กรมอนามัย แนะนำวิธีป้องกัน ลดความเสี่ยง แก่ผู้ให้บริการรับ-ส่งผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ต้นทางจนถึงภูมิลำเนาปลายทาง


​นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก กระทบต่อการให้บริการของทีมแพทย์พยาบาล และสถานที่รองรับผู้ติดเชื้อ ที่มีไม่เพียงพอ จึงต้องมีนโยบายให้ผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย หรือประเมินแล้วเป็นผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว สามารถกลับไปแยกกักตัวที่บ้าน หรือบางรายกลับไปแยกกักตัวในภูมิลำเนาของตัวเองได้ เพื่อช่วยให้สถานพยาบาล หรือสถานที่รองรับผู้ป่วยมีเพียงพอที่จะรักษาผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงได้

ส่วนการเดินทางกลับภูมิลำเนาของผู้ติดเชื้อนั้น จำเป็นต้องมีการดำเนินงานอย่างรัดกุมและป้องกันอย่างเข้มข้น เพื่อลดการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ซึ่งล่าสุดกรมอนามัยออกประกาศเรื่อง คำแนะนำป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 สำหรับผู้ให้บริการรับ-ส่งผู้ติดโควิด เพื่อการปฏิบัติที่ปลอดภัย ลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ดังนี้

1) ผู้ให้บริการรับ-ส่งผู้ติดเชื้อ โดยไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทน ต้องได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 ตามที่คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อกำหนด ต้องไม่มีอาการ ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบากอย่างใดอย่างหนึ่ง และขณะปฏิบัติงานต้องสวมชุด Semi-PPE ได้แก่ ชุดกันเปื้อน ชุดกันฝน หน้ากากอนามัย หมวก ถุงมือ และรองเท้าบูท โดยให้เปลี่ยนถุงมือทุกครั้งหลังปฏิบัติงานรับและส่งผู้ติดเชื้อแต่ละครั้ง สำหรับชุดกันเปื้อนให้เปลี่ยนใหม่ทุกวัน

2) การจัดการภายในยานพาหนะ ให้มีฉากกั้นระหว่างพื้นที่ผู้ให้บริการ และผู้ติดเชื้อ มีการระบายอากาศภายในห้องอย่างเพียงพอ และจัดเตรียมเครื่องมือ เครื่องใช้ และอุปกรณ์สำหรับปฏิบัติงาน อาทิ แอลกอฮอล์ 70 % หรือเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ หน้ากากอนามัย ถุงบรรจุมูลฝอยติดเชื้อภายในยานพาหนะให้ใช้ถุงแดงที่ระบุหรือมีป้ายระบุ “มูลฝอยติดเชื้อผู้ติดเชื้อโควิด-19” และจัดเตรียมถุงบรรจุมูลฝอยติดเชื้อในลักษณะเดียวกัน กรณีผู้ติดเชื้ออาเจียน รวมทั้งมีถังรองรับมูลฝอยติดเชื้อแบบมีฝาปิด เป็นต้น

3) การเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อ ขอให้ปฏิบัติดังนี้คือ ผู้ให้บริการรับและส่งผู้ติดเชื้อต้องระมัดระวังในการสัมผัสใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อที่มีอาการไอ จาม ควรให้ผู้ติดเชื้อสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก โดยไม่จำเป็น และล้างมือบ่อย ๆ ด้วยแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนขึ้นยานพาหนะและระหว่างอยู่ในยานพาหนะ ให้ใช้การสื่อสารทางโทรศัพท์หรืออุปกรณ์สื่อสารเท่านั้น ไม่ควรให้ผู้ติดเชื้อลงจากยานพาหนะ ยกเว้นมีเหตุจำเป็น เช่น การกินอาหาร เข้าห้องน้ำ ให้จอดบริเวณที่ทางราชการกำหนด เช่น

ศูนย์พักรถที่ทางกองบังคับการตำรวจทางหลวงกำหนด และหากผู้ติดเชื้อเกิดอาการผิดปกติหรือมีเหตุฉุกเฉินขณะเดินทาง ให้ติดต่อสายด่วน 1669 หรือ 1330 เพื่อส่งต่อผู้ติดเชื้อไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียง นอกจากนี้ ในระหว่างการเดินทางหากร่างกายสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ ให้ใช้กระดาษชำระเช็ดออกทันที แล้วเช็ดบริเวณที่ปนเปื้อนด้วยแอลกอฮอล์ 70 % และล้างมือด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ทุกครั้ง

 

“สำหรับการทำความสะอาดพื้นผิวภายในยานพาหนะ ให้เก็บกวาดสิ่งสกปรกออกก่อน และทำความสะอาดด้วยน้ำยาทำความสะอาด หรือใช้น้ำผสมสบู่หรือผงซักฟอกเช็ดถูพื้นผิว ส่วนการฆ่าเชื้อพื้นผิวภายในยานพาหนะ ให้เช็ดเบาะที่นั่ง ที่จับ พื้นรถ ผนัง เพดานภายในทั้งหมดในบริเวณห้องโดยสารผู้ติดเชื้อ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค โดยเปิดหน้าต่าง ประตูระบายอากาศหลังจากทำความสะอาดและฆ่าเชื้อทุกครั้ง ทั้งนี้ เมื่อเสร็จภารกิจแต่ละวันต้องถอดชุดป้องกันทิ้งในรูปแบบมูลฝอยติดเชื้อ อาบน้ำด้วยสบู่ สระผม เปลี่ยนเสื้อผ้าที่สะอาดก่อนกลับบ้าน และเฝ้าระวังอาการตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กรณีกรุงเทพมหานครแจ้งศูนย์บริการสุขภาพ หรือสำนักงานเขตกรุงเทพมหานครทันที” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว