"ส่วนกรณีที่ปรากฏในโลกโซเชียล มีผู้ช่วยพยาบาลเป็นลมนั้น เนื่องจากช่วงหลังๆมีผู้ป่วยเข้ามาตลอด ทั้งผู้ป่วยที่ยืนยันว่าติดโควิดและที่มีอาการใกล้เคียง ทำให้เจ้าหน้าที่แทบไม่ได้พักและมีอาการเหนื่อยล้า"

จากกรณีโซเชียลแห่ชื่นชมผู้ช่วยพยาบาลสาว รพ.ลำปลายมาศ  จ.บุรีรัมย์  เข้าเวรดูแลผู้ป่วยโควิดจนเป็นลม  พร้อมระบุข้อความว่า “ตึกมีคนไข้covid 14 PUI 2 พยาบาลขึ้นเวร 3 คน PN 2  ภาระงานรับใหม่ทุกวัน ทั้งตึกมีเจ้าหน้าที่ไม่ถึง 10 คน ขึ้นเวร 4-5 เวรต่อกัน วันนี้มีเจ้าหน้าที่เป็นลมล้มหลังจากออกจากห้องคนไข้ที่ต้องเข้าไปทำหัตถการ ที่ใส่ชุด PPE เวลานาน เกือบชั่วโมง อัตรากำลังไม่เคยเพิ่ม  อยู่มาตั้งแต่ระลอกแรกจนระลอก 3 ก็ยังไม่เคยมีคนเปลี่ยนโคตรไม่ยุติธรรม” จนชาวโซเชียลเข้าไปแสดงความคิดเห็น โดยส่วนใหญ่ก็ให้กำลังใจ  ขณะที่บางคนก็ฝากถึงต้นสังกัดให้ดูแลจัดสรรบุคลากรให้เพียงพอ 

     

จากการสอบถามนายบุญโฮม   แก้วชนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำปลายมาศ กล่าวว่า เรามีอัตรากำลังเป็นชุดเฉพาะกิจในการที่จะดูแลผู้ป่วยโควิดตั้งแต่เริ่มแรกเป็นพยาบาล 10 คน ผู้ช่วยพยาบาล 3 คนโดยสลับหมุนเวียนกันขึ้นปฏิบัติงานกะ ละ 3 – 4 คนตามจำนวนผู้ป่วยในแต่ละวันแต่หากช่วงไหนผู้ป่วยโควิดเยอะก็จะเรียกเสริมเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ซึ่งที่ผ่านมาก็ดำเนินการแบบนี้มาตลอด ส่วนกรณีที่ปรากฏในโลกโซเชียลที่มีผู้ช่วยพยาบาลเป็นลมนั้นเนื่องจากช่วงหลังๆมีผู้ป่วยเข้ามาตลอด ทั้งผู้ป่วยที่ยืนยันและที่มีอาการใกล้เคียง ทำให้เจ้าหน้าที่แทบไม่ได้พักและมีอาการเหนื่อยล้า  

 

โดยวันที่เกิดเหตุผู้ช่วยพยาบาลคนดังกล่าวก็ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโควิดเคสคุณยาย ลูกสาว  และหลาน ติดเชื้อโควิดแต่วันนั้นยายอาการไม่ค่อยดีจึงจะแยกหลานออกไปไว้กับแม่แต่ด้วยความที่เด็กเห็น จนท.ใส่ชุดพีพีอี. ก็เลยเกิดความกลัวจนท.ก็ต้องช่วยกันเกลี้ยกล่อมเพื่อแยกเด็กมาอยู่กับแม่จะได้ดูแลยายได้อย่างเต็มที่ทำให้ จนท.ซึ่งรวมถึงผู้ช่วยพยาบาลคนดังกล่าวต้องสวมใส่ชุดพีพีอี อยู่ตรงนั้นเป็นเวลานานถึง 45 นาที และผู้ช่วยพยาบาลที่เหนื่อยล้าอยู่แล้วจึงเป็นลม ซึ่งจากกรณีที่เกิดขึ้นก็แสดงให้เห็นว่าหมอ  พยาบาล ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่แม้จะเหนื่อยล้า พักผ่อนไม่เต็มที่ก็ตาม    

 

จึงอยากฝากประชาสัมพันธ์ถึงประชาชนว่าขอให้เห็นใจแพทย์  พยาบาลที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยในช่วงภาวะวิกฤต โควิด ซึ่งหมอพยาบาลก็เป็นลูกหลานของพี่น้องประชาชน หากเป็นไปได้ก็ขอความร่วมมือประชาชนให้อยู่บ้านอย่าไปในสถานที่เสี่ยง  สวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน รักษาระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ที่สำคัญก็ขอให้ปฏิบัติตัวตามประกาศหรือมาตรการของจังหวัดนั้นๆอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงก็ขอให้รายงานตัวและกักตัวตามมาตรการที่สำคัญไม่ควรปกปิดข้อมูลหรือไทม์ไลน์เพราะจะส่งผลให้เจ้าหน้าที่ทำงานลำบากมากขึ้น