สปสช.เผยสายด่วน 1330 ยังมีผู้ใช้งานปริมาณมาก ส่วนใหญ่ติดตามไม่ได้รับการติดต่อจากสถานพยาบาล เปิดเกณฑ์รับ ATK กลุ่มเสี่ยงรับได้ 2 รอบ ครั้งละไม่เกิน 2 ชุด เว้นทุก 5 วัน เริ่ม 1 มี.ค.

 

วันที่ 8 มี.ค. 2565 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงสถานการณ์ของสายด่วน สปสช. 1330 ซึ่งขณะนี้มีปัญหาเรื่องการโทรไม่ติด เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 และประชาชนจำนวนมากโทรเข้ามากว่า 40,000-70,000 สาย/วัน จนเกินศักยภาพของระบบที่จะรองรับได้ทัน อีกทั้งมีผู้ติดเชื้อหลายรายที่ลงทะเบียนเข้าระบบการดูแลแบบ Home Isolation แต่ยังรอการตอบรับจากหน่วยบริการนาน โดยระบุว่าก่อนอื่นต้องขออภัยประชาชนที่ไม่ได้รับความสะดวก ที่ผ่านมา สปสช.ได้ขยายศักยภาพของสายด่วน 1330 ให้รองรับการโทรของประชาชน ขณะที่เจ้าหน้าที่สายด่วนและจิตอาสาจากภาคส่วนต่างๆที่เข้ามาช่วยรับสายก็ทำงานอย่างหนัก แต่ก็ยังไม่ทันกับปริมาณสายโทรเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จึงต้องขออภัยมา ณ ที่นี้อีกครั้ง

ทั้งนี้ ขณะนี้สายที่ติดต่อไม่ได้หรือสายหลุด (abandon) เริ่มลดลง จากร้อยละ 60 เหลือประมาณร้อยละ 20 แต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ สปสช.ต้องการให้สายที่หลุดลดลงน้อยกว่าร้อยละ 5 ระหว่างนี้ ขอความร่วมมือผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มเพื่อนกับไลน์ สปสช. @nhso และระหว่างที่หน่วยบริการติดต่อมา ท่านที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยสามารถขอรับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้านที่สถานพยาบาลตามสิทธิหรือสถานพยาบาลภาครัฐใกล้บ้านก่อนได้ 

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ตามแนวทางใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข หากตรวจ ATK แล้วขึ้น 2 ขีด ติดเชื้อโควิด-19 หากเป็นกลุ่มไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวเองที่บ้านหรือนโยบาย เจอ แจก จบ ของกระทรวงสาธารณสุขได้เลย โดยไปโรงพยาบาลตามสิทธิรักษาหรือสถานพยาบาลภาครัฐใกล้บ้านได้ แต่แนะนำให้โทร.นัดหมายก่อน

อย่างไรก็ตาม กรณียืนยันต้องการลงทะเบียนรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ลงทะเบียนได้ตามระบบที่มีของแต่ละจังหวัด หรือกรณีไม่ทราบว่าแต่ละจังหวัดมีช่องทางการลงทะเบียนรักษาที่บ้านอย่างไร ก็ลงทะเบียนผ่านระบบของ สปสช. ทางสายด่วน 1330 กด 14 หรือที่เว็บไซต์ https://crmsup.nhso.go.th/#TicketHI หรือ ไลน์ สปสช. โดยเพิ่มเพื่อน พิมพ์ @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 ได้เช่นกัน 

