"ศักดิ์สยาม" ประชุมเตรียมการส่งผู้ป่วยโควิด-19 กลับภูมิลำเนา ในพื้นที่ 6 จังหวัด อีสานตอนล่าง

 

เมื่อเวลา 10.30 น. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมออนไลน์ เตรียมการส่งผู้ป่วยโควิด-19 กลับภูมิลำเนา ในพื้นที่ 6 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (บุรีรัมย์ ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ) โดยมีนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม และรองผู้ว่าราชการจังหวัด 6 จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (บุรีรัมย์ ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ) เข้าร่วม

การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการมอบหมายให้รัฐมนตรีแต่ละท่าน รับผิดชอบการจัดการนำผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีความประสงค์จะกลับไปพักรักษาตัวในจังหวัดภูมิลำเนา ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีแต่ละท่านช่วยในการประสานใช้ทรัพยากรในการลำเลียง จัดส่ง และประสานจังหวัดภูมิลำเนาปลายทาง สำหรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รับผิดชอบจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 6 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ อุบลราชธานี และศรีสะเกษ

ในการประชุมดังกล่าว ที่ประชุมได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน โดยเป็นลักษณะของการช่วยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเป็นการทำหน้าที่เป็นแกนหลักประสานระหว่างผู้ป่วยกับหน่วยงานของรัฐ ในการจัดส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา ผ่านเบอร์โทรศัพท์ 1330 รวมทั้งมาตรการในการนำส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนาของกระทรวงสาธารณสุข ความพร้อมของ 6 จังหวัดในการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 กลับภูมิลำเนา เช่น การจัดตั้ง Community Isolation (CI) โครงการที่จังหวัดดำเนินการ อาทิ โครงการอุ้มลูกหลานเซราะกราวกลับบ้านของ จ.บุรีรัมย์ โครงการคนอุบลไม่ทิ้งกันของ จ. อุบลราชธานี โดยมีปริมาณจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยของทั้ง 6 จังหวัด ขณะนี้มีจำนวน 5,876 เตียง และสามารถรองรับผู้ป่วยที่มีภูมิลำเนาพร้อมเดินทางแต่ละจังหวัด ณ วันที่ 21 ก.ค.2564 กลับไปรักษาที่จังหวัดบ้านเกิด รวม 6 จังหวัด 4,464 เตียง

ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีข้อสั่งการให้หน่วยงานพิจารณาดำเนินการให้หน่วยงานด้านคมนาคมที่ดูแลด้านการขนส่งคน ดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด อาทิ การเว้นระยะห่างภายในรถ การทำความสะอาด รวมทั้งการจัดเตรียมอาหาร และเครื่องดื่มให้กับผู้ป่วยระหว่างเดินทาง, ขอให้จังหวัดดำเนินการวางแผนการรองรับผู้ป่วยกลับบ้าน โดยให้มีการคาดการณ์ถึงสถานการณ์ในอนาคต เพื่อดำเนินการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าด้วย และกรณีที่จังหวัด หรือหน่วยงานใดฯ ต้องการการสนับสนุนหรือขอความอนุเคราะห์จากกระทรวงคมนาคม สามารถติดต่อสื่อสารผ่านกลุ่มไลน์ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันต่อสถานการณ์

ทั้งนี้ หากมีผู้ประสงค์จะขอรับบริการ “จัดส่งผู้ป่วย Covid-19 กลับไปรักษาที่บ้านเกิด” สามารถโทรประสานงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยกระทรวงคมนาคมพร้อมร่วมในการดำเนินการจัดส่งผู้ป่วย ด้วยทรัพยากรของกระทรวงคมนาคมทุกด้าน พร้อมดูแลตั้งแต่การเดินทาง อาหาร และประสานดำเนินงานเพื่อให้ผู้ป่วย ถึงยังสถานพยาบาลในจังหวัดภูมิลำเนาด้วยความปลอดภัย และถึงมือแพทย์โดยเร็วที่สุดตามมาตรฐานการบริการด้านสาธารณสุขต่อไป