"เท่าพิภพ" เล่ายาวที่มา กม.ห้ามขายเหล้าวันพระ ชี้ขัดต่อเสรีภาพการนับถือศาสนา-การประกอบอาชีพ ซัดกลับหากกลัวคนทำผิดศีล ทำไมไม่บัญญัติให้พระภิกษุที่ทำผิดศีลเป็นความผิดทางกฎหมายไปเลย?

วันที่ 6 มี.ค.66 นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความบนเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุความว่า "วันนี้ผมเลยอยากมาเล่าประวัติเกี่ยวกับกฎหมายการ "ห้ามขายเหล้าในวันพระ" ในวันที่เราถูกบังคับห้ามขาย

ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นับว่าเป็นกฎหมายฉบับสุดท้ายที่ออกในสมัยของนิติบัญญัติแห่งชาติ สภาที่แต่งตั้ง 100% โดยคณะรัฐประหาร ปี 2549 ก่อนที่เราจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 ธันวาคม 2550

โดยจากบันทึกการประชุมครั้งที่ 74/2550 วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม 2550 มีกฎหมายผ่าน [สภาตรายาง] แห่งนี้ รวมทั้งสิ้น 27 ฉบับ เริ่มประชุมกันตั้งแต่ 10.45 น. ก่อนที่จะจบพักการประชุมในเวลา 22.45 น. คิดเป็นเวลาการประชุมรวมทั้งสิ้น 12 ชั่วโมง หรือ 720 นาที ซึ่งสภาแห่งนี้ใช้เวลาพิจารณาร่างกฎหมายฉบับละ 26 นาทีเศษเพียงเท่านั้นเอง

ผลการกระทำในตอนนั้นทำให้ต่อมาประเทศเรามีข้อกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์มากมาย ซึ่งมาตราที่ดังที่สุดคงจะหนีไม่พ้นมาตรา 32 ที่ว่า "ห้ามโฆษณา" ที่ทุกท่านรู้จักกันดีอยู่แล้วว่ามีปัญหา แต่มาตราที่ผมจะพูดถึงวันนี้ก็คือ มาตรา 28 ที่ให้อำนาจรัฐมนตรีมากำหนดวันเวลา เงื่อนไข การขายได้ สุดท้ายแล้วในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็ได้มีการออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ห้ามขายเหล้าในวันพระ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรานี้

ก่อนที่ต่อมาหลังการ รัฐประหาร 2557 รัฐบาลประยุทธ์ จึงออกประกาศให้สำนักนายกรัฐมนตรีขันน็อตการ ห้ามขายสุรา ให้แน่นขึ้นไปอีก โดยห้ามขายทั้งในโรงแรมและเพิ่มการห้ามขายในวันออกพรรษาเข้าไปด้วย

หากนึกภาพตามที่ผมเล่ามา นี่ถือเป็นเหตุผลที่ทำให้ทุกท่านไม่สามารถหาเครื่องดื่มเย็น ๆ ชื่นใจดื่มได้ในวันหยุดชิล ๆ แบบนี้

แค่เพราะว่า "เพราะเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ" อย่างนั้นหรือ "เราถึงต้องห้ามขายเหล้าเบียร์ในวันนี้ด้วย" การใช้หลักศาสนามาเป็นเหตุผลในการออกกฎหมายนี้ ผมคิดว่าเป็นการไม่ชอบ และเป็นการขัดต่อหลักเสรีภาพในการนับถือศาสนา (ม.31) และเสรีภาพในการประกอบอาชีพ (ม.40) ตามรัฐธรรมนูญด้วย

ผมมีข้อสังเกตว่า ถ้าหากเราออกกฎหมายโดยใช้หลักศาสนามาเป็นเหตุผลว่ากลัวคนทำผิดศีลข้อห้ามทางศาสนานั้น ทำไมเราถึงไม่บัญญัติให้การกระทำของพระภิกษุที่ทำผิดศีลเป็นความผิดทางกฎหมายด้วยไปเลย

ซึ่งข้อเท็จจริงนั้น คนไทยมิได้มีแค่คนที่นับถือศาสนาพุทธเท่านั้น แต่สังคมเราเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ประกอบไปด้วยผู้คนมากมายหลากหลายเชื้อชาติ ความเชื่อ ดังนั้นรัฐเราควรดำรงค์ตนเป็นรัฐฆราวาส (secular state) ไม่ควรเอากรอบคิดของศาสนาใดศาสนาหนึ่งมากำหนดเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษแบบนี้

#เท่ากับประชาชน
#ก้าวไกล"