ทั้งนี้ ระหว่างรอการรักษา ไม่ว่าจะเป็นลงทะเบียนแล้วแต่สถานพยาบาลยังไม่ติดต่อกลับ ท่านสามารถรักษาตัวเองตามอาการได้ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ไอ แก้เจ็บคอ ลดน้ำมูก ดื่มน้ำมาก ๆ เป็นต้น 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลสายที่โทรเข้า พบว่ากว่า 50% เป็นสายจากผู้ติดเชื้อที่ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ Home Isolation แล้ว โทรเข้ามาติดตามสอบถามความคืบหน้า เนื่องจากยังไม่ได้รับการตอบรับจากหน่วยบริการหรือรอการตอบรับนานหลายวัน ทำให้คนไข้รายใหม่โทรไม่ติดหรือเข้าสู่การลงทะเบียนได้ช้า ทั้งนี้ ในกรณีติดตามยังไม่ได้รับบริการจากหน่วยบริการนั้น สปสช.ได้รับเรื่องและส่งให้แต่ละหน่วยบริการทราบ ด้วยเหตุนี้จึงต้องขอความร่วมมือจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลงทะเบียนแล้ว ลดความถี่หรืองดเว้นการโทรติดตามความคืบหน้า จะช่วยลดจำนวนสายโทรเข้า 1330 ลงได้อย่างมาก และช่วยให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่สามารถโทรติดหรือลงทะเบียนเข้าระบบ Home Isolation ได้เร็วมากขึ้น

เลขาธิการ สปสช. กล่าวย้ำว่า ผู้ติดเชื้อที่ลงทะเบียนแล้ว ไม่ว่าจะผ่านช่องทางสายด่วน ไลน์ เฟสบุ๊ก หรือการลงทะเบียนด้วยตัวเองผ่าน QR code ก็ตาม ข้อมูลจะถูกเก็บอยู่ในฐานข้อมูลและไม่ต้องกังวลว่าจะตกหล่นสูญหาย เพียงแต่ปัญหาการรอนานหรือไม่มีหน่วยบริการตอบกลับ อาจเกิดจากขณะนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่มีมากจนเกินศักยภาพของหน่วยบริการที่จะรองรับได้หมดและต้องรอ discharge ผู้ป่วยเดิมในระบบออกไปก่อนจึงจะสามารถรับผู้ป่วยรายใหม่เข้ามาดูแลได้ ทำให้มีผู้ติดเชื้อหลายรายที่ต้องรอนาน ซึ่งในประเด็นนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ขยายศักยภาพหน่วยบริการรวมทั้งจัดระบบบริการอื่นๆ เป็นทางเลือกในการรองรับผู้ป่วย เช่น การจัดระบบ "เจอ แจก จบ" ให้ผู้ป่วยไปรับบริการแบบผู้ป่วยนอกใน 14 จังหวัดใกล้เคียง กทม. เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้รับการตอบรับเข้าสู่การดูแลแบบ Home Isolation จากหน่วยบริการในพื้นที่ โดยสามารถไปใช้บริการได้ทุกสิทธิ และไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนหน่วยบริการประจำกับโรงพยาบาลนั้น ๆ

นอกจากนี้แล้ว ในวันที่ 8 มี.ค. 2565 นี้ ทีมงานและจิตอาสาของ สปสช. ยังจะลงพื้นที่จะนำยาฟ้าทะลายโจรไปกระจายให้แก่ชุมชนต่างๆใน กทม.กว่า 900 ชุมชน เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ป่วยโควิดที่มีอาการไม่มาก เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับคนไข้ที่ลงทะเบียนแล้วหน่วยบริการไม่ติดต่อกลับไปเกิน 5 วัน หากมีอาการเล็กน้อยก็สามารถประสานกับผู้นำชุมชนเพื่อรับยาฟ้าทะลายโจรได้ทันที

 

"เราเข้าใจดีว่าเมื่อลงทะเบียนไปแล้วไม่ได้รับการตอบรับจากหน่วยบริการ ทำให้ประชาชนมีความกังวลใจและพยายามติดต่อสอบถามความคืบหน้าอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งต้องขออภัยที่ท่านไม่ได้รับความสะดวก อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในขณะนี้อยู่ในภาวะไม่ปกติและเกินศักยภาพที่ระบบสายด่วน 1330 จะรองรับการโทรได้หมด ดังนั้น สปสช. เราต้องวอนขอความร่วมมือจากท่านจริงๆ ในการลดความถี่หรืองดเว้นการโทรติดตามความคืบหน้าหากยังไม่มีหน่วยบริการตอบรับดูแลท่านเข้าสู่ระบบ Home Isolation การลดความถี่หรืองดเว้นการโทรเข้ามาเพื่อสอบถามความคืบหน้า จะช่วยลดปริมาณสายเข้าในระบบและทำให้โทรติดได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้ป่วยรายใหม่เข้ามาลงทะเบียนได้เร็วขึ้น ภาระงานของเจ้าหน้าที่ที่สายด่วนที่ต้องตอบคำถามเหล่านี้ก็จะสามารถนำเวลาไปใช้ในการประสานหาหน่วยบริการให้แก่ท่านได้มากขึ้น" นพ.จเด็จ กล่าว

