ชำเเหละโครงการเยียวยาเกษตรกรที่เดือดร้อนจากโควิด เจอรอยรั่วเพียบ เงินบางส่วนไหลออกก่อนถึงมือชาวบ้านที่เดือดร้อน

 

ผ่านมานานกว่า 2 ปีแล้ว ที่โควิด-19 ระบาดในประเทศไทย จนสร้างผลกระทบให้กับหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน รวมไปถึงเกษตรกร ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยามากมาย เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้

หนึ่งในนั้น คือ โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งโครงการนี้เป็นแผนงานโครงการที่ 2 ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 เพื่อการช่วยเหลือ เยียวยาให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยการจ่ายเงินช่วยเหลือโดยตรงรายละ 15,000 บาท ให้แก่เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายไม่เกิน 10 ล้านราย รวมวงเงินของโครงการไม่เกิน 150,000 ล้านบาท

ทว่า หลังจากโครงการดังกล่าวผ่านพ้นไปแล้ว สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ดำเนินการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการ กลับพบข้อบกพร่องในหลายประการ

เริ่มตั้งแต่ ผลการดำเนินโครงการบางส่วนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่กำหนด

  1. โดยตรวจพบเกษตรกรที่มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามที่โครงการกำหนด แต่ได้รับการช่วยเหลือจำนวนทั้งสิ้น 12,516 ราย 
    • เกษตรกรที่ได้รับการช่วยเหลือไม่ได้ประกอบการเกษตร จำนวน 22 ราย (แบ่งเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 19 ราย, กรมประมง จำนวน 2 ราย และการยางแห่งประเทศไทย จำนวน 1 ราย) รวมเป็นเงิน 270,000 บาท
    • เกษตรกร จำนวน 1 ราย ขึ้นหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนกับทั้งกรมหม่อนไหมและกรมส่งเสริมการเกษตร ก่อนจะแจ้งยกเลิกการประกอบการเกษตรผู้ปลูกหม่อนกับกรมหม่อนไหมแล้ว แต่ยังคงได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการจำนวน 15,000 บาท เพราะยังมีฐานข้อมูลอยู่ในกรมส่งเสริมการเกษตร โดยไม่พบข้อมูลว่าประกอบการเกษตรอื่นนอกจากการปลูกหม่อน
  2. เกษตรกรที่ได้รับเงินช่วยเหลือตามโครงการแต่ไม่ได้ขึ้นหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรตามวันที่โครงการกำหนด จำนวนทั้งสิ้น 1,780 ราย รวมเป็นเงินกว่า 26 ล้านบาท แบ่งเป็น
    • เกษตรกรขึ้นหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรก่อนปีการผลิต 2562 จำนวน 234 ราย
    • เกษตรกรขึ้นหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรตามวันที่โครงการกำหนด แต่แจ้งยกเลิกกิจกรรมการเกษตรก่อนวันครบกำหนดขึ้นทะเบียนตามโครงการ จำนวน 1,148 ราย
    • เกษตรกรขึ้นหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรหลังจากวันที่โครงการกำหนด จำนวน 164 ราย
    • เกษตรกรไม่มีรายชื่อในฐานข้อมูลเกษตรกรที่ขึ้นหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรระหว่างปีการผลิต 2562 - 2563 และไม่พบว่ามีการแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อมูลครัวเรือนและกิจกรรมการเกษตร จำนวน 234 ราย
    • นอกจากนี้ ยังพบว่า มีเกษตรกรที่ได้รับเงินช่วยเหลือตามโครงการ จำนวน 15,696 ราย ที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นเกษตรกรที่แจ้งยกเลิกกิจกรรมก่อนหรือหลังวันที่ขึ้นหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรตามวันที่โครงการกำหนด
  3. เกษตรกรที่ได้รับการช่วยเหลือ แต่มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการขึ้นทะเบียน หรือหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเพิ่มเติมของหน่วยงานรับขึ้นทะเบียนจำนวน 10,713 ราย เป็นเงินกว่า 160 ล้านบาท แบ่งเป็น
    • เกษตรกรมีพื้นที่ทำการเกษตรไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนของกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 8,137 ราย รวมเป็นเงินช่วยเหลือตามโครงการ จำนวนกว่า 121 ล้านบาท
    • เกษตรกรมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเพิ่มเติมของกรมปศุสัตว์ จำนวน 2,323 ราย ได้แก่
      • เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์เพียงชนิดเดียวและมีจำนวนสัตว์ที่เลี้ยงไม่เป็นไปตามที่กำหนด จำนวน 2,108 ราย
      • เกษตรกรที่ปลูกพืชอาหารสัตว์เพียงกิจกรรมเดียว จำนวน 215 ราย
      • รวมเป็นเงินช่วยเหลือตามโครงการจำนวนกว่า 34 ล้านบาท
    • เกษตรกรเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยตามเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนของกรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง และการยางแห่งประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 253 ราย รวมเป็นเงินช่วยเหลือตามโครงการจำนวนกว่า 3.7 ล้านบาท
    • นอกจากนี้ยังพบเกษตรกรที่ได้รับเงินช่วยเหลือตามโครงการอีกจำนวน 26,869 ราย มีความเสี่ยงที่จะเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย เนื่องจากอาจเป็นบุคคลต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยหรือเป็นบุคคลที่ได้รับสัญชาติไทยตามกฎหมายแล้ว


