พาย้อนอดีตเร้นรอยรากเหง้า "เมืองศรีเทพ" มรดกโลกวัฒนธรรม แห่งที่ 4 ของไทย เหตุใด สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ จึงปรารถนาเห็นด้วยตาตัวเอง

 “เร้นรอย” รากเหง้าของไทย

นับว่ามีมาช้านาน แต่ยากจะหาคนใคร่รู้ว่า ก่อนจะมีอโยธยาศรีรามเทพนครนั้น ได้ก่อเกิดเมืองโบราณสมัยทวารวดีที่เคยรุ่งเรืองมาเก่าก่อน นั่นคือ “เมืองศรีเทพ” หรือ “เมืองโบราณศรีเทพ” ซึ่งตั้งอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ในปัจจุบัน และเพิ่งได้รับการรับรองขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของประเทศไทย

เมืองแห่งนี้มีอดีตที่เคยรุ่งโรจน์ เรืองอำนาจ ก่อนจะค่อย ๆ ถูกลดบทบาทลงและถูกทิ้งร้างไปในที่สุดในศตวรรษที่ 18 ทิ้งไว้เพียงร่องรอยของรากเหง้าศิลปะสมัยทวารวดีผสมขอม และตำนานของเมืองที่ไม่มีใครอยากจะไปเยือน

เหตุไฉนจึงไม่มีใครอยากไปเยือนเมืองศรีเทพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเพชรบูรณ์ ในสมัยรัตนโกสินทร์

 

 

ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับการจดบันทึกไว้ใน “เรื่องความไข้ที่เมืองเพชรบูรณ์” ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครั้นเสด็จเยือนเมืองเพชรบูรณ์ ด้วยเพราะเมืองเพชรบูรณ์มีชื่อเสียงเลื่องลือในเรื่อง “ไข้มาลาเรีย” เรียกว่า ร้ายกาจ ใครไปเยือนก็ต้องเจ็บป่วยจนสิ้นใจ

โดยในคราวเสด็จนั้น มีทั้งคนในวังที่ห้ามพระองค์ เพราะกลัวจะเจ็บไข้ได้ป่วย ยกเว้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสนับสนุนให้เดินทางไป โดยทรงตรัสว่า “ไปเถิด อย่ากลัว สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ของเรา ท่านก็เสด็จไปแล้ว” 

แน่นอนว่า กิจอย่างหนึ่งในการที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จไปเยือนเมืองเพชรบูรณ์ หรือมณฑลเพชรบูรณ์ ในขณะนั้น นั่นคือ การสืบเมืองโบราณ นามว่า “ศรีเทพ” มีอยู่จริงไหม

ตามความตอนหนึ่งว่า “เมื่อแรกฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เห็นทำเนียบเก่าบอกรายชื่อหัวเมือง มีชื่อ ‘เมืองศรีเทพ’ เมืองหนึ่ง แต่ตัวเมืองหามีไม่ ฉันถามข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ก็ไม่มีใครรู้ว่าเมืองศรีเทพอยู่ที่ไหน

ต่อมาฉันพบสมุดดำอีกเล่มหนึ่งเป็นต้นร่าง กะทางให้คนเชิญตราไปบอกข่าวสิ้นรัชกาลที่ 2 ตามหัวเมืองเป็นทาง ๆ ให้คนหนึ่งเชิญตราไปเมืองสระบุรี เมืองชัยบาดาล เมืองศรีเทพ และเมืองเพชรบูรณ์ ก็ได้เค้าว่าเมืองศรีเทพเห็นจะอยู่ทางลำแม่น้ำสัก แต่อยู่ตรงไหนยังไม่รู้...”

นั่นคือข้อสันนิษฐานแรกที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงคาดการณ์ไว้ โดยพระองค์ทรงหาผู้ชำนาญถามไถ่ คนนั้นก็คือ “พระยาประเสริฐสงคราม” ซึ่งชรามากแล้ว ซึ่งบอกว่า เมืองศรีเทพ ก็คือ เมืองวิเชียรนั่นเอง

โบราณเรียก 2 ชื่อ คือ เมืองท่าโรง และเมืองศรีเทพ กระทั่งในสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 จึงโปรดเกล้าฯ ยกเมืองศรีเทพเป็นเมืองตรี และเปลี่ยนนามเป็นเมืองวิเชียรบุรี

 ด้วยทรงเป็นนักประวัติศาสตร์ในหัวใจ ทำให้พระองค์ล่องเรือไปยังเมืองวิเชียร และเรียกชาวบ้านศรีเทพมาถามเบาะแส ในคราแรกนั้น ไม่มีใครกล้าบอกอะไร พระองค์คาดว่า คงกลัวจะมีอันเป็นไป ด้วยคิดว่า พระองค์จะมาขุดทรัพย์แผ่นดิน กว่าจะไว้วางใจ ต้องชี้แจงกันอยู่นาน และเมื่อได้พักค้างแรม จนรุ่งเช้า ก็ทรงเดินชมเมืองโบราณนามว่า “ศรีเทพ” แห่งนี้

“...เป็นเมืองใหญ่โตตั้งในที่ราบ มีคูรอบและมีปราการถึง 2 ชั้น มีสระน้ำก็หลายสระ ที่กลางเมืองมีปรางค์เทวสถาน ทั้งข้างนอกเมืองและในเมืองเรี่ยรายไปหลายแห่ง แต่ข้อสำคัญของการดูเมืองโบราณแห่งนี้ อยู่ที่ไปพบของจำหลักศิลาแปลก ๆ มีอยู่เกลื่อนกล่น เพราะยังไม่มีใครได้เคยไปค้นของโบราณมาแต่ก่อน...

...มีสิ่งหนึ่งซึ่งควรจะกล่าวถึง ด้วยเป็นของสำคัญทางโบราณคดีไม่เคยพบที่อื่น คือ “หลักเมือง” ทำด้วยศิลาเป็นรูปตะปูหัวเห็ด ทำรอยฝังปลายตะปูลงในแผ่นดิน เอาแต่หัวเห็ดไว้ข้างบน จารึกอักษรเป็นภาษาสันสกฤตไว้ที่หัวเห็ด เดี๋ยวนี้รักษาไว้ในหอพระสมุดวชิรญาณ เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าหลักเมืองตามแบบโบราณ เขาทำอย่างไร” คือข้อความตอนหนึ่งที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บันทึกไว้

จากเมืองโบราณที่ไม่มีใครใคร่อยากเข้าไปเยือน เพราะกลัวความไข้ แต่เมื่อเวลาล่วงเลยผ่าน ความกลัวเหล่านั้นก็คลายหายไป และนับตั้งแต่นาทีที่ยูเนสโกประกาศรับรองเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกฯ ประตูแห่งกาลเวลานี้ก็ถูกเปิดต้อนรับทุกคนอีกครั้ง

“ศรีเทพ” มหานครมรดกโลก .

 

เรียบเรียงโดย ณัฐดนัย ใหม่ซ้อน