 

ด้าน พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่กรมการแพทย์ได้มีการปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทาง สปสช.จึงทำการปรับหลักเกณฑ์การจ่ายค่าบริการเพื่อรองรับการให้บริการของหน่วยบริการ เริ่ม ณ วันที่ 1 มี.ค. 2565 ซึ่งรายการบริการต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงมีดังนี้ 

บริการคัดกรองโควิด-19 สำหรับคนไทยทุกสิทธิ ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด การคัดกรองก่อนทำหัตถการตามที่กรมการแพทย์กำหนด และตามดุลยพินิจแพทย์ เฉพาะดำเนินการภายในหน่วยบริการ ทั้งการตรวจแบบ RT-PCR ประเภท 2 ยืน อัตรา 900 บาท/ครั้ง และประเภท 3 ยีน อัตรา 1,100 บาท/ครั้ง การตรวจแบบ Antigen Professional ทั้งวิธี Chormatography อัตรา 250 บาท/ครั้ง และวิธี FIA อัตรา 350 บาท/ครั้ง 

การสนับสนุนชุดตรวจการติดเชื้อโควิด-19 แบบ ATK สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ในอัตรา 55 บาท/ชุด โดยจ่ายให้กับหน่วยบริการ ซึ่งประชาชนสามารถรับชุดตรวจครั้งละไม่เกิน 2 ชุด/ครั้ง โดยตรวจเว้นระยะห่างอย่างน้อย 5 วัน และรายงานผลผ่านแอบเป๋าตัง ของธนาคารกรุงไทย

บริการดูแลรักษาโรคโควิด-19 ที่เป็นการรักษาIแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน (OP self Isolation) เฉพาะผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น ซึ่งแยกการจ่ายชดเชยค่าบริการเป็น 2 ส่วน คือ 1.ค่าบริการดูแลรักษาที่เป็นจ่ายแบบเหมาจ่าย 1,000 บาท/ราย ครอบคลุมการให้คำแนะนำแยกกักตัวที่บ้าน การให้ยารักษา การประสานติดตามอาการ และการจัดระบบส่งต่อ 2.ค่าบริการสำหรับการให้คำปรึกษาหรือการดูแลรักษาเบื้องต้นหลังครบ 48 ชั่วโมงไปแล้ว (บริการรองรับการติดต่อกลับ) เหมาจ่ายอัตรา 300 บาท/ราย   

กรณีการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเช่นเดียวกับ Home Isolation และ Community Isolation (HI/CI) แบบเหมาจ่าย ทั้งกรณีรักษาในโรงพยาบาลที่เป็นหน่วยบริการในระบบ และกรณีเข้ารักษาในระบบ UCEP COVID ในหน่วยบริการนอกระบบ รวมถึงการรักษานอกโรงพยาบาล ได้แก่ HI/CI, Hotel Isolation, รพ.สนาม และ Hospitel เป็นต้น ครอบคลุมบริการดูแลผู้ติดเชื้อ ค่าอาหาร 3 มื้อ/วัน อุปกรณ์ในการดูแลและติดตามสัญญาณชีพ ค่ายา และค่าเอกซเรย์ปอด หรือ Chest X-ray กรณีจำเป็น ซึ่งการจ่ายชดเชยกรณีการให้บริการรักษาตั้งแต่ 1-6 วัน จะอยู่ที่อัตรา 4,000 บาท หากมีบริการอาหารเพิ่มเป็น 6,000 บาท และบริการรักษา 7 วันขึ้นไป อยู่ที่ 8,000 บาท หากมีบริการอาหารเพิ่มเป็น 12,000 บาท 

