ศาลให้ประกัน 12 แกนนำชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี วางเงื่อนไขห้ามหมิ่นสถาบันฯ

 

 

ศาลอาญากรุงเทพใต้อนุญาตให้ประกันจำเลยทั้ง 12 คน ได้แก่ 1. น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล (มายด์ มหานคร) 2. นายกรกช แสงเย็นพันธ์ (ปอ DRG) 3. นายชนินทร์ วงษ์ศรี หรือบอล 4. น.ส.เบนจา อะปัญ 5. นายวัชรากร ไชยแก้ว  6. นายอรรถพล บัวพัฒน์ (ครูใหญ่) 7. นายอัครพล ตีบไธสง 8. นายกฤษพล ศิริกิตติกุล 9. น.ส.สุธินี จ่างพิพัฒน์นวกิจ 10. น.ส.รวิสรา เอกสกุล 11. น.ส.ณัชชิมา อารยะตระกูลลิขิต และ 12. นายชลธิศ โชติสวัสดิ์ ซึ่งก่อนหน้านี้อัยการได้สั่งฟ้องในความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ มาตรา 116 กรณีชุมนุมอ่านแถลงการณ์หน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 โดยการประกันครั้งนี้ใช้ตำแหน่งคณาจารย์ และ ส.ส.ทั้งหมด ซึ่งศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำความผิดเกี่ยวกับสถาบันฯ อีก และต้องมาศาลทุกนัด ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรก่อนได้รับอนุญาต

นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ครูใหญ่ กล่าวภายหลังที่ได้รับการปล่อยตัว ว่า ตัวเองได้แถลงต่อศาลและเขียนคำร้องต่อศาลว่าการกำหนดเงื่อนไขต้องชัดเจนไม่คลุมเครือ หรือจำกัดสิทธิ์จนเกินไปที่จะร้องขอแก้เงื่อนไขในอนาคต ซึ่งคือห้ามกระทำความผิดเกี่ยวกับสถาบันฯ อีก ซึ่งการใช้คำว่า 'ห้ามทำผิดอีก' หมายความว่า ศาลได้ตัดสินไปแล้ว ซึ่งที่จริงยังไม่มีการตัดสินหรือไต่สวน ดังนั้นอาจจะต้องแก้ไขในประเด็นนี้ และคำว่า 'สถาบัน' เป็นคำที่ไม่ชัดเจน และคลุมเครือ การตีความคำว่า 'สถาบัน' จะมีความครอบคลุมถึงองค์กรใดบ้าง ศาลต้องระบุชัดเจน ไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้ผู้เห็นต่างทางการเมือง ส่งเรื่องยื่นถอนประกันได้

ด้านนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า สำหรับเงื่อนไขที่ศาลกำหนด ห้ามกระทำความผิดเกี่ยวกับสถาบันอีก ซึ่งคำว่า 'อีก' มีความหมายว่าได้กระทำผิดไปแล้ว ซึ่งดูเสมือนว่าคดีนี้มีการตัดสินไปแล้ว โดยจำเลยมีความไม่สบายใจ จึงมอบหมายให้ทนายปรึกษาไปยังศาล ว่าพอจะแก้ไขได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็ต้องส่งให้ศาลสูงชี้ว่าจะสมควรมีเงื่อนไขเช่นนี้หรือไม่ เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมต้องการจะให้ปฏิรูปสถาบัน ไม่มีความต้องการอื่น หลังจากนี้ ศาลนัดพิจารณาคดีอีกทีในวันที่ 11 ต.ค.เวลา 9.00 น.