สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ แจ้งปรับเวลาให้บริการ ปิดสาขาในห้าง เริ่ม 20 ก.ค.นี้

 

กรณีรัฐบาลประกาศยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเพิ่มจังหวัดพื้นที่ควบคุมสถานการณ์สีแดงเข้มเป็น 13 แห่ง พร้อมประกาศเคอร์ฟิว ตั้งแต่เวลา 21.00-04.00 น.โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.เป็นต้นไปอย่างน้อย 14 วัน

ล่าสุด สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ (สงร.) และสถาบันการเงินสมาชิกทุกแห่ง ประกอบด้วย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ประกาศแนวทางการให้บริการลูกค้าเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการของภาครัฐ ดังนี้  

  1. ธนาคารของรัฐจะปิดให้บริการสาขาในห้างสรรพสินค้า ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ทั้ง 13 จังหวัด เป็นการชั่วคราว ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครปฐม นนทบุรี นราธิวาส ปทุมธานี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา ยะลา สงขลา สมุทรปราการ และ สมุทรสาคร ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.เป็นต้นไป และจะพิจารณาปิดให้บริการสาขาบางแห่งเพิ่มเติมตามความจำเป็น โดยลูกค้าสามารถตรวจสอบสาขาใกล้เคียงที่เปิดให้บริการได้ตามประกาศที่เว็บไซต์ของแต่ละธนาคาร
  2. กำหนดเวลาเปิดทำการสาขา ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. ดังนี้ สาขาในห้าง/สาขาที่เปิดให้บริการไม่เกิน 17.00 น. ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนอกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จะยังคงเปิดให้บริการเวลาไม่เกิน 17.00 น., สาขาทั่วไป ที่ไม่ใช่สาขาธนาคารในห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ เปิดให้บริการไม่เกินเวลา 15.30 น., สาขาใน 3 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย ยะลา นราธิวาส และปัตตานี เปิดให้บริการเวลาไม่เกินเวลา 15.00 น.
  3. จำกัดช่องให้บริการและจำนวนลูกค้าในสาขา เพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม และลดความแออัด
  4. กรณีสาขามีพนักงาน หรือลูกค้าติดเชื้อ ให้ปฏิบัติดังนี้ ให้แต่ละธนาคารปิดบริการสาขาที่มีผู้ติดเชื้อเป็นการชั่วคราว เพื่อทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อ และกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นพนักงานที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ให้ตรวจหาเชื้อ/และกักตัวเองในที่พักทันทีตามระยะเวลาที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด จัดให้มีพนักงานปฏิบัติงานทดแทน และต้องเป็นพนักงานที่ไม่เกี่ยวข้องหรือสัมผัสเชื้อ

สำหรับช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ตู้ ATM ธนาคารทุกแห่งได้เตรียมสำรองธนบัตรไว้อย่างเพียงพอ รวมถึง Application Mobile Banking ของแต่ละธนาคาร เพื่อลดการเดินทาง ลดความเสี่ยง และการสัมผัสธนบัตร เพื่อให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อไป