UCEP Plus เริ่มใช้ 16 มี.ค. ผู้ป่วยเหลืองแดงรักษาได้ทุกที่ ไม่เสียค่าใช้จ่าย เน้นย้ำต้องเข้าเกณฑ์เงื่อนไข หากสงสัยโทร 0-2872-1669

 

วันที่ 9 มี.ค. 2565 กระทรวงสาธารณสุข จัดแถลงข่าว เรื่อง UCEP COVID Plus และการเข้ารับบริการตามสิทธิ ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เราเริ่มกระบวนการรักษาตัวที่บ้านเป็นหลัก แต่ล่าสุด ใช้กระบวนการรักษาแบบผู้ป่วยนอก และพบว่าในขณะนี้เมื่อรักษาที่ไหนก็ได้ ประชาชนจึงรักษา รพ.ใหญ่ ทำให้ รพ.ต่าง ๆ ต้องเตรียมการรักษาจากโรคอื่น ๆ ต้องดูแลโควิดเป็นหลัก จึงมีแนวคิดผ่านกระทรวงให้ใช้ระบบการรักษาตามสิทธิ์ เช่น เป็นผู้ประกันตนในระบบใด ก็ให้ใช้ในระบบนั้น ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ 16 มี.ค. 2565

ทั้งนี้ เมื่อเป็นไปตามสิทธิ แล้วผู้ป่วยฉุกเฉินโควิด จะทำอย่างไร ในกรณีนี้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเห็นว่า กลุ่มนี้สามารถใช้สิทธิ์ “ฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิ์ทุกที่” รักษาได้ทุก รพ. ทำให้เป็นที่มาของการนำหลักเกณฑ์ วิธีการ เข้า ครม. เมื่อวานนี้ และได้รับความเห็นชอบ

-กรณี UCEP

หากมีอาการป่วยฉุกเฉินวิกฤต เช่น อุบัติเหตุฉุกเฉิน โรคหัวใจฉุกเฉิน (กลุ่มสีแดง) รักษา รพ.ใดก็ได้ ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน  ต้องรักษาจนพ้นวิกฤต หรือครบ 72 ชม. และส่งกลับไปยังต้นสังกัด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะ รพ.จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจาก สปสช.

-กรณีระบบใหม่  UCEP PLIS

ผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการสีเหลืองหรือสีแดง เข้ารับการรักษา รพ.ใดก็ได้ และรักษาจนหาย

ข้อดี คือ ระบบนี้รวมผู้ป่วยสีเหลืองที่มีอาการไม่ถึงวิกฤต แต่ยากลำบากในการหาเตียง และสามารถรักษาจนหาย ไม่ต้องหา รพ.ส่งออก ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกและมั่นใจในการรักษามากขึ้น

ส่วนค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าห้องปฏิบัติการ ค่ารักษาพยาบาล  ค่าส่งออก ฯ ประชาชนไม่ต้องจ่าย

อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวเน้นย้ำว่า ทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ของสถานพยาบาลในการประเมินคัดแยกผู้ป่วย หากพบเป็นสีเหลืองหรือแดง สามารถเข้ารับการรักษาจนหายได้ ยกเว้น ผู้ป่วยหรือญาติปฏิเสธรักษาตามที่กำหนด หรือประสงค์รักษาที่อื่น กรณีลักษณะนี้จะเป็นภาระที่ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

แล้วหากมีประกันวินาศภัย ให้ใช้สิทธิดังกล่าวก่อน เพื่อแบ่งเบาภาระกองทุนรัฐบาล

ด้าน ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เปิดเผยเกณฑ์การการคัดแยกกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้าเกณฑ์ UCEP Plus ว่าต้องมีการตรวจพบผล ATK หรือRT-PCR เป็นบวก ร่วมกับมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

มีภาวะหัวใจหยุดเต้น  มีสิ่งอุดกั้นทางเดินหายใจ หายใจลำบากเฉียบพลัน มีภาวะช็อก มีภาวะโคม่า มีอาการซึมลง เมื่อเทียบกับความรู้สึกเดิมที่มีอยู่แล้ว หรือมีอาการชักเมื่อแรกรับที่จุดเกิดเหตุ ไข้สูงเกินกว่า 39 องศาเซลเซียส นานกว่า 24 ชม. หายใจเร็วมากกว่า 25 ครั้ง/นาที ในผู้ใหญ่ หรือมีภาวะออกซิเจนเลือดแรกรับน้อยกว่า ร้อยละ 94 มีโรคประจำตัวต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิดตามดุลยพินิจของแพทย์

ส่วนอาการในเด็กหายใจลำบาก ซึมลง รับประทานอาหารน้อยลง และเมื่อออกกำลังกาย ออกแรง ต้องเกิดภาวะพร่องของออกซิเจนจากปกติ ร้อยละ 3 และอาการอื่นร่วมด้วย หอบเหนื่อย หายใจเร็ว และกลุ่ม 608 ผู้สูงอายุที่มี อายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง

เลขาธิการ สพฉ. กล่าวถึงขั้นตอนการใช้บริการ UCEP PLUS เหมือนกับ UCEP ปกติ โดยแจ้งความประสงค์ผ่านหมายเลข 1669 จากนั้นจะถูกนำส่ง รพ.ของเอกชน เพื่อให้รพ.ประเมินอาการ และรักษาเบื้องต้น ก่อนจะแจ้งไปยัง สพฉ. กรอกอาการ  หากพบอาการปรากฎตามเกณฑ์คัดแยก จึงจะถือว่าเข้าเกณฑ์และสามารถใช้สิทธิ์ได้  ยกเว้นกรณีไม่เข้าเกณฑ์ อยู่ในกลุ่มสีเขียว จะไม่ได้รับสิทธิ์ ยกเว้น หากพบเข้าไปรักษา แล้วมีอาการแย่ลง จึงจะเข้าสู่เงื่อนไขอีกกรณีหนึ่ง

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้สิทธิ์หรือเข้าสู่ รพ.แล้วไม่ได้รับสิทธิ์ ทั้งที่ควรได้รับสิทธิ์ ให้โทรได้ที่หมายเลข 0-2872-1669