รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ชี้ต้องทำให้โลกเห็นว่าไทยมีศักยภาพเข้าสู่ประชาคมโลกที่พัฒนาแล้ว ด้าน GISTDA จัดทำสมุดปกขาวและแผนที่นำทางแห่งชาติ เตือนสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิต สิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติ

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าว ในที่ประชุมวิชาการและการสัมมนานานาชาติการวิจัยขั้นแนวหน้าระบบโลกและอวกาศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2564 ถึงบทบาทของ อว. ในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อสร้างโอกาสให้เศรษฐกิจไทย ว่า อว.เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนางานวิจัยขั้นแนวหน้า ด้านระบบโลกและอวกาศ (Earth Space System: ESS)

รมว.อว.กล่าวต่ออีกว่า งาน ESS จึงเป็นการเชื่อมทั้ง 3 สิ่ง คือ ดิน อวกาศ คือ ฟ้า เข้าด้วยกัน และ GISTDA ต้องทำเรื่องนี้ให้ดีเพื่อเป็นเกียรติภูมิของประเทศ สิ่งที่ค้นพบทำวิจัยกันจะกลายเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ นอกจากนี้ ESS ยังเป็นส่วนหนึ่งของ BCG ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติที่หลายกระทรวงร่วมมือกันเพื่อให้เป็นหนึ่งในโมเดลการพัฒนาโลก ฉะนั้น จิสด้าและพันธมิตรทั้ง 7 มหาวิทยาลัย จะต้องมุ่งเน้นให้เกิดความตระหนักรู้ ตื่นตัวในกลุ่ม นักเรียน นิสิต นักศึกษา ตลอดจนสร้างโอกาส การเข้าถึง การรับรู้ การให้ทุนการศึกษาแก่กลุ่มเด็กที่ด้อยโอกาส เด็กชายขอบ เด็กชาวเขา เด็กพื้นที่ชายแดน เด็ก 3 จังหวัดภาคใต้ เพราะหลายต่อหลายครั้ง ช้างเผือกเกิดจากเด็กในกลุ่มนี้

ด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่าง GISTDA กับประชาคมวิจัยด้านระบบโลกและอวกาศของประเทศไทย ที่มาร่วมกันแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลก และจะเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยดำเนินการภายใต้ความร่วมมือของหลากหลายหน่วยงานรัฐมากกว่า 10 หน่วยงาน และสถาบันอุดมศึกษามากกว่า 15 มหาวิทยาลัย โดยมี GISTDA ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลักในการรวบรวมการจัดทำสมุดปกขาว และแผนที่นำทางแห่งชาติ ของ ESS ประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมี “แผนการดำเนินการวิจัยพัฒนาสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีนวัตกรรม” ที่จะทำให้เข้าใจถึงองค์ประกอบและความสัมพันธ์ที่มีต่อโลกมนุษย์ และประเทศไทย ทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ การเกิดพิบัติภัย และสภาพภูมิประเทศ รวมถึงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม