เปิดข้อมูลสำคัญจากที่ประชุม กมธ.วิสามัญฯ พบ 41 ปี หาดสมบูรณ์ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ฯ ถูกกัดเซาะ 1.95 เมตร กรมโยธาฯ ชี้แจงจำเป็นต้องสร้างเขื่อนป้องกัน ยันผ่านความเห็นชอบ ด้านผู้ร้องโต้มีเพียงปากคลองวังที่รับผลกระทบ ปัจจุบันมีพืชคลุมหาดชี้วัดความสมบูรณ์

 

ทีมข่าวออนไลน์ช่อง 8 นำเสนอประเด็นโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลของกรมโยธาธิการและผังเมือง ใน อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี มาอย่างต่อเนื่อง โดยตรวจสอบพบเบื้องต้น 3 โครงการ เริ่มจากโครงการฯ งบประมาณ 71 ล้านบาท ระยะ 1.291 เมตร ในพื้นที่หมู่ที่ 6 หาดดอนทะเล (ดอนเล) ต.คันธุลี ที่กำลังถูกคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่เวลานี้ และโครงการฯ ระยะ 1,000 เมตร ในพื้นที่หาดสำเร็จ ต.ท่าชนะ

 

อ่านประกอบ

-ไม่เฉพาะดอนเล! ‘หาดสำเร็จ’ สุราษฎร์ฯ ถูกร้องด้วย สร้างเขื่อนกันคลื่นกระทบสิ่งแวดล้อม

-ค้านกรมโยธาฯ สร้างเขื่อนกันคลื่นหาดดอนทะเล สุราษฎร์ฯ -ส.ส.ปชป.ชง 'ชวน' จี้มหาดไทยยับยั้ง

-ใช้ Google Earth เปิดภาพ ‘หาดดอนเล’ สุราษฎร์ฯ หลัง ปชช.ค้านกำแพงกันคลื่น

 

วันนี้ขอนำเสนออีกหนึ่งโครงการ นั่นคือ การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดสมบูรณ์ ต.วัง อ.ท่าชนะ งบประมาณ 3 ปี รวม 52.9300 ล้านบาท (ราว 53 ล้านบาท) ซึ่งโครงการนี้ถูกหยิบยกเข้าไปพูดคุยในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาคลื่นทะเลกักเซาะชายฝั่งและการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่  15 ก.พ. 2564 

โดยผู้เสนอเรื่องตั้งข้อสังเกตว่า สภาพปัจจุบันของชายหาดสมบูรณ์ไม่พบร่องรอยการกัดเซาะชายฝั่งทั้งข้อมูล จากภาพถ่ายดาวเทียมและการลงพื้นที่สำรวจ และมีการสะสมตัวของตะกอนทรายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บ้านเรือนและถนนอยู่ห่างจากชายหาดมาก จึงไม่มีเหตุผลและความจำเป็นในการใช้งบประมาณแผ่นดิน จำนวนมากในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ที่ไม่มีการกัดเซาะชายฝั่ง

อีกทั้งมติคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ.2562 ระบุว่า การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในบริเวณชายหาดอำเภอท่าชนะควรใช้มาตรการถ่ายเททรายแทนการใช้มาตรการโครงสร้างแข็งทางวิศวกรรม ดังนั้น ไม่มีความจำเป็นในการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในหาดสมบูรณ์

ที่สำคัญ โครงการดังกล่าวไม่มีการผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ข้อเรียกร้อง จึงจี้ให้ชะลอโครงการฯ และขอให้ตั้งคณะกรรมการหารือ เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในกรณีของหาดสมบูรณ์

ผู้แทนจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมเกี่ยวกับโครงการ ว่าองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) วัง ได้มีหนังสือที่ สฎ 77001/485 ลงวันที่ 17 ธ.ค. 2558 ไปยังสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อขอความอนุเคราะห์สำรวจและก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล

กรมโยธาธิการและผังเมืองจึงได้ดำเนินการวิเคราะห์การกัดเซาะชายฝั่งบริเวณพื้นที่โครงการและใกล้เคียงระหว่างปี 2518-2559 (41 ปี) พบว่า เกิดการกัดเซาะรุนแรงสูงสุด 1.95 เมตร ต่อปี ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้สร้างความเดือดร้อนและส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากพื้นที่ด้านหลังเป็นบ้านเรือน พื้นที่ทำการเกษตร และเส้นทางคมนาคมที่ประชาชนใช้ในการสัญจร โดย อบต.วังได้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในเบื้องต้นด้วยการวางแนวหินทิ้งสำหรับป้องกันตลิ่งริมทะเลหาดสมบูรณ์ เพื่อป้องกันชายฝั่งและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

แล้วจากการศึกษา สภาพชายหาด พบว่า โครงสร้างเขื่อนหินใหญ่เรียงเป็นแนวทางและรูปแบบการป้องกันและแก้ไขปัญหา การกัดเซาะที่ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมและได้รับการยอมรับของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงานหรือโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะ ชายฝั่งที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจัดทำขึ้นในปี 2563 ซึ่งกำหนดให้บริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลหมู่ 3 ต.วัง สามารถใช้แนวทางการป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้ โดยรูปแบบของโครงการมีระยะทาง 920 เมตร โครงสร้างหลักเป็นเขื่อนหินเรียงประชิดแนวเขื่อนหินทิ้งเดิม มีทางลาดและบันไดขึ้น-ลงชายหาด แนวเขื่อนวางยาวต่อเนื่องไปตามแนวชายฝั่ง ไม่ล้ำเข้าไปในที่ดิน ของประชาชน

ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนระหว่างการออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม จำนวน 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 วันพุธที่ 24 พ.ค. 2560 จำนวนผู้เข้าประชุม 190 คน เห็นด้วยร้อยละ 98.50 และครั้งที่ ๒ วันศุกร์ที่ 15 ก.ย. 2560 จำนวนผู้เข้าประชุม 94 คน เห็นด้วยร้อยละ 93.20

โดยภายหลังได้รับงบประมาณก่อนดำเนินการก่อสร้าง ได้ดำเนินการขอใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำจากกรมเจ้าท่า ซึ่งได้รับใบอนุญาตเลขที่ 1/63 ลงวันที่ 30 ธ.ค. 2563 ปัจจุบันความคืบหน้าในงานก่อสร้างช้ากว่าแผนร้อยละ 21.66 เนื่องจาก ได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่ให้ยุติการก่อสร้าง ทำให้การดำเนินงานในช่วงแรกล่าช้า หลังจากนั้นจึงได้มีการจัดประชุมเพื่อชี้แจงรายละเอียดโครงการ แผนงานการก่อสร้าง และรับฟัง ความคิดเห็นของประชาชนในระยะก่อสร้างโครงการ (ภายหลังผู้คัดค้าน 1 ท่าน ขอถอนเรื่องร้องเรียน เพื่อลดความขัดแย้งในชุมชน พบว่า ผู้เข้าร่วมประชุมที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมดมีความต้องการ เขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล พื้นที่ชายฝั่งทะเล หมู่ 3 ดังนั้น จากความเดือดร้อนและการร้องขอความช่วยเหลือของประชาชนผ่านหนังสือ ของหน่วยงานท้องถิ่นต่าง ๆ ที่มีความต้องการให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะ กรมโยธาธิการและผังเมืองที่มีหน้าที่ในการป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน จึงต้องดำเนินการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล สำหรับป้องกันทรัพย์สินของราชการ และของประชาชนมิให้คลื่นกัดเซาะ และเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนต่อไป

ทั้งนี้ ข้อมูลจากผู้เสนอเรื่องที่สำคัญ คือ บ้านหาดสมบูรณ์มีลักษณะเป็นพื้นที่ปลายแหลมขนาบด้วยน้ำทั้งสองด้าน ทิศตะวันออก ติดทะเลอ่าวไทย ทิศตะวันตกติดคลองวัง (คลองท่าชนะ) บ้านเรือนของประชาชนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ริมคลอง และถนน โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านขนาดเล็กและใช้คลองเป็นที่จอดเรือประมง ซึ่ง อ.ท่าชนะมีชายหาดลักษณะแนวตรงติดต่อกันจนถึงแหลมซุย อ.ไชยา พื้นที่กัดเซาะ มีเพียงบริเวณปากคลองวังที่มีการกัดเซาะและทำให้บ้านเรือนเสียหาย อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้ว กว่า 10 ปี และในปัจจุบันได้มีพืชปกคลุมชายหาดอันเป็นตัวชี้วัดความสมดุลของชายฝั่ง จึงไม่มีความจำเป็นในการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลในพื้นที่ดังกล่าว

อ่านประกอบ :เปิดแผนกรมโยธาฯ ใช้งบฯ 3 ปี 71 ล. สร้างเขื่อนกันคลื่น ‘หาดดอนเล’ สุราษฎร์ฯ

คุ้มค่า? ‘พิธา’ อัดกรมโยธาฯ จ่ายเงินสร้างเขื่อนกันคลื่น กม.ละ 100 ล. เพื่อปกป้องถนนไม่กี่ล้าน