นายกฯ รับติดเข็มกลัดริบบิ้นสีขาว จากนักแสดงจากช่อง 8​ ร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี ขณะ "มังกร-ปภาวิน และ เมย์-ณัฐพัชร" วอนประชาชนช่วยเป็นกระบอกเสียง แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากพบเห็นการใช้ความรุนแรง

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และคณะผู้บริหารกระทรวง รวมถึง มังกร-ปภาวิน และ เมย์-ณัฐพัชร ตัวแทนนักแสดงจากช่อง 8 เข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อติดเข็มกลัดริบบิ้นสีขาว เนื่องในกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประจำปี 2565 ที่ปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "R-E-S-P-E-C-T : สร้างการยอมรับต่อความเท่าเทียม"

โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวเชิญชวนคนไทยทุกคนร่วมกันแสดงพลังและรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวทุกรูปแบบ เพื่อสร้างครอบครัวที่มีความอบอุ่น มั่นคง และสังคมไทยที่มีความสุขอย่างยั่งยืน โดยครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการยุติความรุนแรง เมื่อครอบครัวปลอดภัย สังคมและประเทศชาติก็จะปลอดภัย ซึ่งการสร้างสังคมที่ปลอดภัยนับเป็นความรับผิดชอบของทุกคนและทุกภาคส่วน ย้ำทุกฝ่ายร่วมมือกันเพื่อร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทยดีขึ้นต่อไป

ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติประกาศให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็น “วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล” (International Day for the Elimination of Violence against Women) และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 เห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็น "เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี"

ขณะที่ มังกร-ปภาวิน และ เมย์-ณัฐพัชร นักแสดงช่อง 8 กล่าวว่า วันนี้รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นตัวแทนช่อง 8 มาร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและคนในครอบครัว โดยยอมรับว่า
ในยุคโควิดทำให้หลายคนมีความเครียดมากยิ่งขึ้น และส่วนใหญ่จะเลือกหาทางออกด้วยความรุนแรง ยิ่งไปกว่านั้น จุดเริ่มต้นของความรุนแรง เกิดขึ้นจากคนในครอบครัว ทำให้วันนี้ครอบครัวไม่ใช่ Safe Zone อีกต่อไป

แต่สิ่งเหล่านี้เราป้องกันได้ โดยอาศัยความร่วมมือจากทางภาครัฐและพี่น้องประชาชนที่อยู่รอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบ้าน หรือคนใกล้ชิด ขอให้ช่วยกันสังเกตถึงความเสี่ยงหรือพฤติกรรมที่จะนำไปสู่ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีหรือคนในครอบครัว เพื่อสามารถที่จะเข้าไปช่วยเหลือบุคคลเหล่านั้นได้ทันท่วงที

นอกจากนี้ ผู้ที่กำลังเผชิญกับความรุนแรง ต้องกล้าพูดและบอกสังคม โดยสามารถขอความช่วยเหลือจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โทรได้ที่เบอร์ 1330

"คุณต้องกล้าที่จะออกมาบอกสังคม หรือหน่วยงานที่รับช่วยเหลือว่า ตอนนี้ตนกำลังเผชิญอยู่กับอะไร คุณไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวบนโลกใบนี้"