ผอ.ไบโอเทค เผยภาพอาการผู้ป่วยฝีดาษลิงตามสื่อ เป็นคนที่ติดเชื้อสายพันธุ์รุนแรง ย้ำสายพันธุ์ปัจจุบันอาการเบากว่า

 

 

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผอ.กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้โพสต์รูปภาพ พร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Anan Jongkaewwattana” ระบุว่า “ลักษณะอาการทางผิวหนังของผู้ป่วยฝีดาษลิงในหลายประเทศในปัจจุบันแตกต่างจากภาพที่ใช้ประกอบในสื่อพอสมควร เข้าใจว่าอาจเป็นภาพที่เอามาจาก หนังสือตำรา (Textbook) หรือ จากแหล่งข้อมูลของฝีดาษลิงที่ระบาดในทวีปแอฟริกา ซึ่งอาจเป็นสายพันธุ์รุนแรงในแอฟริกากลาง ซึ่งแตกต่างจากสายพันธุ์ที่รุนแรงน้อยกว่าที่พบในปัจจุบัน ส่วนตัวมองว่านอกจากอาจจะเป็นการสร้างความตื่นตระหนกโดยไม่จำเป็นแล้ว อาจจะไม่เป็นประโยชน์ต่อการเฝ้าระวังโรค กรณีที่ไม่เคยพบอาการที่เหมือนดังภาพที่สื่อสารกันตอนนี้

ภาพจากอาการของจริงมาจากผู้ป่วยที่ออสเตรเลียที่เผยแพร่ในวารสาร Eurosurveillance จะเห็นลักษณะตุ่มบนผิวหนังที่ค่อนข้างชัด ซึ่งสอดคล้องกับภาพที่เผยแพร่มาจากหลายประเทศก่อนหน้านี้ ซึ่งควรเป็นภาพที่ใช้สื่อสารกันมากกว่าครับ 

โรคฝีดาษลิง เป็นโรคสัตว์สู่คนที่เกิดจากเชื้อไวรัส ตระกูลเดียวกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษ ซึ่งมี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์อัฟริกากลาง และสายพันธุ์ อัฟริกาตะวันตก ซึ่งสายพันธุ์อัฟริกากลางเป็นสายพันธุ์ที่มีการรายงานติดต่อจากคนสู่คน

หลังการได้รับเชื้อ ไวรัสจะอยู่ในต่อมน้ำเหลือง และใช้เวลาฟักตัว 7-21 วัน จึงแสดงอาการ โดยอาการจะเริ่มจากการมีไข้ และต่อมน้ำเหลืองโต 1-2 วัน จึงมีผื่น ผู้ป่วยจะสามารถแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่นได้ตั้งแต่มีไข้ โดยผื่นจะเริ่มจากมีแผลในปาก จากนั้นจะเริ่มมีผื่น ขึ้นที่ตัว หน้า ฝ่ามือ และฝ่าเท้า โดยผื่นจะมีขนาด 2-10 มิลลิเมตร ในช่วง 2-4 สัปดาห์ต่อมา ผื่นจะค่อยๆ เปลี่ยนจากผื่นนูนแดง เป็นตุ่มน้ำ แล้วจึงเป็นฝี โดยผื่นจะเปลี่ยนรูปแบบพร้อมๆกัน ทั่วทั้งตัว หลังตุ่มหนองแตกจนแห้งดี ผู้ป่วยก็จะอาการดีขึ้น และหมดระยะในการแพร่กระจายให้ผู้อื่น

ตอนนี้ องค์การอนามัยโลกรายงานพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง มากกว่า 700 คนทั่วโลกแล้ว