บริการผู้ป่วยนอกที่ไม่เข้าเกณฑ์ OP self Isolation จะครอบคลุมบริการตรวจแลปและค่าเก็บตัวอย่าง ทั้ง RT-PCR, Antibody และ Antigen ค่ายาที่เป็นการรักษาเฉพาะผู้ป่วยโควิด จ่ายตามจริงไม่เกิน 7,200 บาท/ราย และค่ารถส่งต่อผู้ป่วย รวมค่าชุด PPE และ ยาฆ่าเชื้อจ่ายตามจริงตามระยะทางไม่เกิน 1,400 บาท/ครั้ง

บริการผู้ป่วยใน กำหนดจ่ายตามระบบ DRG. และจ่ายเพิ่มเติมทั้งในส่วนค่าตรวจแลป ค่ายารักษาเฉพาะผู้ป่วยโควิดไม่เกิน 7,200 บาท/ราย ค่าห้องดูแลรวมค่าอาหาร ตั้งแต่เตียงระดับ 1-3 ในอัตราตั้งแต่ 1,000-7,500 บาท ค่าชุด PPE อัตรา 550 บาท/ชุด และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกระบวนการและอุปกรณ์ในการป้องกันเชื้อ 300-11,000 บาท/วัน และค่ารถส่งต่อผู้ป่วย รวมค่าชุด PPE และ ยาฆ่าเชื้อจ่ายตามจริงตามระยะทางไม่เกิน 1,400 บาท/ครั้ง

 

“การแพร่ระบาดเชื้อโอไมครอนที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น แต่ยังดีที่ผู้ป่วยอาการรุนแรงมีไม่มาก ทางกรมการแพทย์จึงได้ปรับแนวทางการรักษาตั้งแต่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา เพื่อการดูแลที่เหมาะสม สปสช.จึงร่วมกับกรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และกองเศรษฐกิจสุขภาพฯ บูรณาการเพื่อปรับระบบชดเชยค่าบริการให้สอดคล้อง นำมาสู่การประชุมในวันนี้เพื่อชี้แจงหน่วยบริการให้รับทราบ เพื่อการบริการที่ต่อเนื่อง และการเบิกจ่ายชดเชยที่ถูกต้อง” ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สปสช. กล่าว   

 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ต้องการรับชุดตรวจ ATK สามารถดำเนินการได้ ดังนี้

กรณีรับบริการผ่านสมาร์ทโฟน

- เข้าแอปฯ เป๋าตัง/กระเป๋าสุขภาพ เลือก “ฟรี ชุดตรวจโควิด”
- ทำแบบประเมินความเสี่ยงก่อนรับชุดตรวจโควิด-19
- หากมีความเสี่ยง ระบบจะให้ค้นหาหน่วยบริการใกล้ฉันและโทรติดต่อสอบถาม
- เดินทางไปรับพร้อมมือถือที่มีแอปเป๋าตัง เพื่อใช้สแกน QR Code แอปถุงเงินของหน่วยบริการ
- ได้รับชุดตรวจ 2 ชุด นำกลับมาตรวจและบันทึกผลผ่านแอปเป๋าตัง/กระเป๋าสุขภาพ

กรณีไม่มีสมาร์ทโฟน

- โทร 1330 หรือผ่านเว็บไซต์ สปสช.เพื่อตรวจสอบข้อมูลหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการ
- เดินทางไปที่หน่วยบริการ พร้อมบัตรประชาชน/สูติบัตร เพื่อให้ ตัวแทนหน่วยบริการ ทำประเมินความเสี่ยงให้
-หากมีความเสี่ยงจะได้รับชุดตรวจ 2 ชุด และนำกลับมาตรวจและกลับมาแจ้ง ตัวแทนหน่วยบริการที่ให้บันทึกผลตรวจให้
-สิ้นวัน ตัวแทนหน่วยบริการสแกน QR Code แอปถุงเงินของหน่วยตนเองเพื่อบันทึกการแจก (แจกได้ 100 คน/วัน)