สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับบริษัทศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ สำรวจการประกอบอาชีพค้าขายรายย่อยของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยว่า สศช.ได้ร่วมกับบริษัทศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จำกัด สำรวจการประกอบอาชีพค้าขายรายย่อยของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 4 พฤษภาคม - 22 มิถุนายน 2559 ในพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร เชียงใหม่ นครราชสีมา หนองคาย ชลบุรีและสงขลา พบว่า แรงงานต่างด้าวเป็นเจ้าของร้านในห้างสรรพสินค้า 6.9% ของจำนวนผู้ค้าทั้งหมด เป็นเจ้าของแผงในตลาดนัด 1.8% เป็นเจ้าของแผงในตลาดสด 20.9% และเป็นเจ้าของร้านในตลาดชุมชน 9.7% ซึ่งต่างด้าวที่เป็นเจ้าของร้านหรือแผงค้ามีสัญชาติพม่า 44.5% กัมพูชา 21.4% ลาว 19.8% เวียดนาม 4.4% จีน 1.6% ชนกลุ่มน้อย 5.5% และอื่นๆ 2.7%

ในการสำรวจพบอีกว่า ผู้ค้าคนไทยและต่างด้าวขาดการรับรู้ด้านกฎหมาย โดยผู้ค้าชาวไทยประมาณ 3 ใน 4 รับรู้ว่ามีคนต่างด้าวมาประกอบอาชีพค้าขาย แต่มีเพียงครึ่งหนึ่งที่ทราบว่าอาชีพค้าขายของแรงงานต่างด้าวเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

ขณะที่ผู้ค้าต่างด้าวที่รู้ว่าผิดกฎหมายเพียง 1ใน 4 โดยผู้รู้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวที่เป็นเจ้าของเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบเฉพาะผู้ค้ารายย่อยที่เป็นต่างด้าว พบว่า มีสถานภาพเป็นเจ้าของ 42.9% เป็นลูกจ้าง 45.8% และค้าขายให้กับครอบครัวหรือญาติ 11.3% สะท้อนให้เห็นว่า แม้จะจ้างแรงงานต่างด้าวจดทะเบียนเป็นกรรมกร แต่ทางปฏิบัตินายจ้างต้องการแรงงานมาทำงานที่หลากหลาย รวมถึงการช่วยขายของหน้าร้าน และมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นเจ้าของเอง

นอกจากนี้ พบว่า ผู้ค้าต่างด้าวที่เป็นเจ้าของที่เข้ามาประกอบอาชีพค้าขายเลย มีสัดส่วน 41.3% อาจเพราะแรงงานต่างด้าวมีเพื่อน ญาติ เครือข่ายทำให้มีช่องทางค้าขาย ขณะที่ 1ใน3 ของผู้ค้าต่างด้าว เป็นเจ้าของร้านหลังเข้ามาแล้ว 2-3 ปี ****ชี้ให้เห็นว่า แรงงานต่างด้าวปรับเปลี่ยนการทำงานจากเดิมเข้ามาเป็นแรงงาน ปรับเป็นผู้ประกอบค้าขายเพิ่มขึ้น แม้มีการจับกุมแต่กว่าครึ่งก็จะกลับมาค้าขายใหม่อีก ด้านรายได้ พบว่า ผู้ค้าต่างด้าว 47.4% มีเงินเก็บและไม่มีหนี้สิน และ กว่า 80% ส่งเงินกลับประเทศเดือนละครั้ง โดยครั้งละ 1,001-5,000 บาท คิดเป็น 52% และส่งเงินกลับครั้งละ 5,001-10,000 บาท คิดเป็น 35.1% ทั้งนี้ การเข้าสู่อาชีพค้าขายรายย่อยของคนต่างด้าว มีทั้งเข้าเมืองมาใช้แรงงานถูกต้องตามกฎหมาย แต่เปลี่ยนมาค้าขายรายย่อย หรือ การตั้งใจเข้ามาแบบผิดกฎหมาย เช่น ถือวีซ่านักท่องเที่ยว เป็นแรงงานเถื่อน เป็นต้น