เกษตรกรที่ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ หรือได้รับเงินช่วยเหลือไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด แบ่งเป็น

  1. เกษตรกรไม่ได้รับเงิน 15,000 บาท จำนวน 223,036 ราย แบ่งเป็น
    • เกษตรที่ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ จำนวน 223,036 ราย
    • เกษตรกรที่ได้รับเงินต่ำกว่า 15,000 บาท จำนวน 18,455 ราย
  2. เกษตรกรได้รับเงินมากกว่า 15,000 บาท ซึ่งเป็นการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรทดแทนผู้เสียชีวิตที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการ จำนวน 4,870 ราย พบว่า มีเกษตรกรทดแทนผู้เสียชีวิตได้รับเงินช่วยเหลือรวมกับเกษตรกรผู้เสียชีวิต เป็นเงินมากกว่า 15,000 บาท จำนวน 521 ราย คิดเป็นเงินช่วยเหลือที่ได้รับเกินสิทธิ จำนวน 2.7 ล้านบาท

บุคคลอื่นที่ได้รับเงินเยียวยา แต่ไม่ใช่บุคคลตามรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือตามโครงการ จำนวน 33 ราย และทุกรายได้รับเงินตามโครงการ จำนวน 15,000 บาท รวมเป็นเงินช่วยเหลือตามโครงการ จำนวน 495,000 บาท

แม้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน จะตรวจพบผู้ที่ได้รับเงินเยียวยาทั้งที่เงื่อนไขไม่ตรงตามกำหนดจำนวนมาก แต่ขณะเดียวกันก็ยังพบว่ามีเกษตรกรที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข แต่โครงการกลับดำเนินการได้ไม่ทั่วถึง โดยพบว่ามีเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ที่ไม่ซ้ำซ้อนกับบุคคลตามเงื่อนไขที่โครงการกำหนด แต่ไม่ได้รับสิทธิช่วยเหลือตามโครงการ จำนวน 165,819 ราย โดยเป็นบุคคลที่ยังคงมีสัญญาส่งอ้อยให้แก่โรงงานหรือหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อยของ สอน. ในระหว่างปีการผลิต พ.ศ. 2560 - 2563 จำนวน 75,497 ราย

เมื่อย้อนกลับไปดูวัตถุประสงค์ที่กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าโครงการนี้ แล้วนำมาเปรียบเทียบกับเงื่อนไขคุณสมบัติของเกษตรกรที่จะได้รับการเยียวยา สตง.พบว่าไม่สอดคล้องกัน เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ จำกัดสิทธิเจ้าหน้าที่รัฐไม่ครบทุกประเภท ทั้งที่เป็นกลุ่มซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพราะได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการจากหน่วยงานของตัวเองอยู่แล้ว แต่จำกัดสิทธิเฉพาะบุคคลที่ได้รับสิทธิสวัสดิการผ่านระบบข้าราชการของกรมบัญชีกลาง (ข้าราชการประจำและลูกจ้าง รวมถึงข้าราชการบำนาญ) เท่านั้น ส่วนอื่นกลับสามารถเข้ารับสิทธิเยียวยาได้ แบ่งเป็น

  • ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  • ข้าราชการตุลาการ
  • ข้าราชการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
  • พนักงานรัฐวิสาหกิจ
  • พนักงานองค์กรอื่นของรัฐที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการจ่ายตรงเงินเดือน
  • ข้าราชการประจำของกรมบัญชีกลาง

จากการตรวจสอบรัฐวิสาหกิจจำนวน 2 แห่ง พบว่ามีพนักงานและลูกจ้างได้รับเงินช่วยเหลือตามโครงการ จำนวน 2,625 ราย คิดเป็นเงินช่วยเหลือกว่า 39 ล้านบาท และฐานข้อมูลเกษตรกรผู้ขอคืนสิทธิในการเข้าร่วมโครงการ จำนวน 382 ราย พบว่าสาเหตุของการคืนสิทธิเนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวน 104 ราย

เมื่อผลการดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไข เกษตรกรที่ไม่มีคุณสมบัติครบถ้วนได้รับความช่วยเหลือ เกษตรกรที่ควรจะได้กลับไม่ได้หรือช่วยได้ไม่ครบตามหลักเกณฑ์ บางคนได้รับการช่วยเหลือทั้งที่ไม่มีสิทธิ์ได้รับ การช่วยเหลือไปไม่ถึงกลุ่มเกษตรกรที่ต้องการ ไปจนถึงการกำหนดเงื่อนไขที่ไม่จำกัดสิทธิของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนทั้งที่ไม่ได้รับผลกระทบเพราะมีเงินเดือนอยู่แล้ว สตง.จึงมองว่าเรื่องนี้ส่งผลกระทบในหลายด้าน ได้แก่

