"เกย์" มักถูกตีตราจากสังคมว่า เป็นเพศที่รักสนุกไปวัน ๆ หมกมุ่นเรื่อง "เซ็กซ์" ทว่านั่น เป็นเพียงคนกลุ่มน้อย ที่โดนเหมารวมว่าเป็นคนกลุ่มใหญ่

โดยปัจจุบันมีเกย์ที่รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมเพื่อสังคมมากมาย โดยใช้เวทีการประกวดเป็นศูนย์รวมในการประสานความร่วมมือ เฉกเช่นเดียวกับ MR GAY WORLD THAILAND ที่จัดประกวดขึ้น เพื่อเฟ้นหาบุคคล “เกย์” ที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม และจัดต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว

เอกลักษณ์หนึ่งของเวทีแห่งนี้ คือ การนำเสนอแคมเปญเพื่อรณรงค์ในหมู่เกย์และกระตุกต่อมคิดให้เกิดขึ้นในสังคม ปรับทัศนคติให้เกย์ถูกมองในภาพลักษณ์ใหม่ ๆ เช่นเดียวกับการประกวด ปี 2023 ซึ่งมีแคมเปญมากมายถูกนำเสนอขึ้นในรอบเก็บตัว ที่จัดขึ้น ณ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

นิกร ฉิมคง (อ๋อ) ประธานองค์กรบางกอกเรนโบว์ ในฐานะเจ้าของเวทีการประกวด บอกว่า แรงบันดาลใจในการทำเวทีนี้ขึ้นมา คือ การมีรอบนำเสนอโซเชียล แคมเปญ ที่เข้มข้น เพื่อจุดไฟนักสู้ และจุดประกายนักกิจกรรมเพื่อสังคม ให้หันมาใส่ใจสถานการณ์ด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศมากขึ้น และเชื่อว่า หลังจบการประกวด จะยังมีผู้เข้าประกวดหลายคนนำแคมเปญที่เสนอไปดำเนินการต่อเนื่อง

เพราะส่วนใหญ่ แคมเปญที่ผู้เข้าประกวดคิดมานั้น ล้วนมาจากพื้นฐานชีวิตของตนเอง ทั้งก่อนการประกวด ขณะประกวด และหลังการประกวด ซึ่งประธานองค์กรบางกอกเรนโบว์ ยืนยันว่า นี่คือเสน่ห์ของเวทีนี้

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะองค์กรบางกอกเรนโบว์ เป็นเอ็นจีโอ ดังนั้น จึงให้ความสำคัญในเรื่องนี้ แม้กระทั่งเวที MR GAY WORLD ซึ่งเป็นกองแม่ ยังเอ่ยปากชมว่า THAILAND จัดมีคุณภาพมาก ในเรื่องการใช้เสียงของเวทีปลุกจิตสำนึกของนักต่อสู้เพื่อสิทธิทางเพศที่หลากหลาย

 

“เซ็กซ์รัก (ษ์) โลก” แคมเปญเด่น ของคนหูหนวก หนึ่งเดียวบนเวที GAY WORLD

 

“อ๊อฟ” ธนวัฒน์ ระย้า หนึ่งในผู้เข้าประกวด ปี 2023 เป็นคนหูหนวก ที่ได้รับโอกาสให้เข้าประกวด แต่เอาเข้าจริง เขาใช้หูฟังเทียม ทำให้ปัจจุบันแทบจะกลายเป็นคนปกติแล้ว เพราะฟังและสื่อสารเป็นภาษาพูดได้บ้าง ใช้ประสบการณ์ส่วนตัว ในความเป็นคนช่างสังเกตและอ่านข่าวบ่อยครั้ง

มักเห็นเกย์มีเซ็กซ์กับคู่รักไม่ค่อยใส่ใจทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวคือ บางคู่รักมีรสนิยมมีเซ็กซ์ในอ่างอาบน้ำ และส่วนใหญ่จะเปิดน้ำในอ่างให้ไหล สร้างบรรยากาศ แต่นั่นก็ถือเป็นการสิ้นเปลืองน้ำ นอกจากนี้ยังมีการนั่งดื่มแอลกอฮอล์ก่อนมีเซ็กส์ โดยลืมที่จะคัดแยกขยะ เมื่อต้องทิ้ง

รวมถึงการรับประทานอาหารเหลือ ทำให้กลายเป็นขยะเปียกเหลือทิ้ง และที่พบบ่อยมาก นั่นคือ ทิ้งถุงยางอนามัยไม่ถูกที่ โดยเฉพาะคู่รักที่มักชอบการเอ้าท์ดอร์ หรือมีเซ็กซ์นอกสถานที่ ตามที่ปรากฎในข่าวเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็น ในป่า ตึกร้าง ทะเล เมื่อเสร็จกิจ เกือบทุกคู่จะทิ้งถุงยางอนามัยเกลื่อนกลาด กลายเป็นขยะสกปรกในบริเวณนั้น

 

อ๊อฟ ธนวัฒน์ ชวนนึกภาพว่า ธรรมชาติที่สวยงามจะเสื่อมโทรมแค่ไหน หากมีถุงยางอนามัยเต็มเกลื่อนเป็นภาพอุจาดตา

เขาจึงคิดแคมเปญนี้ขึ้น แม้ไม่ได้ต้องการเห็นผลในทันใด แต่อย่างน้อย สิ่งที่เขาได้พูดบนเวที ก็ช่วยสร้างจิตสำนึกให้ถูกปลูกขึ้นในหัวใจของคนได้  และสุดท้ายนำไปสู่การเปลี่ยนโลกให้กลับมาสวยงามดังเดิม

วิธีการของอ๊อฟแทบไม่ต้องใช้เงินในการดำเนินโครงการ เพียงแค่อาศัยเน็ตไอดอลหรืออินเฟรนเซอร์ที่มีชื่อเสียง ใช้เสียงของคนกลุ่มนี้ในการรณรงค์ เพียงเท่านี้ ก็สร้างแรงกระเพื่อมและความเปลี่ยนแปลงได้แล้ว แม้คนยุคนี้จะเปลี่ยนยาก หรือไม่เปลี่ยนเลย แต่เชื่อว่า สุดท้าย คนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาจะเปลี่ยนได้

 

โครงการของอ๊อฟ เป็น 1 ใน 30 แคมเปญที่ถูกเสนอขึ้นบนเวทีแห่งนี้ เป็นโครงการเด่น ที่หน่วยงานภาครัฐหยิบไปใช้ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืนทีเดียว .

 

เขียนและสัมภาษณ์โดย ณัฐดนัย ใหม่ซ้อน