ทนายรณรงค์ พาครอบครัวผู้เสียชีวิต จากเหตุเพลิงไหม้ ผับเมาน์เทนบี ร้องขอ "กองปราบ" รับโอนคดี หวั่นไม่ได้รับความเป็นธรรม

 

วันที่ 15 สิงหาคม 2565 ที่ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม พา 13 ตัวแทนญาติของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต จากเหตุการณ์ไฟไหม้ สถานบันเทิงผับเมาน์เทนบี จังหวัดชลบุรี เข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ขอให้โอนสำนวนคดีมาให้ตำรวจกองปราบปราม รับผิดชอบเนื่องจากเกรงถึงผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ และมองว่า ตำรวจและฝ่ายปกครองในพื้นที่ มีผลประโยชน์ทับซ้อน

นายรณณรงค์ เปิดเผยว่า วันนี้นำข้อมูลหลักฐานบางส่วน มาให้ตำรวจกองปราบปราม เพื่อให้โอนคดีกลับมาเนื่องจากไม่เชื่อมั่นในการทำงานของตำรวจในพื้นที่ โดยยืนยันให้ตำรวจกองปราบปรามตรวจสอบใน 3 ประเด็น คือ สถานบันเทิงดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ และสถานบันเทิงแห่งนี้มีผู้มีอิทธิพลในพื้นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประเด็นที่เจ้าของผับที่ถูกดำเนินคดี ไม่ใช่เจ้าของสถานประกอบการดังกล่าวตัวจริง

ส่วนความรู้สึกบางส่วนของตัวแทนครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ และเดินทางมาในวันนี้ ส่วนใหญ่ บอกว่า ค่าชดใช้เยียวที่ ผู้ประกอบการจ่ายให้ ไม่เพียงพอต่อค่ารักษาพยาบาล และไม่สามารถทดแทนความเสียหายต่างๆที่เกิดขึ้นได้

โดยนายอภิชัย อินศิริ พ่อของน้องไอซ์ อาทิตยา อินศิริ ผู้เสียชีวิตคนที่ 19 ของเหตุการณ์นี้ เปิดเผยว่า ต้องการความชัดเจนเรื่องการเยียวยา ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งในเรื่องของคดีความ ซึ่งลูกสาวตัวเองเสียชีวิตไปแล้ว ทำให้ครอบครัวได้รับผลกระทบ โดยที่ผ่านมา มีตัวแทนเจ้าของสถานบันเทิงให้ความช่วยเหลือมา 30,000 บาท แต่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย

ส่วน นางสาวยุพิน ทองนก แม่ของนางสาวลัดดาวัลย์ เกษกร ผู้บาดเจ็บ เป็นอีกหนึ่งคนที่ยอมรับว่า ตัวแทนเจ้าของสถานบันเทิงติดต่อขอให้ช่วยเหลือเป็นเงินจำนวน 30,000 บาท เช่นกัน และอ้างว่าให้ผู้ได้รับบาดเจ็บไปรักษาตัวต่อในโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งครอบครัวมองว่า เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเพราะว่าลูกสาวควรได้รับการดูแลที่ดีกว่านี้ เพราะมีบาดแผลที่เกี่ยวกับการศัลยกรรม เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเพลิงไหม้ตามร่างกายหลายแห่ง

ขณะที่ นางสาวณิชารัศม์ กีรติจริยาพรรณ พี่สาวของ วิน รังสิมันต์ วนิชโรจนาการ มือคีย์บอร์ด ที่เสียชีวิตบอกว่า ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาจากตัวแทนผับ จำนวน 50,000 บาท แต่ว่าไม่เพียงพอ เพราะผู้เสียชีวิต มีลูก 2 คนที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษา / ส่วนที่ ตัดสินใจเข้ามาร้องทุกข์กล่าวโทษที่กองปราบปราม เพราะว่า ไม่มั่นใจการทำงานของตำรวจในพื้นที่ เนื่องจากกังวลในเรื่องของกลุ่มอิทธิพล กดดันการสอบสวนของตำรวจ