหนวกทุกคนมีสิทธิเข้าถึงบุคคลต้นแบบรวมถึงบุคลากรทางการศึกษาที่สามารถใช้ภาษามือไทยได้อย่างคล่องแคล่ว

9.เด็กหูหนวกทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต

10.ปฏิญญาทั้งหมดข้างต้น จะต้องดำเนินการกับเด็กหูหนวกทุกคนโดยทันท่วงที

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมสิทธิของคนหูหนวก หูตึง ทำให้ในปี ค.ศ. 2023 ประเทศไทย ภายใต้การนำของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งได้ร่วมกับสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย และพันธมิตร จัดงานวันภาษามือโลก และงานสัปดาห์หูหนวกโลก ระหว่างวันที่ 23-24 กันยายน ณ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ชั้น G ลานอเวนิว โซนเอ-บี ภายใต้คอนเซ็ปต์ “โลกที่คนหูหนวกสามารถสื่อสารภาษามือได้ทุกที่”

ลองไปดูชีวิตของคนหูหนวก หูตึง ของไทยและโลก ได้ในงานนี้ แล้วจะเข้าใจพวกเขามากขึ้น

 

เขียนโดย ณัฐดนัย ใหม่ซ้อน