หมอเผยเรื่องสะเทือนใจผ่านเพจ หมอคนสุดท้าย เด็กป่วยมะเร็งลุกลามขอช่วยพากลับบ้าน เพราะที่บ้านยากจนไม่มีเงินมารับ

เพจเฟซบุ๊ก หมอคนสุดท้าย โพสต์เรื่องราวสะเทือนใจเมื่อ คนไข้วัย 15 ปี ป่วยเป็นมะเร็งลุกลาม ปฏิเสธการรักษา ขอสิ่งสุดท้ายที่อยากได้คือ ขอให้หมอพากลับบ้าน เพราะอยากอยู่กับครอบครัวและเพื่อนๆ แต่ที่สะเทือนใจไปกว่านั้นคือ ทางบ้านน้องยากจนไม่มีเงินค่ารถมารับ

เพจหมอคนสุดท้าย ได้ระบุข้อความว่า "วันหยุดยาวสงกรานต์ที่ผ่านมา หลายคนได้หยุดพัก หลายคนก็ยังทำงาน และผมเองก็เป็นหนึ่งในคนที่อยู่เวรยุ่ง ๆ ในช่วงวันหยุดยาว ห้องฉุกเฉินปรึกษาเคสที่ คนไข้ชายอายุ 15 ปี เป็นมะเร็งระยะลุกลาม มาด้วยอาการหอบเหนื่อยมาก คนไข้บอกยืนยันว่าไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ จึงต้องถามซ้ำถึงอายุคนไข้ห้องฉุกเฉิน ยืนยันว่า 15 ปี น้องรับทราบตัวโรคขอตายแบบสงบไม่ทรมาน มองว่าคนไข้อายุเพียงเท่านี้ แต่กล้าตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว พร้อมจะเผชิญความตาย คำถามในหัวโผล่ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ถ้าเป็นเราจะทำได้แบบนี้ไหม ?

เมื่อได้เจอกันคนไข้ พยายามลืมตาขึ้นมาคุย แต่ทันทีที่สอบถามอาการ คนไข้บอกว่า "หมอครับ ช่วยผมด้วย ผมอยากกลับบ้าน" รู้สึกตกใจเล็กน้อย เสียงร้องขอทั้งที่เรายังไม่ได้ทำความรู้จักกันเลย น้องบอกว่า อยากอยู่บ้านอยากเจอเพื่อน รู้ว่าไม่ไหวแล้ว ซึ่งจากอาการก็ดูเหมือนว่าร่างกายของคนไข้กำลังจะไม่ไหว ดูเหนื่อยล้า หน้าตาซีดเซียวจมูกสองข้างมีออกซิเจนแรงดันสูงช่วยบรรเทาความเหนื่อยหอบ เขาเหลือเวลาไม่มาก อาจเป็นชั่วโมง ๆ หรืออาจเป็นวันต่อวัน

สอบถามคนไข้ว่า คนในครอบครัวรู้ไหมว่าอยากกลับบ้าน น้องตอบว่าบอกกับแม่และทุกคนแล้ว แต่ครอบครัวพากลับบ้านไม่ได้ เพราะแม่ไม่มีเงิน จึงสอบถามว่าบ้านน้องอยู่จังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ระยะทางห่างออกไปกว่า 400 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางคงไม่ต่ำกว่า 5-6 ชั่วโมง น้องบอกว่าที่อยากกลับบ้านเพราะ อยากไปอยู่กับแม่ อยากเจอเพื่อน ๆ ได้ลากันเป็นครั้งสุดท้าย น้องบอกความปรารถนาอย่างแรงกล้าว่า หมอช่วยผมหน่อยครับ ยอมรับว่าเมื่อได้ฟังถึงกับน้ำตาคลอ

หมอจะพยายามช่วยให้ได้กลับบ้านนะครับ ขอคิดว่าวิธีก่อนนะ จะพยายามอย่างดีที่สุด พูดด้วยเสียงสั่นออกไปอย่างไม่รู้ตัว ไม่รู้ว่าจะเป็นการให้ความหวังลม ๆ แล้ง ๆ กับคนไข้หรือเปล่า ทันใดนั้นครอบครัวของน้องก็เดินเข้ามา จึงได้รู้ว่าครอบครัวค่อนข้างลำบาก พ่อกับแม่จึงต้องจากบ้านไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัวที่กรุงเทพฯ มีย่าเลี้ยงดูตั้งแต่เด็ก น้องเติบโตที่จังหวัดหนึ่งในอีสาน คุณย่าบอกด้วยความเสียใจว่า น้องเป็นเด็กดีมาตลอด เขาตั้งใจเรียน เขาไม่น่าอายุสั้นเลย

