ชาวอุตรดิตถ์กว่า 100 คน รวมตัวกันเพื่อขอให้ทางภาครัฐ ช่วยรับเรื่องเปลี่ยนจากสำนักสงฆ์ให้เป็นวัด หลังรอมานานกว่า 46 ปี แต่เรื่องกลับเงียบหาย 

 

วันที่ 28 พฤษภาคม 2565 นายธนภัทร อุทธตรี นักวิชาการศาสนา สนง.พระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้เดินทางมารับหนังสือ เรียกร้องต้องการให้สำนักสงฆ์เป็นวัดที่วัดเทพมงคลทอง หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านดารา อำเภอพิชัย ชาวบ้านกว่า 100 คน ใน 3 หมู่บ้าน ต่างปิดเขียนป้ายโจมตี ขอความเห็นใจ การทำงานหน่วยงานของรัฐบาล โดยเฉพาะสำนักพุทธ และสำนักงานที่ดินหลังจากวัดแห่งนี้ก่อสร้างมากว่า 46 ปี จากสำนักสงฆ์ ได้ยื่นเอกสารมานานแล้วหลายครั้งเพื่อเปลี่ยนให้เป็นวัด แต่ก็ไม่ได้ผล โดยที่ดินดังกล่าวมีชาวบ้านบริจาครวมทั้งที่ดินสาธารณประโยชน์ สร้างสำนักสงฆ์สมัย 3 ชั่วอายุคนที่ผ่านมา มาวันนี้จึงรวมตัวบริเวณหน้าโบสถ์ของที่พักสงฆ์ดังกล่าว พร้อมชูป้ายข้อความ เรียกร้องขอความอนุเคราะห์ส่วนงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขปัญหาที่พักสงฆ์เทพมงคลทอง ให้เป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านชูป้ายข้อความ เชิงสัญลักษณ์ ทั้ง “โบสถ์ 12 ล้าน ทิ้งร้าง บวชลูกหลานไม่ได้ ” “ชาวพุทธ ต้องการวัด” “ขอผู้ว่าฯ ช่วยด้วย” ทั้งนี้แกนนำต่างสลับกันปราศรัยถึงปัญหา และข้อเรียกร้องของชาวบ้านที่ต้องการเปลี่ยนจากที่พักสงฆ์ เป็นวัดเทพมงคลทอง อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หลังได้ยื่นเรื่องผ่านหน่วยงานต่าง ๆ เป็นเวลานานหลายสิบปี แต่ไม่เป็นผล หลังจากสร้างมานาน และมีโบสถ์ ศาลาการเปรียญ หอระฆัง ที่พำนักของพระภิกษุสงฆ์ เมรุ ด้วยเงินศรัทธาจากชาวบ้านกว่า 50 ล้านบาท และมีพระสงฆ์จำวัดแล้ว 8 รูป ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

นายตอชัยทน อายุ กรรมการที่พักสงฆ์เทพมงคลทอง หนึ่งในแกนนำ กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้าน เรียกร้อง ยื่นเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับอำเภอ และจังหวัด เพื่อขอให้ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาที่ติดขัด จากที่พักสงฆ์ให้เป็นวัดที่ถูกต้อง แต่ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ชาวพุทธกว่า 500 ครัวเรือนต้องการบวชลูกหลานก็บวชไม่ได้บวช จำเป็นต้องไปอาศัยวัดอื่นๆ พร้อมที่จะเป็นวัดมากกว่าที่พักสงฆ์
สำนักสงฆ์ดังกล่าวมีพื้นที่กว่า 8 ไร่ ตั้งอยู่ในกลางหมู่บ้าน ไม่ได้อยู่กลางป่าเขา ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจสมทบทุนในการสร้างกำแพง สร้างโบสถ์ หอระฆัง ที่พักสงฆ์ ศาลาการเปรียญ และเมรุ ด้วยเงินกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งครบตามที่วัดควรจะมี สร้างมาตั้งแต่ปี 2519 หรือ 46 ปี โดยชาวบ้านเชื่อว่าคือวัด เนื่องจากมีการประกาศเป็นที่สาธารณะทีหลัง โดยเฉพาะโบสถ์ใช้เงิน 12 ล้านบาท ไม่สามารถใช้ประโยชน์ใดๆได้ ทิ้งร้าง ขาดการดูแล จะบวชลูกหลานต้องไปที่วัดอื่น ทั้งๆที่ชาวบ้านร้อยละ 90 นับถือศาสนาพุทธ แต่ไม่มีวัดสืบสานบำรุงพระพุทธศาสนา จึงรวมตัวกันยื่นหนังสือขอความอนุเคราะห์แก้ไขปัญหา ไปยังที่ดินอำเภอพิชัย และสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์

โดยนายธนภัทร อุทธตรี นักวิชาการศาสนา สนง.พระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้เดินทางมารับหนังสือพร้อมกล่าวว่า ที่ดินที่พักสงฆ์เทพมงคลทอง ตั้งอยู่ในที่ดินสาธารณประโยชน์ แปลงบึงยาวสาธารณประโยชน์ เป็นวัดที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล เบื้องต้นให้มีการจัดเตรียมเอกสาร เพื่อที่จะยื่นผ่านที่ดินอำเภอพิชัย ที่ดินจังหวัดอุตรดิตถ์ ผ่านไปยังกรมที่ดินเพื่อทบทวนปัญหาดังกล่าว เนื่องจากการใช้ที่ดินดังกล่าว ใช้ประกอบศาสนกิจ ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน หลังยื่นหนังสือ และรับฟังคำชี้แจ้ง ขั้นตอนต่าง ๆ จากเจ้าหน้าที่แล้ว จึงแยกย้ายเพื่อรอผลความคืบหน้า 7 วันหากไม่เป็นผลพร้อมยกระดับการเรียกร้องขั้นต่อไป