นายก ส.วิศวกรฯ ชี้ 4 ปัจจัย ดินสไลด์ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ พบชั้นดินเหนียวอ่อนมาก รับเเรงเฉือนต่ำ ฝนตกอีกปัจจัย ระบุหากพบบ่อมีโอกาสพัง ต้องเสริมความเเข็งเเรงตามหลักวิศวกรรม

 

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย เปิดเผยถึงเหตุการณ์ดินสไลด์ที่ปากน้ำ จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมา และส่งผลให้อาคารหลายสิบหลังเคลื่อนตัวสไลด์ลงไปในบ่อ ว่าบริเวณที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ชั้นดินเหนียวอ่อนมาก มีค่ากำลังรับแรงเฉือนที่ต่ำ ซึ่งดินลักษณะนี้สามารถเคลื่อนตัวได้ง่าย นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวยังขุดบ่อไว้แต่เดิม ส่วนพื้นที่เกิดเหตุที่มีการสไลด์ตัวมีการถมดินและเทพื้นคอนกรีตทางด้านบน และมีการก่อสร้างอาคารบนพื้นที่

ทั้งนี้ ลักษณะการเคลื่อนตัวของดิน (land slide) ในครั้งนี้ถือว่ามีขนาดค่อนข้างใหญ่ และทิศทางการเคลื่อนตัวไปหาบ่อ น่าจะเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น

1. ความแตกระหว่างแรงดันดิน ส่งผลให้ดินเกิดการเคลื่อนตัว

2. น้ำหนักกดทับของพื้นที่ที่ถมดินและมีการก่อสร้างอาคาร

3. ดินถมเคลื่อนตัวได้ง่ายและอาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นหากมีความชื้นหรือฝนตกก่อนหน้า

4. กำลังรับน้ำหนักหรือกำลังแรงเฉือนของดินลดลงเมื่อดินอุ้มน้ำหรือมีความชื้น

ในสถานการณ์ปัจจุบันการเคลื่อนตัวยังอาจเกิดขึ้นได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีฝนตกหรือมีความชื้นก็อาจเคลื่อนตัวได้อีก จนกว่าจะเข้าสู่จุดสมดุล ดังนั้นประชาชนจึงควรรอฟังการตรวจสอบความปลอดภัยจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องก่อนกลับเข้าพื้นที่ 

เนื่องจากการขุดดินขนาดใหญ่อาจทำให้เกิดดินสไลด์และเป็นอันตรายได้ ดังนั้นจึงมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติการขุดดินและถมดิน พ.ศ. 2543 ซึ่งกำหนดว่าการขุดดินที่มีความลึกจากระดับพื้นดินเกิน 3 เมตรหรือมีพื้นที่ปากบ่อดินเกิน 10,000 ตารางเมตร ต้องมีแบบแปลน รายการประกอบแบบ และรายการคำนวณของวิศวกรผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมโยธาไม่ต่ำกว่าระดับสามัญวิศวกรตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร

นอกจากนี้หากขุดดินที่มีความลึกเกิน 20 เมตร ต้องป้องกันพังทลายของดินหรือสิ่งปลูกสร้าง โดยติดตั้งอุปกรณ์สำหรับวัดการเคลื่อนตัวของดินและต้องมีแบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน และรายการคำนวณของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมโยธา ระดับวุฒิวิศวกร เป็นผู้ลงนามด้วย นอกจากนี้ตามกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิศวกรรมควบคุม ปี 2550 ยังกำหนดให้การการก่อสร้างกำแพงกันดินหรือกันน้ำที่มีความสูงตั้งแต่ 1.5 เมตร เป็นวิศวกรรมควบคุมอีกด้วย

สำหรับบ่อดินที่ได้ขุดไว้นานแล้ว เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินของบ่อจะต้องดำเนินการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและเสถียรภาพของบ่ออยู่ตลอด โดยมีวิศวกรที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร ดำเนินการตรวจวัดติดตามการเคลื่อนตัวของดิน โดยใช้อุปกรณ์วัดต่าง ๆ หรือด้วยวิธีการทางวิศวกรรมที่เหมาะสม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีฝนตกอาจเกิดการสไลด์ตัวได้ง่าย หากพบว่าบ่อมีโอกาสจะพังทลาย จะต้องเสริมความแข็งแรงด้วยวิธีการตามหลักวิศวกรรม รวมถึงต้องระมัดระวังเรื่องการสูบน้ำออกจากบ่ออย่างทันทีทันใด ซึ่งอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เร่งให้ผนังบ่อพังทลายได้ง่ายขึ้นเนื่องจากการสูญเสียแรงดันนั่นเอง