ส่วนการคงสภาพอาชีพค้าขายไว้ของต่างด้าว คือการจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่ ให้คนไทยรับหน้าเป็นนายจ้าง วนเวียนไปกลับประเทศไทยกับประเทศต้นทาง และ มีเครือข่ายแจ้งเตือนล่วงหน้าทำให้ไม่ถูกจับกุม ซึ่งได้สร้างผลกระทบต่อผู้ค้ารายย่อยของไทยทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยผลดีคือส่งเสริมให้ตลาดมีความคึกคัก ดึงดูดคนต่างด้าวอื่นๆมาซื้อสินค้า และทำให้มีสินค้าหลากหลาย

ส่วนผลเสียคือ การแย่งอาชีพคนไทย รวมทั้งตั้งกลุ่มอิทธิพล และผลกระทบอีกหลายด้าน เช่น ด้านสุขภาพอนามัย เงินรั่วไหลออกนอกประเทศ ปัญหาอาชญากรรมและการทะเลาะวิวาท การแพร่ระบาดของโรค ความต้องการทรัพยากรพื้นฐานและงบประมาณที่ต้องใช้การดูแล

การกำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ บัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา กำหนดในอาชีพและวีชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522

1. งานกรรมกร

2. งานกสิกรรรม งานเลี้ยงสัตว์ งานป่าไม้ หรืองานประมง ยกเว้นงานที่ใช้ความชำนาญ งานเฉพาะสาขา หรืองานงานควบคุมดูแลฟาร์ม

3. งานก่ออิฐ งานช่างไม้ หรืองานก่อสร้างอื่น

4. งานแกะสลักไม้

5. งานขับขี่ยานยนต์ หรืองานขับขี่ยานพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องจักรหรือเครื่องกล ยกเว้นงานขับขี่เครื่องบินระหว่างประเทศ

6. งานขายของหน้าร้าน

7. งานขายทอดตลาด

8. งานควบคุม ตรวจสอบหรือให้บริการบัญชี ยกเว้น งานตรวจสอบภายในชั่วคราว

9. งานเจียระไน หรือขัดเพชรหรือพลอย

10. งานตัดผม งานดัดผม หรืองานเสริมสวย

11. งานทอผ้าด้วยมือ

12. งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ปอ ฟาง หรือเยื่อไม้ไผ่

13. งานทำกระดาษสาด้วยมือ

14. งานทำเครื่องเขิน

15. งานทำเครื่องดนตรีไทย

16. งานทำเครื่องถม

17. งานทำเครื่องทอง เครื่องเงิน หรือเครื่องนาก

18. งานทำเครื่องลงหิน

19. งานทำตุ๊กตาไทย

20. งานทำที่นอนผ้าห่มนวม

21. งานทำบาตร

22. งานทำผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมด้วยมือ

23. งานทำพระพุทธรูป

24. งานทำมีด

25. งานทำร่มด้วยกระดาษหรือผ้า

26. งานทำรองเท้า

27. งานทำหมวก

28. งานนายหน้า หรืองานตัวแทน ยกเว้น งานนายหน้าหรืองานตัวแทนในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ

29. งานในวิชาชีพวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธา ที่เกี่ยวกับงานออกแบบและคำนวณ จัดระบบ วิจัย วางโครงการ ทดสอบ ควบคุมการก่อสร้าง หรือให้คำแนะนำ ทั้งนี้ไม่รวมที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษ

30. งานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับงานออกแบบเขียนแบบ ประมาณราคา อำนวยการก่อสร้างหรือให้คำแนะนำ

31. งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย

32. งานปั้นหรือทำเครื่องปั้นดินเผา

33. งานมวนบุหรี่ด้วยมือ

34. งานมัคคุเทศก์ หรืองานจัดนำเที่ยว

35. งานเร่ขายสินค้า

36. งานเรียงตัวพิมพ์อักษรไทยด้วยมือ

37. งานสาวและบิดเกลียวไหมด้วยมือ

38. งานเสมียนพนักงานหรืองานเลขานุการ

39. งานให้บริการทางกฎหมายหรืออรรถคดี

หมายเหตุ ตามมติคณะรัฐมนตรี ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (พม่า ลาว และกัมพูชา) ทำงานได้ 2 อาชีพ คือ 1. งานกรรมกร และ 2. งานบ้าน

สศช. สำรวจพบแรงงานต่างด้าวครองแผงค้า