  • เกษตรกรไม่ได้รับการบรรเทาความเดือดร้อนของตนเองและครอบครัว
  • เกิดการใช้จ่ายเงินงบประมาณไปโดยไม่สมควร จำนวนกว่า 228.9 ล้านบาท
  • ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและเกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของคนในสังคมเพิ่มมากขึ้น

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดช่องว่างเหล่านี้นั้นเนื่องจาก

  • ฐานข้อมูลเกษตรกรของหน่วยงานรับขึ้นทะเบียนยังมีข้อจำกัดในการนำมาใช้เป็นข้อมูลในการจ่ายเงิน
  • การตรวจสอบยืนยันตัวตนและความถูกต้องคุณสมบัติของเกษตรกรไม่ชัดเจน
  • กระบวนการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรขาดความละเอียด รอบคอบ และรัดกุมในการตรวจสอบความถูกต้องและความซ้ำซ้อนของข้อมูล
  • ขาดความละเอียด รอบคอบ และรัดกุมในการกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขคุณสมบัติของเกษตรกรที่ได้รับสิทธิเข้าร่วมโครงการ ช่องทางการรับแจ้งเลขที่บัญชีมีเพียงช่องทางเดียว คือ เว็บไซต์ www.เยียวยาเกษตรกร.com ส่งผลให้เกษตรกรรายที่ไม่มีความรู้หรือไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี ไม่ทราบถึงวิธีการและขั้นตอน หรือไม่สามารถลงทะเบียนเพื่อรับโอนเงินได้


ทั้งนี้ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาดำเนินการดังนี้

  1. โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่มีลักษณะเดียวกันในอนาคตที่นำข้อมูลทะเบียนเกษตรกรมาใช้ในการดำเนินงาน
    • กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ ด้วยความละเอียด รอบคอบ รัดกุม คำนึงถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมทั้งความครอบคลุม ทั่วถึง และเป็นธรรมแก่เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย
    • ให้ความสำคัญกับความถูกต้อง ครบถ้วนของข้อมูลที่ใช้ในการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกร กำหนดแนวปฏิบัติในการตรวจสอบยืนยันตัวตนและความถูกต้องคุณสมบัติของเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการให้ชัดเจนและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน รวมทั้งซักซ้อมความเข้าใจและกำชับหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
    • กำหนดให้มีมาตรการหรือแนวทาง และวิธีการในการป้องกัน ติดตามตรวจสอบความถูกต้อง และความซ้ำซ้อนของข้อมูล รวมถึงจำนวนเงินตามสิทธิที่เกษตรกรควรได้รับ ก่อนการจ่ายเงินด้วยความละเอียดรอบคอบอย่างเป็นระบบ
    • กำหนดช่องทางสำหรับให้เกษตรกรติดต่อหรือแจ้งข้อมูลต่าง ๆ โดยคำนึงถึงความหลากหลายของเกษตรกรที่มีหลายช่วงอายุวัย ความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยี และความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี เพื่อให้เกษตรกรเป้าหมายได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง
  2. สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบ พบว่า เป็นการจ่ายเงินที่ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่โครงการกำหนด และร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในการดำเนินการตามแนวทางที่กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป
  3. ควรให้มีการศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรให้เป็นฐานข้อมูลเดียวที่ทุกหน่วยงานสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ให้เกิดการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลอื่นที่จำเป็น และแก้ไขปรับปรุงช่องทางการรับขึ้นทะเบียนเกษตรกรให้มีความหลากหลาย ทันสมัย และเข้าถึงได้ง่าย เพื่อความถูกต้อง เป็นปัจจุบัน และลดความซ้ำซ้อนของข้อมูล สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่หน่วยงานรับขึ้นทะเบียนในระดับพื้นที่ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์เพื่อจัดทำแผนพัฒนาและมาตรการทางการเกษตร บริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศการเกษตร และนำมาประกอบในการดำเนินโครงการในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

คงต้องติดตามกันต่อ ว่ารัฐบาลจะเดินหน้าโครงการเยียวยาเกษตรกรอีกหรือไม่ และภาครัฐจะสามารถอุดรอยรั่วเหล่านี้ได้อย่างไร หรือชาวบ้านที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาตั้งแต่โควิดระบาดรอบแรกอย่างน่ากลัว จนถึงวันนี้ที่รัฐบาลไทยกำลังจะประกาศให้กลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่ชาวบ้านที่เดือดร้อนไม่ได้รับเงินเยียวยา ก็ยังคงต้องลำบากสู้ชีวิตกันต่อไป