ศบค. กางผลคาดการณ์โควิดในประเทศ ชี้หากไม่มีมาตรการเข้มงวด ผู้ติดเชื้ออาจสูงถึง 3.1 หมื่นรายต่อวัน 

 

วันที่ 19 ก.ค.2564 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลง สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2564 มีผู้ป่วยรายใหม่ 11,784 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 386,307 ราย เสียชีวิตสะสม 3,328 ราย ขณะที่รักษาตัวอยู่ จำนวน 122,097 ราย ในจำนวนนี้อาการหนัก 3,595 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 856 ราย ด้านผู้รับการฉีดวัคซีน ทั้งหมด 14,298,596 โดส

 

 

นายแพทย์ทวีศิลป์ ระบุว่า ตัวเลข 122,097 ราย และผู้ป่วยอาการหนัก 3,595 ราย แสดงถึงวิกฤตการติดเชื้อ ทั้งที่การฉีดวัคซีนอยู่ที่ 14 ล้านโดสแล้ว

นอกจากนี้ยังกล่าวถึง การประชุมร่วมกับวงสื่อ เพื่อคาดการณ์ความเป็นไปได้ของการติดเชื้อในประเทศไทย 2 รูปแบบ คือ

1. จากข้อมูลของ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้ใช้ข้อมูลโควิด-19 ตั้งแต่วันแรก ถึงวันที่ 17 ก.ค. 2564 คาดการณ์ว่า สถานการณ์ที่แย่ที่สุด หากไม่มีการทำอะไร หรือไม่มีมาตรการ จะเจอเคสผู้ป่วยติดเชื้อรายวัน 31,997 ราย ต่อวัน แต่หากมีการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ จำนวนผู้ติดเชื้อจะอยู่ที่ 9,018-12,605 รายต่อวัน

2. จากการศึกษาการคาดการณ์ของธนาคารกรุงศรี ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกได้นำไปอ้างอิง ใช้รูปแบบของการฉีดวัคซีน โดยหากมีการฉีดวัคซีนได้ดี และวัคซีนมาได้ตามกำหนดไตรมาสที่ 4 จะพบว่าในช่วงประมาณเดือน ส.ค. และ ก.ย. ค่าจะไต่ขึ้นไปราวหมื่นกว่า สูงกว่า 15,000 รายต่อวัน แต่ถ้ามีการฉีดวัคซีนน้อย จะพบว่า มีผู้ติดเชื้อรายวัน ราว 22,000 ในเดือน ส.ค. และ ก.ย.

 

 

นพ.ทวีศิลป์ ยังกล่าวถึง ข้อกำหนดตามมาตรา 9 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 28) ออกเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2564 ที่กำหนดจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จาก 10 จังหวัดเพิ่มเป็น 13 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) จาก 24 จังหวัด เป็น 53 จังหวัด พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) จาก 25 จังหวัดเหลือ 10 จังหวัด และพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) จาก 18 จังหวัดลดเหลือ 1 จังหวัด ว่า

13 จังหวัดสีแดงเข้ม นอกจากมีมาตรการ คือ เคอร์ฟิว ห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่ 21.00-04.00 น. เวลาอื่นก็ให้งดออกนอกเคหสถานโดยไม่จำเป็น ยกเว้นเป็นการเดินทางเพื่อจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต คือ อาหาร ยา เวชภัณฑ์ พบแพทย์เพื่อรักษาพยาบาล หรือรับวัคซีน และเพื่อการประกอบอาชีพซึ่งไม่สามารถที่บ้านได้