WHO ยืนยัน ไวรัสลูกผสม 'เดลตาครอน' พบจริง แต่ไม่ถึงขั้นน่ากังวล เนื่องจากแพร่ช้า และไม่ได้ร้ายแรงถึงขั้น 'เดลตา' และ 'โอมิครอน'

 

วันที่ 11 มีนาคม 2565 สืบเนื่องจากวันที่ 10 มี.ค. 65 ยูเอสเอทูเดย์ รายงานว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (9 มี.ค. 65) เกี่ยวกับไวรัสลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ของโรคเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งถูกพบในประเทศฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก และยังพบในสหรัฐฯ อีกด้วย ตามรายงานล่าสุดบนเว็บไซต์ medrxiv

สำนักงานใหญ่ของแล็บ Helix ทำงานร่วมกันกับ ศูนย์ควบคุม และป้องกันโรคสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention – CDC) เพื่อที่จะติดตามสถานการณ์โควิด-19 โดยผู้เชี่ยวชาญเผยว่า "มันยังเร็วไปที่จะกังวลเกี่ยวกับ 'เดลตาครอน' เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น ๆ อาทิ เดลตา และโอมิครอน เนื่องจากสายพันธุ์ดังกล่าวไม่ได้แพร่เชื้อได้ง่ายนักวิลเลียม ลี หัวหน้าเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ของ Helix กล่าว

โดยสายพันธุ์ 'เดลตาครอน' ไม่ได้มีเยอะนัก และแม้กระทั่ง 2 รายที่พบนั้น ก็ไม่ได้มีความเหมือนกันซะทีเดียว ทั้งนี้คาดว่า 'เดลตาครอน' จะไม่พัฒนาไปถึงขั้นที่น่ากังวล

อย่างไรก็ตาม "การติดเชื้อมันอยู่ในระดับที่ต่ำมาก" ดร.มาเรีย แวน เคอร์คอฟ นักระบาดวิทยาโรคติดเชื้อชาวอเมริกัน และหัวหน้าฝ่ายเทคนิคด้านโควิด-19 ของ WHO กล่าวระหว่างการแถลงข่าววันพุธ

ในขณะนี้ WHO องค์การอนามัยโลก ยังไม่พบ "การเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกี่ยวกับการระบาดวิทยา" ดร.มาเรียกล่าว "เรายังไม่พบการเปลี่ยนแปลงในเชิงร้ายแรง แต่ก็ยังคงมีการดำเนินการศึกษาสายพันธุ์ดังกล่าวอยู่ ถ้าหากยังไม่ได้มีการแพร่กระจายจำนวนมาก ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องกังวล" ดร.มาเรีย เผยเพิ่มเติม

ทีมนักวิจัยพบผู้ติดเชื้อ 2 ราย ผลปรากฎว่าเป็นสายพันธุ์ที่เกิดจากการผสมระหว่างสายพันธุ์เดลตา และโอมิครอน ในขณะที่ผู้ติดเชื้ออีก 20 ราย มีทั้งสายเดลตา และโอมิครอน และมี 1 รายที่มีสาพันธุ์เดลตา โอมิครอน และเดลตาครอน

ด้าน ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผอ.กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์ และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้โพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุความว่า "ไวรัสลูกผสมเดลตา+โอมิครอน หรือเดลต้าครอน จริง ๆ มีเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคมของปีนี้แล้ว เป็นช่วงที่เดลตายังไม่ลดลงมาก และโอมิครอนกำลังขึ้น ซึ่งคนที่ติดสองสายพันธุ์พร้อมกันจึงมีอยู่มากพอสมควรครับ สายพันธุ์ที่เป็นข่าวคือ สายพันธุ์ที่ตรวจพบในฝรั่งเศส และทีมวิจัยของ WHO ออกมายอมรับว่าเป็นไวรัสลูกผสมของจริง ไม่ใช่การปนเปื้อนของสิ่งส่งตรวจ ไวรัสชนิดนี้มีส่วนด้านหน้าที่เป็นโปรตีนสำหรับเพิ่มจำนวนไวรัสเป็นของเดลตา (AY.4) และโปรตีนหนามสไปค์มาจากโอมิครอน (BA.1) นอกจากนี้ ดูเหมือนจะพบไวรัสลักษณะคล้าย ๆ กันในเดนมาร์ก และเนเธอแลนด์ ยังไม่ชัดว่าเป็นไวรัสลูกผสมจากแหล่งเดียวกันแล้วแพร่กระจายข้ามประเทศ หรือเป็นไวรัสคนละสายพันธุ์ที่เกิดด้วยกลไกการแลกเปลี่ยนสายพันธุ์แบบใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ไวรัสชนิดนี้ยังไม่มีข้อมูลใด ๆ เรื่องความรุนแรง หรือคุณสมบัติที่โดดเด่นจนต้องจับตามอง เพราะพบมา 3 เดือนแล้วก็ไม่ได้มีอะไรที่โดดเด่นขึ้นมาครับ เนื่องจากเดลต้าลดน้อยลงมาก การเกิดไวรัสแบบนี้คงพบได้ยากขึ้น ที่จะพบกันตอนนี้จะเป็น BA.1 กับ BA.2 มากกว่า ที่พบร่วมกันอยู่อย่างมากมายในประชากรมนุษย์ครับ"