เสี่ยกุมขมับประมูลที่รถไฟ ชาวบ้านไม่ย้ายออก เจรจา 4 ปี พอศาลสั่งบอกรังแกคนจน

กรณีเพจ”Social Hunter Reborn V3” ลงเรื่องราว พร้อมสภาพบ้านถูกรื้อถอน พร้อมบรรยายว่า “ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าเจ้าของตลาด แถวย่านบางกอกน้อย ที่มาไล่ทุบบ้านของชาวบ้าน ได้มีคำสั่งจากศาล เพื่อขับไล่ชาวบ้านอย่างถูกต้องหรือไม่”

วันที่ 23 มิ.ย. 2566 ทีมข่าวช่อง 8 ลงพื้นที่ไปยังชุมชนวัดใหญ่ยายมอญ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ พบว่า ตั้งแต่ช่วงเช้ามีเจ้าหน้าที่จากกรมบังคับคดี เจ้าหน้าที่เขตบางกอกน้อย ตำรวจท้องที่ และเจ้าของตลาดในฐานะผู้ชนะประมูล นำคนงานกว่า 15 คน มาช่วยกันรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างบนพื้นที่ริมทางรถไฟ บางหลังสามารถรื้อถอนได้ เพราะเนื่องจากเจ้าของบ้านได้ย้ายออกไปอยู่ที่อื่น มีการเก็บทรัพย์สินของมีค่าย้ายไปตามที่มีการประกาศขอคืนพื้นที่ ภายหลังเจ้าของตลาดชนะการประมูลจากการรถไฟในพื้นที่ทั้งหมดที่ขอคืน รวม 35 หลังคาเรือน ชาวบ้านออกไปแล้ว 26 หลังคาเรือน ได้เงินชดเชยหลังคาละ 18,000 บาท แบ่งจ่าย 2 งวด คือ ก้อนแรก 12,000 บาท ก้อน 2 จำนวน 6,000บาท และยังไม่ย้ายออกอีก 4 หลังคาเรือน ส่วนอีก 5 หลังคาเรือนอยู่ในขั้นตอนฟ้องขับไล่

นายเอกศิริ เจ้าของตลาด ในฐานะผู้ชนะการประมูลจากการรถไฟ และดำเนินการในฐานะผู้เช่าพื้นที่ เปิดเผยว่า ตนเองทราบจากการรถไฟว่าที่ดินดังกล่าวมีการรถไฟเป็นเจ้าของ จึงได้ยื่นร่วมการประมูล ซึ่งในปี 2560 ได้มีบริษัทเข้าร่วมประมูล 3 บริษัท โดยหนึ่งในนั้นคือบริษัทของตนเองซึ่งเป็นบริษัทดำเนินการด้านการจัดพื้นที่ตลาด บริษัทตนเองชนะการประมูลในครั้งนั้น แต่พบว่าสถานที่ดังกล่าวมีชาวบ้านอาศัยอยู่ จึงต้องเข้าสู่กระบวนการในการทำความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ภายหลังชนะประมูล

แต่ชาวบ้านอ้างสิทธิ์ว่าอยู่มานานเกินกว่า 100 ปี ตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ จนนำไปสู่กระบวนการฟ้องในชั้นศาลซึ่งเป็นการฟ้องขับไล่ โดยการฟ้องนั้นผ่านกระบวนการถึง3ศาล จนกระทั่งบริษัทตลาดของตนเองและรวมถึงการรถไฟชนะ จึงได้มีการติดป้ายประกาศเพื่อให้เวลาชาวบ้าน บางส่วนเข้าใจและยอมย้ายออก พร้อมกับรับค่าชดเชยที่บริษัทจ่ายให้ แต่บางหลังไม่พอใจยังคงมีปัญหาจนกระทั่งปัจจุบัน และเมื่อถึงระยะเวลาตามที่มีการติดป้ายประกาศเอาไว้จึงได้เข้ารื้อถอน ทำให้บางส่วนเกิดความไม่พอใจ แต่ยืนยันว่าได้ให้เวลามานานพอสมควร และพร้อมที่จะชดเชยทุกอย่าง แต่มีบางส่วนที่เข้าใจและบางส่วนที่ไม่เข้าใจ

ด้านนางสาวสมพร ชาวบ้านในชุมชน หนึ่งในชาวบ้านที่ตะโกนไม่พอใจ เปิดเผยว่า ตนเองพร้อมเคารพตามกระบวนการของกฎหมาย และไม่ใช่ดื้อที่จะไม่ย้ายออก ยืนยันว่าจะย้ายออกตามกระบวนการ แต่เพียงแค่เวลา 2-3 วัน ในการหาสถานที่ใหม่ และรวมถึงการย้ายคนในครอบครัวออกไป เพราะอย่าลืมว่าในชุมชนแห่งนี้มีทั้งเด็กและคนแก่ ตนเองเพียงแค่ขอระยะเวลา ซึ่งถึงเวลาก็จะย้ายออกทันที

และก่อนหน้านี้ หลังจากที่ทราบว่าการรถไฟมีการเปิดประมูลให้กับเจ้าของตลาด ในฐานะคนพื้นที่ที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษหรือนานกว่า 100 ปี ทุกคนก็พยามดิ้นรนและสู้ในชั้นศาล แต่แม้ว่าจะไม่มีเอกสารสิทธิ์และสู้อะไรไม่ได้ จนกระทั่งแพ้ 3 ศาล ก็ต้องยอมรับสภาพ

ให้อยู่มา 4 ปี ขอที่คืน โวยถูกรังแก?