ทราบว่าหลายปีก่อนน้องได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง ครอบครัวพาไปรักษาอย่างต่อเนื่อง ผ่าตัด เคมี ฉายแสง น้องต่อสู้อย่างอดทนมาโดยตลอด โชคร้ายเหลือเกินที่โรคกลับมา มีการแพร่กระจายไปหลายจุด น้องรู้สึกเหนื่อยมากขึ้น จนขอยุติการรักษาด้วยตัวเอง ครอบครัวจึงพามาดูแลที่บ้านแม่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่หมอทำงานอยู่ คุณย่าเล่าทั้งน้ำตาว่า น้องบอกกับย่าตลอดว่าอยากกลับบ้าน อยากไปหาเพื่อน ตอนนี้เขาเหนื่อยมาก ไม่รู้จะพากลับไปยังไง ย่าไม่มีเงินพาหลานกลับบ้านเพราะไม่มีค่ารถ

โรคภัยที่มาพร้อมกับความจน ช่างน่ากลัวเหลือเกิน รสชาติที่หากใครไม่เคยสัมผัสคงจินตนาการไม่ออกว่ามันเจ็บปวดเพียงใด เป็นครั้งแรกในชีวิตที่รู้สึกอยากเป็นคนรวยขึ้นมาจริง ๆ ทั้งที่รู้ว่าหากรวยจริง ๆ ก็ช่วยคนทั้งโลกไม่ได้ ในครั้งนี้ได้รับปากกับย่าไปว่าขอหาทางช่วยให้น้องได้กลับบ้านดูก่อน พยายามติดต่อกับหลายคน เพื่อน ๆ จิตอาสา ผู้ใจบุญหลายท่าน จนมีผู้ใหญ่ใจดีช่วยสนับสนุนค่าเดินทางกลับบ้านให้น้องในที่สุด

เมื่อนำข่าวนี้ไปแจ้งกับน้อง บอกว่า มีผู้ใหญ่ใจดีหลายคนเลยนะที่ช่วยพาน้องกลับบ้าน ดีใจไหมลูก น้องตอบกลับมาว่า ขอบคุณครับ พร้อมยกมือไหว้ ส่วนแม่น้องถามว่า น้องจะกลับถึงบ้านไหม หมอตอบว่า บอกไม่ได้เลยครับ น้องมีโอกาสที่จะเสียชีวิตระหว่างทาง แม่น้องจึงถามว่าหากเสียระหว่างทาง นั่นก็เท่ากับว่าสิ่งที่เราทำก็สูญเปล่าใช่ไหม หมอจึงตอบว่า ไม่เลยครับคุณแม่ หนึ่งคือเราตั้งใจพาน้องกลับบ้าน และสอง น้องก็รับรู้ว่าเราตั้งใจทำความฝันสุดท้ายให้เขาอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นระหว่างทาง เราทำดีที่สุดแล้วครับ

หมอให้ครอบครัวพามิกกี้โทร หาเพื่อน ๆ และวิดีโอคอล อย่างน้อยหากน้องโชคร้ายเสียชีวิตระหว่างทาง ก็ยังมีโอกาสได้คุยกับเพื่อน ๆ ของเขา น้องออกเดินทางด้วยรถที่มีผู้ใหญ่ใจดีสนับสนุนการเดินทาง และโชคร้าย น้องกลับไปไม่ถึงบ้านอันแสนอบอุ่นหลังนั้น เวลาของคนเราช่างแสนสั้นเหลือเกิน ใครจะรู้ว่าพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร น้องทำให้กลับมาตั้งคำถามกับตัวเองมากมาย

เราทำอะไรอยู่ ? ตอนนี้เราเป็นอย่างไร ? ความฝันในชีวิตของเราจริง ๆ คืออะไรกันแน่นะ ? หมอไม่เสียใจ…แต่เสียดายที่เราเจอกันช้าไป เด็กน้อยที่มีความฝันสุดท้ายแค่ "อยากกลับบ้าน" และ "เจอเพื่อน ๆ" ขอบคุณที่มาเป็นครูในวันที่แสนวุ่นวาย เขาทำให้ผมอยากเห็นคนไทยได้ "อยู่ดี" และ "ตายดี" โดยไม่มีความจนเป็นอุปสรรค"