ครม. รับทราบแนวทางส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อขึ้นแท่น "ผู้นำ" อุตสาหกรรมยานยนต์ พร้อมตอกย้ำความเป็น Detroit of Asia ของไทย

 

15 ก.พ. 2565 ครม. รับทราบแนวทางส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ให้เดินหน้ามาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิต EV ย้ำความเป็น Detroit of Asia

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ รับทราบแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 และครั้งที่ 1/2565 เพี่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ให้เป็นไปตามเป้าหมายการผลิต และการใช้ยานยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicle:ZEV) ของยานยนต์ทุกประเภทอีกด้วย

ทั้งนี้ เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนา และขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนฯ ทั้งในส่วนของมาตรการทางภาษี และไม่ใช่ภาษี โดยเป็นมาตรการระยะสั้น ระหว่างปี 65–68 โดยในช่วง 2 ปีแรก (ปี 65–66) มาตรการสนับสนุนฯ จะให้ความสำคัญกับการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างกว้างขวางโดยเร็ว ครอบคลุมทั้งการนำเข้ารถยนต์ และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) ส่วนกรณีรถยนต์, รถยนต์กระบะ และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ (CKD) ผ่านการยกเว้น หรือลดอากรนำเข้า ลดอัตราภาษีสรรพสามิต และ/หรือให้เงินอุดหนุนตามเงื่อนไขที่กำหนด ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มอุปสงค์ยานยนต์ไฟฟ้าในภาพรวม จะสร้างแรงจูงใจ และดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ของผู้ประกอบการในไทย

ส่วนช่วง 2 ปีถัดไป (ปี 67-68) มาตรการสนับสนุนฯ จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศเป็นหลัก โดยยกเลิกการยกเว้น หรือลดอากรนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) แต่ยังคงมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิต และ/หรือให้เงินอุดหนุนตามเงื่อนไขที่กำหนดต่อไป เพื่อทำให้ต้นทุนรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปทั้งคัน ที่นำเข้าสูงกว่ารถยนต์ และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเร่งผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ รองรับแนวโน้มความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น ลดการนำเข้าชิ้นส่วน และอุปกรณ์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งจะเป็นการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนการผลิตรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ อาทิ การยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับชิ้นส่วนที่มีการนำเข้าในช่วงปี 65–68 การให้นับมูลค่าของเซลล์แบตเตอรี่ที่นำเข้า เป็นต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศ สำหรับการคำนวณมูลค่าเพิ่มในประเทศได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของราคายานยนต์ไฟฟ้าหน้าโรงงานการผลิตรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อชดเชยการนำเข้าในช่วงแรก (กรณีผลิตชดเชย ภายในปี 67 ให้ผลิตเท่ากับจำนวนที่นำเข้าในปี 65-66 และหากจำเป็นต้องขยายเวลาการผลิตชดเชยถึงปี 68 และการผลิต หรือใช้แบตเตอรี่ที่ผลิต หรือประกอบในประเทศตามเงื่อนไขที่กำหนด)

การดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า มุ่งหวังให้ราคารถยนต์ และรถจักรยานยนต์ประเภทรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) สามารถแข่งขันได้ และแผน 30@30 โดยปี ค.ศ. 2030 จะผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ของการผลิตรถยนต์ในไทย โดย นายกรัฐมนตรี และ ครม. ยังเห็นถึงความจำเป็นในการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย เพื่อไม่ให้ไทยสูญเสียโอกาส และความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด และเทคโนโลยีที่ทันสมัยจะตอกย้ำความเป็น Detroit of Asia ของไทย และยังเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อสร้างรายได้ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